เจาะลึก! 5G คลื่นลูกใหม่ของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

อัปเดตล่าสุด 11 ก.พ. 2562
  • Share :

บริการ 5G มาตรฐานการเชื่อมต่อไร้สายความเร็วสูงยุคใหม่ กำลังจะเริ่มให้บริการในปี 2019 นี้ ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ผลิตวัสดุที่เกี่ยวข้อง ต่างช่วงชิงส่วนแบ่งของตลาดใหม่นี้ ซึ่งไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนเท่านั้น 5G ยังสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ได้อีกด้วย นอกจากนี้ สงครามการค้าเอง ก็อาจจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้ผู้ผลิตนอกประเทศสหรัฐ และประเทศจีน ได้รับผลประโยชน์จากความต้องการที่มากขึ้นเช่นนี้อีกด้วย
 

ความต้องการ 5G “เพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์”

เมื่อวันที่ 30 มกราคม Mr. Koichi Hamada ประธานบริษัท Anritsu กล่าวไว้ในที่ประชุมชี้แจ้งตัวเลขคาดการณ์ปี 2019 ว่า ความต้องการ 5G เพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้มาก โดยเฉพาะจากประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี 5G เช่นสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ซึ่งกระตุ้นให้ความต้องการชิปเซ็ต อุปกรณ์ไร้สาย และเครื่องมือวัดที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

ซึ่งความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ มาจากบริษัทขนาดใหญ่ในทั้ง 2 ประเทศ เช่น Qualcomm, Intel, และ Samsung Electronics ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เล็งเห็นว่าความต้องการจากธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้ คือช่องทางในการสร้างรายได้ที่ดีเยี่ยม ซึ่ง Anritsu รายงานว่า ความต้องการนี้นำมาซึ่งยอดออเดอร์ที่มากจนบริษัทตนไม่สามารถรับไว้ได้ทั้งหมด ส่งผลให้เกิดการกระจายออเดอร์ไปยังบริษัทอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง 

ส่วนในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี 5G รองจากสหรัฐฯ และเกลาหลีใต้ คือจีน และญี่ปุ่นตามลำดับ ซึ่งแม้จะมีผู้ที่แสดงความกังวลต่อกรณียอดขาย iPhone ที่ลดลง แต่ด้วยความที่ 5G เป็นเทคโนโลยีใหม่ Mr. Koichi Hamada จึงมีความเห็นว่ายอดขาย iPhone จะ “ไม่กระทบต่อความต้องการ 5G แต่อย่างใด” และหากต้องการเข้าสู่ตลาดนี้แล้ว ควรมุ่งไปที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้รองรับกับ 5G ดีกว่า

ทางด้าน Nidec เอง ก็เล็งเห็นว่า การมาของ 5G จะส่งผลให้ความต้องการ Hard Disk Drive (HDD) เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น มอเตอร์ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงมีความคิดว่า สามารถใช้คลื่นลูกนี้ ในการทำกำไรให้กับบริษัท และเข้าซื้อกิจการของผู้ผลิตอุปกรณ์ระบายความร้อนค่ายไต้หวันตั้งแต่ปี 2018 เพื่อตอบสนองความต้องการของ Data Center ที่ต้องการเทคโนโลยีระบายความร้อนที่สูงขึ้นตามความเร็วการรับส่งข้อมูลของ 5G 

อีก 2 รายคือ Murata Manufacturing และ Kyocera ซึ่งมีความเห็นตรงกันต่อตลาด 5G โดยกล่าวว่า ความต้องการ IoT จะเป็นปัจจัยผลักดันตลาดนี้ให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเข้าสู่ยุคดิจิตัลในอีกหลายอุตสาหกรรม ซึ่งแม้ว่าจะยังมีปัจจัยที่น่ากังวลจากสงครามการค้าบ้าง แต่ด้วยความต้องการ 5G, ระบบ ADAS (Advanced Driver Assistance Systems) และอุปกรณ์ IoT ซึ่งขยายตัวทั่วโลก ซึ่งไม่มีท่าทีจะลดลงนั้นทำให้ปัจจัยจากสงครามการค้าไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วงมากนัก

ส่วน TDK เล็งเห็นว่า การพัฒนาสมาร์ทโฟนให้รองรับ 5G จะส่งผลให้ความต้องการชิ้นส่วนที่มีประสิทธิภาพสูงเพิ่มมากขึ้น จึงตัดสินใจจับกระแสนี้ไว้ด้วยการพัฒนา “AFM-15 Series” เครื่องประกอบ Flip Chip ที่มีความเร็วสูงสุดในภาคอุตสาหกรรมในขณะนี้ ส่วน Taiyo Yuden ก็ได้ลงทุนเสริมกำลังผลิตตัวเก็บประจุเซรามิคแบบหลายชั้น (MultiLayer Ceramic Capacitors: MLCC) ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ความต้องการจะถูกกระตุ้นให้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสมาร์ทโฟนรองรับ 5G แล้ว


