ญี่ปุ่นยืนยัน QR Code คือกุญแจสู่สังคมไร้เงินสด

อัปเดตล่าสุด 14 ส.ค. 2561
  • Share :

“Commission for Promotion of Cashless Settlement” องค์กรความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ภายใต้การดูแลของ Ministry of Economy, Trade and Industry (METI) และกระทรวงอื่น ๆ ได้ทำการเปิดตัวในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมจัดเสวนาถึงโครงการทั้งหมด 7 โครงการในปี 2018 นี้ ซึ่งโครงการที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ คือโครงการว่าด้วยการจ่ายเงินผ่าน QR Code ด้วยสมาร์ทโฟน และได้จัดประชุมผู้ก่อตั้งโครงการสร้างมาตรฐาน QR Code ในวันที่ 9 สิงหาคม พร้อมเผยกำหนดเริ่มดำเนินโครงการในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อเร่งรัดสร้างมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับความแพร่หลายการใช้งาน QR Code ที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้   


 

Mr. Yoshio Fukuda กรรมการผู้จัดการสมาคมกล่าวถึงสถานการณ์ด้านการใช้งาน QR Code ในปัจจุบันว่า “การแข่งขันที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ดี แต่หากยิ่งแข่งกันมาก ก็จะยิ่งทำให้เกิดช่องว่างในการจัดการข้อมูลมากขึ้น” ส่งผลให้โครงการสร้างมาตรฐานนี้ เน้นไปที่การหารือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับ “CPM” การแสดงผล QR Code บนอุปกรณ์ของผู้ซื้อ และ “MPM” การแสดงผล QR Code บนอุปกรณ์ของผู้ขาย

CPM

ปัจจุบัน องค์กรได้ตั้งเป้าหารือข้อกำหนดการใช้งาน “CPM” การแสดงผล QR Code บนอุปกรณ์ของผู้ซื้อให้แล้วเสร็จภายในปี 2018 ซึ่งรูปแบบ CPM นี้ มีคุณสมบัติในการใช้ QR Code ร่วมกับ Barcode 1 มิติ (1 Dimension Barcode) ซึ่งสามารถอ่านข้อมูลได้รวดเร็ว และสามารถใช้ Code 8 หลักแรกในการแสดงข้อมูลธุรกิจได้ ซึ่งเป้าหมายขององค์กรคือ การหารือว่าใน QR Code นี้ ควรมีข้อมูลด้านใดบ้าง หากชำระเงินผ่าน QR Code จะสามารถขอเงินคืนหรือคืนสินค้าได้หรือไม่ รวมไปถึงข้อกำหนดของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

ผู้รับผิดชอบจาก METI ให้ความเห็นว่า “หากจะใช้ CPM สิ่งที่จำเป็นในขั้นต่ำคือ Code ที่สามารถบ่งบอกรายละเอียดผู้ใช้ได้เทียบเท่าเบอร์โทรศัพท์” ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงจะสามารถลดต้นทุนในการวางมาตรฐานด้านนี้ได้

QR Code พัฒนาต่อจาก “Quick Response” ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย Denso และกลายเป็นที่แพร่หลายในประเทศญี่ปุ่นและทั่วโลก อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้ยังไม่เคยมีการสร้างระบบอันเป็นมาตรฐาน ส่งผลให้วิธีใช้ของแต่ละบริษัทต่างกันออกไป ซึ่งด้วยต้นทุนการใช้งานที่ต่ำนี้เอง ที่ทำให้ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ และธุรกิจด้าน IT รายใหญ่ เลือก QR Code เป็นวิธีการชำระเงินในสังคมไร้เงินสด

ยกระดับความสะดวก

เมื่อเดือนเมษายน NTT Docomo ได้เปิดให้บริการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟน “d PAY” เพื่อยกระดับความสะดวก และใช้เป็นช่องทางการทำกำไรใหม่ ซึ่งบริการนี้ ใช้วิธีการแสดง QR Code และ Barcode 1 มิติ ในหน้าจอแอพลิเคชั่นของผู้ใช้ เพื่อให้ร้านค้าใช้ระบบขายหน้าร้าน (POS) หรือเครื่องมืออื่น ๆ แสกนโค๊ดนี้ 

ทางด้าน KDDI เองก็มีกำหนดให้บริการชำระเงินผ่าน QR Code ภายในปีงบประมาณนี้เช่นกัน  ภายใต้แนวคิด “ร่วมออกแบบชีวิตและการสื่อสาร” ซึ่งการชำระเงินที่สะดวกขึ้นนี้ คือหนึ่งในการออกแบบชีวิตของบริษัท

อีกรายหนึ่งคือ Softbank ซึ่งได้ร่วมมือกับ Yahoo และผู้ให้บริการชำระเงินรายใหญ่ในประเทศอินเดีย เพื่อเปิดให้บริการการชำระเงินผ่าน QR Code ของตน ภายใต้ชื่อ “PayPay”

ส่วนผู้บุกเบิกบริการชำระเงินผ่านมือถือ Rakuten ผู้ให้บริการ “Rakuten Pay” กำลังอยู่ระหว่างยกระดับบริการเดิมจาก E-Commerce เข้าสู่บริการหน้าร้านจริง ซึ่งปัจจุบันกำลังอนู่ระหว่างการพัฒนาแอพลิเคชั่นซึ่งมีระบบบัตรสะสมแต้มอยู่

 

ปฏิวัติการชำระเงิน

LINE Pay ได้แสดงความต้องการปฏิวัติวิธีการชำระเงินออกมาอย่างชัดเจน โดยประกาศให้ SME ใช้งานได้โดยไม่คิดเสียธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 3 ปี และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาระบบหน้าร้านสำหรับธุรกิจที่ไม่มีกำลังจ่าย

กระทั่งบริษัทอย่าง AEON Financial Service เอง ก็มีแนวโน้มที่จะนำ QR Code มาใช้เช่นกัน โดย Mr. Masaaki Mangetsu กรรมการผู้จัดการได้กล่าวแสดงความเห็นว่า “การชำระเงินผ่าน QR Code มีเป็นไปได้มากขึ้น เนื่องจากความเข้ากันได้ของซอฟต์แวร์พื้นฐานของทั้ง iOS และ Android ซึ่งต่างจากเมื่อก่อน”

ในอีกด้านหนึ่ง บางส่วนยังคงแสดงความแคลงใจว่า การสร้างมาตรฐานด้าน QR Code นี้ จะเป็นไปได้จริงมากน้อยแค่ไหน

ยกตัวอย่างเช่น Visa Worldwide Japan ซึ่งเดิมทียอมรับ “EMV” มาตรฐานด้านความปลอดภัยระดับสากล และทำการซัพพลายอุปกรณ์ให้กับ AEON นั้น ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะซัพพลายอุปกรณ์หรือไม่หากมีการเปลี่ยนไปใช้ QR Code แทน ซึ่งหัวหน้าแผนก Digital Solution & Development ของ Visa Worldwide Japan ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า “หากจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ต้องมองภาพในระดับโลก ไม่ใช่มองแค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว QR Code จะกลายเป็นกุญแจสู่สังคมไร้เงินสดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินผู้บริโภค ซึ่งเป็นที่น่าจับตามองว่า ประเทศที่การใช้จ่ายส่วนใหญ่ใช้เงินสดเช่นประเทศญี่ปุ่นนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด