รถบิน, โดรนบูม ค่ายตะวันตกมุ่งพัฒนาต่อยอดเดินทาง และโลจิสติกส์

อัปเดตล่าสุด 17 มิ.ย. 2562
  • Share :
  • 540 Reads   

รถบินได้ และโดรนขนาดใหญ่ คือ 2 นวัตกรรมที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นกุญแจสำคัญของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และการขนส่งในอนาคต ส่งผลให้เกิดการเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีในหลายประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป และอเมริกา โดย Airbus ได้จัดแสดง “Vahana” อากาศยานขึ้นลงแนวดิ่งอัตโนมัติพลังงานไฟฟ้า ในงาน Paris Air Show เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่วน Amazon ก็มีกำหนดการนำโดรนรุ่นใหม่มาใช้ในการขนส่งพัสดุถึงมือผู้รับในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ในขณะที่ญี่ปุ่นประสบปัญหาความล่าช้าในการพัฒนา และคาดว่าจะได้เริ่มมีการใช้งานจริงหลังประเทศอื่น ๆ

ปัจจุบัน Uber มีกำหนดการทดสอบรถบินได้ที่ลอสแอนเจลิสภายในปี 2020 เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นบริการแท็กซี่ และคาดว่าจะพร้อมใช้งานเชิงพาณิชย์ในปี 2023 โดยได้รับความร่วมมือจาก Bell Helicopter และผู้พัฒนาอากาศยานสัญชาติอเมริกันค่ายอื่น ๆ ในการพัฒนา

ส่วนในยุโรปนั้น นอกจาก Airbus แล้ว ยังมี Volocopter บริษัทสัญชาติเยอรมัน ซึ่งได้ร่วมกับ Kittyhawk บริษัทสหรัฐ ในการพัฒนารถบินได้แบบไร้คนขับ รองรับผู้โดยสาร 2 คน นอกจากนี้ นังมีบริษัทร่วมทุนในจีน ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนารถบินได้ และโดรนขนาดใหญ่ของตัวเองอีกด้วย

ส่วนในญี่ปุ่นนั้น ไปรษณีย์ญี่ปุ่น และธุรกิจ e-commerce ได้ร่วมกันพัฒนาโดรนอัตโนมัติ สำหรับใช้ในการขนส่งพัสดุ และได้เริ่มทำการทดสอบบินแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่มีภูเขาเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีเกาะที่ห่างจากแผ่นดินเยอะ ทำให้ประสบปัญหาในการพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ในการพัฒนารถบินได้ และโดรน ยังมีปัญหาที่ผู้พัฒนาทุกรายประสบ คือ การบินผ่านย่านที่อยู่อาศัย โดยในการทดสอบนั้น สามารถทดสอบบินผ่านพื้นที่ที่ไม่มีผู้คนได้ แต่ในความเป็นจริง การเดินทางจำเป็นต้องผ่านตัวเมือง หรือพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่ด้วยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ซึ่งสำหรับสหรัฐ และยุโรปที่มีพื้นที่มากนั้น ไม่เป็นปัญหาใหญ่นัก แต่สำหรับประเทศที่มีพื้นที่น้อยแล้ว ทำให้แนวโน้มที่เทคโนโลยีทั้งคู่จะกลายเป็นที่แพร่หลาย หรือได้รับการรองรับจากรัฐบาลจึงเป็นเรื่องยากเป็นพิเศษ เนื่องจากหากเกิดอุบัติเหตุแล้ว ผลกระทบย่อมรุนแรงกว่ามาก ซึ่งนอกจากเสี่ยงต่อความเสียหายของสินค้าแล้ว ยังอันตรายต่อผู้คนในบริเวณนั้นอีกด้วย

อีกปัญหาหนึ่งคือโครงสร้างพื้นฐาน และต้นทุน ซึ่งหากการส่งพัสดุทางอากาศยังใช้ต้นทุนสูงกว่าการส่งพัสดุทั่วไปแล้ว ก็จะไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้วิธีนี้ และอาจทำให้ถูกจำกัดการใช้งานเพียงแค่ในกรณีจำเป็น เช่น การขนส่งอุปกรณ์การแพทย์เข้าสู่พื้นที่กันดาร