"คลาวด์" สร้างแต้มต่อธุรกิจ ถอดบทเรียนยักษ์แถวหน้าของไทย
คลาวด์ เป็นเทรนด์เทคโนโลยีที่มาแรงในตลาดระยะหนึ่งแล้ว แต่หลายองค์กรก็ยังไม่รู้ว่าจะนำมาช่วยธุรกิจได้อย่างไร "Google Cloud Summit Bangkok" ได้นำบรรดาธุรกิจแถวหน้าของไทยมาแชร์ไอเดีย
"ดร.เชษฐ์ ยง" ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และนวัตกรรม บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เปิดเผยว่า ความท้าทายของธุรกิจ คือ การสร้างการเติบโตของยอดขายอย่างต่อเนื่อง และให้ลูกค้ามั่นใจในแบรนด์ แต่สิ่งที่ต้องรับมือคือความยุ่งยากในการทำเอกสารธุรกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่อาจต้องใช้เวลาเป็นวัน แต่เมื่อนำ "คลาวด์" มาใช้ก็ช่วยลดเวลาเหลือแค่ 21 นาที รวม ๆ แล้วในช่วง 3 เดือนประหยัดเวลาได้ราว 130 ชั่วโมง ประหยัดต้นทุนธุรกิจได้กว่า 4 ล้านบาท และยังช่วยย่นเวลาในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับการโอนบ้านในโครงการต่าง ๆ ทำให้บริษัทมีความแตกต่างเหนือคู่แข่ง ทั้งยังสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกและเปลี่ยนข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นข้อมูลที่มีค่าเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้แก่ลูกค้า และมีเวลารวมถึงข้อมูลในการโฟกัสสิ่งที่สำคัญจริง ๆ สำหรับลูกค้า
ขณะที่สตาร์ตอัพแถวหน้าอย่าง "โอมิเซะ" ผู้ให้บริการเพย์เมนต์เกตเวย์รายใหญ่ "อิศราดร หะริณสุต" ประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการ เปิดเผยว่า ความยืดหยุ่นในการขยายศักยภาพในการรองรับปริมาณอย่างรวดเร็ว คือจุดเด่นสำคัญของคลาวด์ "เราให้บริการชำระเงินกับโอเปอเรเตอร์ 3 ราย ดังนั้น ต้องรองรับทราฟฟิกได้มาก โดยเฉพาะสิ้นเดือน หรือการขายบัตรคอนเสิร์ตที่คนจะเข้ามาพร้อมกันเยอะมาก ไม่เกิน 5 วินาทีระบบก็พังได้ถ้ายังลงทุนเซิร์ฟเวอร์แบบเดิม ๆ แต่เมื่อใช้บริการกูเกิลคลาวด์ ทำให้โอมิเซะเพิ่มปริมาณทรานแซ็กชั่นที่รองรับต่อวันได้สูงถึง 100 ล้านครั้ง รองรับการใช้งาน 500-600 ธุรกรรมต่อวินาที และลดค่าใช้จ่ายไปกว่า 30% ทั้งยังได้รับรองมาตรฐานความปลอดภัย PCI DSS 3.2.1 อีกด้วย"
ฝั่งองค์กรเก่าแก่อย่าง "ธนาคารกรุงไทย" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มกลยุทธ์และการบริหารจัดการควบคุมดูแล สายงานเทคโนโลยี "คมสัน
กาญจนกีรณา" ระบุว่า แม้อายุเฉลี่ยพนักงานจะค่อนข้างสูงคือราว 40 ปี จึงทำให้ในช่วงแรกที่เริ่มนำคลาวด์มาใช้งาน มียอดการใช้แค่ 39% จึงได้แก้ปัญหาด้วยการสร้างพนักงานรุ่นใหม่แล้วส่งกระจายไปทั่วประเทศเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานด้านเอกสารบนคลาวด์มากขึ้น ผ่านไป 2 ปีปัจจุบันมียอดใช้งานเป็น 69% แล้ว และทำให้ระบบปฏิบัติงานของพนักงานง่ายขึ้นมาก
ฟากบริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด บริษัทในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ "ดร.อัญญรัตน์ บุญนิธิวรกุล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า "ข้อมูล" เป็นสิ่งสำคัญของบริษัทในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ซึ่งคลาวด์มีต้นทุนถูกกว่าการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์เอง และยังมีเครื่องมือต่าง ๆ ในระบบที่จะช่วยย่นระยะเวลาในการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย ทั้งยังปรับเปลี่ยนเครื่องมือ ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบใหม่ ๆ ได้
"ทิม ไซแนน" หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ กูเกิล คลาวด์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า การใช้งาน "กูเกิลคลาวด์" ในไทยโตขึ้นถึง 3 เท่า โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน อีคอมเมิร์ซ การเงิน ซึ่งระบบคลาวด์ของกูเกิลมีเครื่องมือที่จะช่วยย่นเวลาธุรกิจที่ครอบคลุมตั้งแต่งานธุรการปกติอย่าง "G Suite" ที่ช่วยให้ใช้งาน Gmail, Google Drive, Google Calendar, Google Docs ไปจนถึงเครื่องมือในการสร้างแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ และการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง
"สมาร์ทโฟนทั่วโลกมีกว่า 5,000 ล้านเครื่อง มีคนช็อปออนไลน์กว่า 1.8 พันล้านคน ก่อให้เกิดข้อมูลวันละ 2.5 ล้านเทราไบต์/วัน ดังนั้น คลาวด์จึงมีความสำคัญกับธุรกิจต่าง ๆ" ปัจจุบันศูนย์บริการกูเกิลคลาวด์ (regions) เปิดบริการ 17 แห่งทั่วโลก มี 6 แห่งในเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ ไต้หวัน สิงคโปร์ โตเกียว ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย อินเดีย และมีแผนที่จะเปิดเพิ่มอีก 3 แห่งภายในสิ้นปี ได้แก่ ฮ่องกง โอซากา และอินโดนีเซีย แม้จะยังไม่มีแผนจะสร้างในประเทศไทย แต่ไม่มีปัญหาเรื่องความเร็วในการรับส่งข้อมูล พร้อมรับการเติบโตของการใช้งานในไทย และมีการลงทุนทีมซัพพอร์ตเพิ่มขึ้น 3 เท่า
"อีกความได้เปรียบของคลาวด์ คือ รับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ดีกว่า แต่ละปี 84% ขององค์กรที่ดูแลเซิร์ฟเวอร์เองจะถูกโจมตีจากแฮกเกอร์ และ 86% โดนมากกว่า 1 ครั้ง
แต่ถ้าเป็นการโจมตีมายังคลาวด์ผู้ให้บริการคลาวด์จะสามารถรับมือดีกว่า"