สหรัฐฯ อนุมัติ SpaceX เดินหน้าโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วโลก

อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2561
  • Share :

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารแห่งสหรัฐฯ (Federal Communication Commission: FCC) อนุมัติคำขอโครงการขยายเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตด้วยดาวเทียมแบบวงโคจรไม่ประจำที่ (Non-Geostationary Satellite Orbit: NGSO) ของ 4 บริษัท ประกอบด้วย 1. Space Exploration Holdings, LLC (SpaceX)  2. Kepler Communications, Inc. (Kepler)  3. Canada (Telesat) และ 4. LeoSat MA, Inc. (LeoSat) ซึ่งในเบื้องต้น ดาวเทียมทั้งหมดนี้จะมีคุณสมบัติในการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมพื้นที่ประเทศสหรัฐฯ ก่อนจะขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วโลกในอนาคต

บันทึกข้อตกลงฉบับนี้ ให้สิทธิ์ SpaceX ในการก่อสร้าง บริหารจัดการ และส่งดาวเทียมจำนวนมากกว่า 7,000 ตัวขึ้นสู่อวกาศ ภายใต้ความถี่ย่าน V-Band โดยคณะกรรมการได้ลงมติให้ SpaceX ในการให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียมนี้กับที่อยู่อาศัย, ผู้ใช้เชิงพาณิชย์, ภาครัฐ, และอื่น ๆ

ในช่วงแรกของโครงการ SpaceX จะส่งดาวเทียมจำนวนประมาณ 800 ตัว เพื่อเริ่มให้บริการในประเทศสหรัฐฯ  ก่อนส่งดาวเทียมเพิ่มเป็นจำนวน 4,425 ตัว คาดการณ์ว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี จึงจะแล้วเสร็จ เมื่อดาวเทียมถูกส่งขึ้นครบจำนวนที่วางแผนไว้แล้ว เครือข่าย SpaceX จะมีคุณสมบัติในการให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ความเร็ว 1 Gbps ให้กับทุกพื้นที่ทั่วโลก

สำหรับข้อเสนอของ Kepler นั้น จะทำให้ทั่วโลกสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี IoT ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งเดิมทีแล้วเป็นโครงการที่อีลอน มัสก์ ได้เริ่มกล่าวถึงตั้งแต่ปี 2015 และคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้ Google เข้าร่วมเป็นผู้ลงทุนรายแรก เป็นมูลค่าถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ปริมาณดาวเทียมที่จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศนี้ คิดเป็น 3 เท่าของดาวเทียมที่ทำงานได้ในปัจจุบัน อีกทั้งดาวเทียมที่ถูกออกแบบขึ้นนี้ยังมีอายุการใช้งานเพียง 7 - 8 ปี จึงทำให้เกิดความกังวลถึงความเสี่ยงในการพุ่งเข้าชนกับดาวเทียมอื่น ๆ รวมถึงปัญหาขยะอวกาศอีกด้วย