Mitsubishi Electric ตอบรับกระแส 5G ด้วยการผลิต High Frequency Device “MGFG5H3001” เพื่อรองรับความต้องการของสถานีสัญญาณที่มากขึ้น โดยวางแผนใช้ Gallium Nitride (GaN) เป็นวัสดุเซมิคอนดัคเตอร์ ซึ่งจะช่วยให้ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

เมื่อกล่าวถึงวัสดุแล้ว ปัจจุบัน เซมิคอนดัคเตอร์ส่วนใหญ่ถูกผลิตขึ้นจากซิลิคอน อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่า 5G ที่มีความเร็วสูงกว่า 4G มาก จะต้องการคลื่นความถี่ที่สูงขึ้น ส่งผลให้จำเป็นต้องมีการหาวัสดุใหม่มาทดแทน ไม่เช่นนั้นแล้ว การผลิตอุปกรณ์ขนาดเล็กให้รองรับ 5G และประหยัดไฟก็จะเป็นเรื่องยากเป็นอย่างยิ่ง

ที่ผ่านมา Mitsubishi Electric มีประสบการณ์ในการซัพพลาย Gallium Arsenide (GaAs) ให้กับผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ ซึ่ง GaAs นั้น เป็นวัสดุเซมิคอนดัคเตอร์ซึ่งผลิตขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่เช่นเดียวกับ GaN ทำให้ทางบริษัทสามารถใช้ไลน์การผลิตเดิมได้

Fuji Chimera Research Institute สำนักวิเคราะห์ในเครือ Fuji Keizai คาดการณ์ว่า ตลาด 5G ในปี 2023 จะมีมูลค่าสูงถึง 4.188 ล้านล้านเยนในส่วนของสถานีฐาน และ 26.14 ล้านล้านเยน ในส่วนของสมาร์ทโฟน

คลาวด์ คลื่นอีกลูกที่น่าจับตามอง


Amazon Web Services คาดการณ์ว่า คุณสมบัติของ 5G เช่น การเชื่อมต่อหลายอุปกรณ์พร้อมกัน และการรับส่งข้อมูลปริมาณมาก จะกลายเป็นก้าวสำคัญของผู้ประกอบธุรกิจด้านคลาวด์ ซึ่งทาง Amazon ก็เล็งเห็นว่า สามารถใช้คลื่นลูกนี้เป็นแหล่งทำเงินให้กับบริษัทได้

Mr. Tadao Nagasaki ประธานบริษัท Amazon Web Services สาขาญี่ปุ่น มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าการมาของ 5G จะช่วยให้ความต้องการคลาวด์เพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งจะตามมาด้วยความต้องการบริหารข้อมูลปริมาณมหาศาล

ความต้องการวัสดุใหม่

เพื่อตอบรับกับ 5G ที่ใช้คลื่นความถี่สูง ความต้องการวัสดุเคลือบผิวที่มีค่า Dielectric Constant และ Dielectric Loss Tangent ต่ำจะเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังต้องการลักษณะทางไฟฟ้าแบบเฉพาะตัว และจำเป็นต้องทำงานในสภาพความชื้น หรือุณหภูมิสูงได้ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาวัสดุใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีการสื่อสารในครั้งนี้ ซึ่ง Liquid Crystal Polymer (LCP) วัสดุ Super Engineering Resins ของ Sumitomo Chemical ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในวัสดุที่น่าจับตามองในครั้งนี้

วัสดุอีกชนิดที่ได้รับการจับตามองคือ BT-Epoxy ของ Mitsubishi Gas Chemical ที่ปัจจุบันมีส่วนแบ่งในตลาดเซมิคอนดัคเตอร์สูงที่สุดในโลก เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีราคาต่ำ ทนความร้อนได้ดี และเป็นส่วนหนุ่งของแพ็คเกจเซมิคอนดัคเตอร์มาตั้งแต่ช่วงปี 1990


ส่วน ACG ได้เลือกพัฒนาเสาอากาศกระจกขึ้นเพื่อรองรับ 5G โดยตั้งเป้านำเสนอผลิตภัณฑ์ตัวอย่างภายในปี 2019 นี้ และมุ่งพัฒนาเพื่อนำไปใช้ในยานยนต์ และสิ่งก่อสร้างเป็นหลัก โดยเสาอากาศชนิดนี้ ผลิตจากผลึกสังเคราะห์ ร่วมกับเทคโนโลยีการออกแบบเสาอากาศ ผลิตเป็นเสาอากาศรูปทรงตาข่ายขนาดเล็กภายในแผ่นผลึกนี้ 


Mr. Mayuki Hashimoto ประธานบริษัท Sumco กล่าวว่า การมาของ 5G จะทำให้จำเป็นต้องก่อสร้าง Data Center เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งความต้องการเหล่านี้ จะเพิ่มสูงจนทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าซิลิคอนเวเฟอร์จะขาดตลาดหลังปี 2021 การเสริมกำลังผลิตเพื่อรองรับจึงเป็นสิ่งจำเป็น

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ 5G เช่น Preform สำหรับผลิตสายไฟเบอร์ออฟติก, Photomask Blanks, และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการผลิตสินค้าเหล่านี้ก็จะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม: เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย