เชื่อ “สงครามการค้า” หนุน “จีน” แห่ย้ายฐานลงทุนไทยต่อเนื่อง

อัปเดตล่าสุด 6 ก.พ. 2563
  • Share :
  • 631 Reads   

จากสภาวะสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีนยืดเยื้อ หนุนนักลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโลจิสติกส์ ขยายฐานการลงทุนสู่นิคมอุตสาหกรรมของไทยต่อเนื่อง ด้านผลสำรวจชี้ชัดนักลงทุนจีนย้ายฐานลงทุนไทยมีมูลค่าอันดับ 4 ของอาเซียน

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวในงานสัมมนาใหญ่ประจำปี 2563 สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ประเมินปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนจะยังคงยืดเยื้อ แต่ยังมีผลดีคือทำให้นิคมอุตสาหกรรมมีการเติบโตจากการขายที่ดินเพิ่มขึ้น เนื่องจากการย้ายฐานผลิตมาออกประเทศของนักลงทุนจีน ขณะที่ไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ จึงคาดว่าในปี 2563 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง อาทิ โลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซ อิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มยูทินีตี้

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จะมีโอกาสขยายตัวอย่างมาก สะท้อนตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของกลุ่มนักลงทุนไต้หวัน จีน เกาหลีใต้ เป็นจำนวนมากจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และการขอให้เตรียมนิคมฯ เพื่อรองรับการลงทุน จึงมองว่ารูปแบบการจัดตั้งนิคมฯ ในอนาคตจะเน้นเป็นกลุ่มประเทศมากกว่ารูปแบบอุตสาหกรรมในปัจจุบัน โดยนักลงทุนจีนจะยังเป็นกลุ่มที่ขยายฐานลงทุนมาไทยต่อเนื่อง เห็นได้จากนิคมฯ WHA ที่มีจำนวนนักลงทุนจีนแซงหน้าญี่ปุ่นไปแล้วในปี 2561-2562 และปีนี้จะยังคงเติบโตได้ดี 

สำหรับผลสำรวจของ Business World เรื่องปริมาณการลงทุนจากต่างประเทศอันเนื่องมาจากผลกระทบสงครามการค้าระหว่างจีน – สหรัฐฯ พบว่าในปี 2561 มีเงินทุนเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ขยายฐานมาไทยเป็นอันดับ 4 รองจากเวียดนาม ไต้หวัน เม็กซิโก , กลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค มาไทยเป็นอันดับ 3 รองจากเวียดนาม ไต้หวัน ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ย้ายมาไทยเป็นอันดับ 2 รองจากเวียดนาม ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบเป็นจำนวนโรงงานที่จีนเข้ามาลงทุนในไทย พบว่าอยู่อันดับ 2 จำนวน 8 โรง รองจากเวียดนาม อันดับ 1 จำนวน 26 โรง ส่วนอันดับคือ 3 กัมพูชา 4 โรง , อันดับ 4 มาเลเซีย 3 โรง และอันดับ 5 อินโดนีเซีย 2 โรง

ทั้งนี้ นางสาวจรีพร แนะภาครัฐต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 และผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ใน EEC ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนและภาคเอกชน รวมทั้งเร่งขยายเขตการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าและสนับสนุนการส่งออกของไทย ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

 

อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  : www.eeco.or.th