เมื่อสหรัฐ จะกลายเป็นศูนย์กลางตลาดยานยนต์ขนาดใหญ่
ตลาดยานยนต์สหรัฐ กำลังประสบความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะหลังจากที่ฝ่ายบริหารภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความลังเลที่จะดำเนินนโยบายจำกัดปริมาณการใช้เชื้อเพลิง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ตาม ท่าทีเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ส่งผลดีต่อยอดขายยานยนต์ขนาดใหญ่เป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าจะส่วนทางกับแนวทางด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรป และจีนก็ตาม
ผู้ผลิตยานยนต์ขนาดใหญ่รายหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น แสดงความเห็นต่อแนวทางของรัฐบาลทรัมป์ว่า “เป็นเรื่องน่ายินดี” เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลนี้ เป็นสิ่งที่จะกระตุ้นยอดขายยานยนต์ในสหรัฐ โดยเฉพาะยานยนต์ขนาดใหญ่ให้เพิ่มสูงขึ้นได้
เมื่อปี 2018 Environmental Protection Agency (EPA) และ National Highway Traffic Safety Administration (NHTAS) ได้ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลง Corporate Average Fuel Economy (CAFE) ซึ่งว่าด้วยการควบคุมปริมาณการใช้เชื้อเพลิง ว่ายานยนต์จะต้องวิ่งได้ 20 กิโลเมตร ด้วยน้ำมัน 1 ลิตร ซึ่งมีผลบังคับใช้ถึงปี 2025 และเตรียมประกาศข้อตกลงใหม่หลังปี 2021 แทน
นอกจากนี้ รัฐบาลทรัมป์ ยังไม่ยอมรับนโยบาย Zero Emission Vehicle (ZEV) นโยบายว่าด้วยการควบคุมยอดขายยานยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษ ซึ่งเป็นนโยบายที่นำโดยรัฐแคลิฟอร์เนีย และมีการใช้งานจริงอยู่ในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง อุตสาหกรรมยานยนต์จึงเล็งเห็นว่า สหรัฐอเมริกา จะกลายเป็นตลาดที่เป็นศูนย์กลางการเติบโตของรถกระบะ รถบรรทุก และรถ SUV ในอนาคต ซึ่งเมื่อรวมกับต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งมีราคาแพง และทำกำไรได้น้อยแล้ว สหรัฐจึงเป็นตลาดที่ควรค่าแก่การนำเสนอรถโมเดลใหม่เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผู้ผลิตรถบรรทุกขนาดใหญ่รายหนึ่ง ได้แสดงความเห็นว่า “ปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้าทำกำไรให้กับบริษัทได้ไม่เท่าการผลิตรถขนาดใหญ่ และถึงทำออกมาก็ขายไม่ได้ โดยเฉพาะในตลาดที่รถยนต์ไฟฟ้ามีส่วนแบ่งน้อยอย่างในสหรัฐ”
Mr. Kosuke Nishino ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมที่ 1 จากสำนักวิเคราะห์ Mitsui & Co. Global Strategic Studies Institute (MGSSI) แสดงความเห็นว่า “สำหรับรัฐบาลสหรัฐนั้น การมุ่งนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม หากมีมาตรการที่รุนแรงเกินไปจนไม่อาจขายยานยนต์อื่นนอกจอกรถยนต์ไฟฟ้าได้แล้ว จะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐต้องประสบปัญหาใหญ่เป็นแน่แท้”
อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายฝ่ายที่คัดค้านแนวทางของรัฐบาลทรัมป์เป็นอย่างมาก ซึ่งหากคำนึงถึงการเลือกตั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 แล้ว ทำให้ตลาดสหรัฐ เป็นตลาดยานยนต์ที่ไม่มีความมั่นคง และอยู่ในสภาวะเอาแน่เอานอนไม่ได้ จากนโยบายที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง
ยุโรป และจีน ตลาดหลักรถยนต์ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหรัฐจะมีแนวทางสวนกระแสกับทั่วโลก แต่ใช่ว่าผู้ผลิตยานยนต์จะเปลี่ยนทิศทางโดยรวมของตนแต่อย่างใด
ยกตัวอย่างเช่นในยุโรป ผู้ผลิตยานยนต์ มีหน้าที่พัฒนายานยนต์ให้สามารถปล่อยมลพิษได้ต่ำกว่า 95 กรัมภายในปี 2021 ซึ่งในกรณีที่ไม่สำเร็จ ผู้พัฒนาจะต้องเสียค่าปรับ ส่งผลให้ค่ายรถเกิดการตื่นตัวในการพัฒนาเทคโนโลยี ลดความสำคัญของยานยนต์เชื้อเพลงดีเซล และมุ่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฮบริดแทนที่
ส่วนในจีนนั้น ด้วยนโยบาย New Energy Vehicles (NEV) ซึ่งบังคับให้ค่ายรถต้องมียอดผลิต และยอดขาย หรือยอดนำเข้ายานยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทน เป็น 10% ของยอดรวมทั้งหมด และมีกำหนดปรับเป็น 12% ในปี 2020 โดยมีบทลงโทษในกรณีทำไม่ได้ตามเป้าคือการบังคับให้ “ซื้อเครดิตจากค่ายอื่น” ซึ่งนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมจีน เพื่อยกให้เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศอีกด้วย
ซึ่ง Toyota เป็นอีกค่ายหนึ่งที่เดินหน้าตอบรับนโยบายของยุโรป และจีนเป็นอย่างดี ด้วยการประกาศไม่จำกัดสิทธิ์ในการใช้งานเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 24,000 รายการ
นอกจากนี้ ทาง Toyota ยังได้เดินหน้านโยบายอื่น ๆ เช่น การประสานความร่วมมือกับ Volkswagen, ประกาศเป็นร่วมมือกับผู้ผลิตวัสดุลิเทียม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ในจีนเป็นเวลา 10 ปี และอื่น ๆ เพื่อให้การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ามั่นคงยิ่งขึ้น
ส่วน Volkswagen นั้น เป็นที่แน่ชัดว่า หากต้องการเติบโตต่อไปในตลาดเดิมอย่างยุโรป และจีน ซึ่งมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดแล้ว ทางบริษัทก็คงจะเตรียมกลยุทธ์ในด้านรถยนต์ไฟฟ้าของตนเอาไว้แล้วเป็นแน่แท้