ส่องบรรยากาศการลงทุน "เวียดนาม"

อัปเดตล่าสุด 20 ธ.ค. 2561
  • Share :
  • 328 Reads   

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กษมา ประชาชาติ

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางสำรวจการค้าและการลงทุนที่เวียดนาม เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก หากเทียบกับเมื่อหลายปีก่อน ขณะนี้เวียดนามกำลังเป็นสาวเนื้อหอม
ในกลุ่มอาเซียนที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่น้องน้อย "CLMV" อย่างในอดีตแล้ว

บรรยากาศในตัวเมืองฮานอย เริ่มมีย่านการค้าทำเลทอง มีห้างสรรพสินค้าลอตเต้สัญชาติเกาหลี มีห้างบิ๊กซีจากไทยเข้าไปลงทุน และกำลังมีการก่อสร้างโครงการมิกซ์ยูส โดย "แคปปิตัลแลนด์" กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์สัญชาติสิงคโปร์ และในส่วนของทุนท้องถิ่นก็ไม่เบาเลย มีการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมอย่างยานยนต์ที่ Vingroup เพิ่งจะทำคลอดรถแบรนด์ "Vin Fast" สัญชาติเวียดนามออกมาต้นปีนี้ และกำลังเตรียมจะเปิดตัวสมาร์ทโฟนแบรนด์ "Vsmart" ของบริษัทเป็นครั้งแรกในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ 

จากการสอบถาม ซี.พี.เวียดนาม บิ๊กธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนธุรกิจปศุสัตว์ครบวงจร Feed-Farm-Food ในเวียดนาม นาน 25 ปี จนเติบโตเป็นท็อป 5 ในตลาดอาหารเวียดนาม ได้เล่าว่า เวียดนามมีจุดเด่นสามารถเป็นได้ทั้งฐานการผลิตและฐานการตลาด เพราะมีประชากรเวียดนามมากถึง 97 ล้านคน และมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรปีละ 1% ที่สำคัญ ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน มีอายุเฉลี่ย 31 ปี จึงมีความต้องการบริโภคสูงขึ้น ถือเป็นแหล่งที่มีแรงงานจำนวนมาก ค่าแรงงานต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนอื่น ภูมิประเทศมีชายฝั่งทะเลยาวจึงมีการพัฒนาท่าเรือ และมีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์

ขณะเดียวกัน อัตราการขยายตัวของจีดีพีเฉลี่ย 6.5% รายได้ประชากรต่อหัวต่อปีประมาณ 2,629 เหรียญสหรัฐ และที่สำคัญคือ "การเมือง" ที่มีเสถียรภาพ ทำให้มีการขับเคลื่อนนโยบายมีเอกภาพและมีความต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ เปิดกว้าง มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ ตามนโยบาย "Doi Moi" จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 10 ปี (ปี 2010-2020) ซึ่งทุก ๆ หน่วยงานต่างเดินหน้าไปสู่เป้าหมายเดียวกัน และด้านการค้าระหว่างประเทศก็มีความได้เปรียบ เพราะได้มีการทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีต่าง ๆ ทั้งกรอบอาเซียน  อาเซียน+6 หรือ RCEP เอฟทีเอกับอียู เกาหลี ออสเตรเลีย และความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งพัฒนามาจากความตกลง TPP ที่สหรัฐถอนตัวออก ทาง ซี.พี.มองข้ามชอตว่า การลงทุนในเวียดนามจะช่วยขยายตลาดไปยัง CPTPP ได้ เพราะไทยยังไม่เข้าร่วมความตกลงนี้  

ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลยที่นักลงทุนต่างให้ความสนใจเวียดนาม จนทำให้ตัวเลขการลงทุนในเวียดนามจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำฮานอย ระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรก 2561  มีการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติเข้าไปลงทุน 1,366 โครงการใหม่ เงินทุนจดทะเบียน 11,800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลงทุนภาคการแปรรูปและการผลิต
ภาคธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ และการค้าส่ง ค้าปลีก 

ส่วนไทยลงทุนในเวียดนามเป็นอันดับ 9 จำนวน 12 โครงการใหม่ เป็นเงิน 660 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการซื้อหุ้นในธุรกิจเวียดนาม มูลค่า 58.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และการเพิ่มเงินทุน 32.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่น บริษัท Thaibev, SCG และ อาปิโก ไฮเทค เป็นต้น

ในอีกมุมหนึ่ง เมื่อมีการลงทุนในเวียดนามมากขึ้น นำมาสู่นโยบายจัดระเบียบการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ สร้างกำแพง เพื่อรักษาความเป็นฐานผลิตใหญ่ในอาเซียน โดยจะเห็นว่าเมื่อต้นปี 2561 รัฐบาลเวียดนามบังคับให้ผู้นำเข้ายานยนต์สำเร็จรูปต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานโดยห้องแล็บเวียดนาม ส่งผลกระทบต่อไทยและอินโดนีเซียซึ่งเป็นเจ้าตลาดที่ส่งออกสินค้ายานยนต์ 

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบตัวเลขล่าสุด  11 เดือนแรกของปี 2561 เวียดนามนำเข้า 65,770 คัน เพิ่มขึ้น 21.6% มูลค่า 1,450 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 23.5%  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากความต้องการใช้รถยนต์ที่เพิ่มขึ้น 

แม้ว่าปมนำเข้ารถยนต์จะลุล่วงไปเปลาะหนึ่ง แต่ในอนาคตไทยจะต้องปรับมุมมองในทางการค้าและการลงทุนกับเวียดนาม เพื่อหลบกำแพงการจัดระเบียบการนำเข้า โดยอาจหันไปตั้งฐานการผลิต หรือสร้างความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจอย่างเข้มข้นกับเวียดนาม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจต่อไป