เกาะติดวิวัฒนาการ อินเตอร์เฟสยานยนต์
3 ค่ายญี่ปุ่น ผู้นำเทคโนโลยีด้านอินเตอร์เฟซสำหรับยานยนต์ แสดงแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีที่มุ่งสู่การเชื่อมต่อยานยนต์เข้ากับสมาร์ทโฟน และควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ เช่น หน้าต่างรถ ด้วย Gesture เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยานยนต์ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ขับขี่ได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต
Toyota
Toyota ได้นำรถไฮบริด “Prius” และอุปกรณ์สำหรับเชื่อมต่อการทำงานระหว่างยานยนต์และสมาร์ทโฟนมาจัดแสดงภายในงาน เปิดตัวเทคโนโลยี “Smart Device Link (SDL)” ซึ่งพัฒนาร่วมกันกับ Ford แสดงความสามารถในการใช้งานฟังก์ชันต่าง ๆ ของสมาร์ทโฟน ผ่านหน้าจอสัมผัสของรถได้
โดยฟังก์ชันแรกที่ Toyota มีแผนเปิดตัวสู่ตลาด คือ “Clova Auto” แอปพลิเคชันสนับสนุนการขับขี่ด้วย Artificial Intelligence (AI) ซึ่งพัฒนาโดย Line เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถขับรถไประหว่างพูดคุยกับ AI ในขณะเดียวกันก็สามารถจดจ่อกับการขับได้มากยิ่งขึ้น ซึ่ง Clova Auto จะสามารถโต้ตอบคำสั่งต่าง ๆ ของผู้ขับได้ เช่น เมื่อผู้ขับสอบถามสภาพอากาศ Clova Auto ก็จะทำการหาข้อมูล แล้วตอบรถกลับ
Clarion
Clarion พัฒนาระบบนำทางด้วยสมาร์ทโฟน ซึ่งมีคุณสมบัติในการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนเข้ากับระบบนำทางยานยนต์ เพื่อแสดงเส้นทางที่ต้องการได้ โดยสามารถกำหนดที่หมายล่วงหน้าไว้ก่อนขึ้นขับรถ จากนั้นระบบจะทำหน้าที่เชื่อมต่ออุปกรณ์เข้าด้วยกันโดยอัตโนมัติ
ระบบนำทางที่ Clarion พัฒนาขึ้นนี้ อยู่ระหว่างทดสอบใช้งานที่จังหวัดอิชิคาวะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อใช้แนะนำแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ พร้อมเส้นทางให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่ง Clarion กล่าวแสดงความเห็นว่า “เราจะพัฒนาเทคโนโลยีนี้ต่อไป พร้อมกับอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ และอุปกรณ์ IT อื่น ๆ ให้กลายเป็นธุรกิจด้านโซลูชันที่มั่นคง”
Alps Electric
Alps Electric เปิดตัวระบบควบคุมยานยนต์ด้วย Gesture ซึ่งทำงานด้วยการติดตั้งโมดูลควบคุม โดยโมดูลดังกล่าวประกอบขึ้นจากเซ็นเซอร์ตรวจจับวัตถุแบบไร้การสัมผัส (Capacitive Proximity Sensor) และ ASIC (Application-Specific Integrated Circuit) เพื่อควบคุมและสั่งการส่วนต่าง ๆ ของตัวรถ เช่น ประตู และหน้าต่าง
โดยเทคโนโลยีนี้ Alps พัฒนาขึ้นเพื่อให้ใช้กับยานยนต์อัตโนมัติ ภายใต้แนวคิดว่าด้วยความสะดวกสบายของผู้โดยสารที่จะสามารถควบคุมการทำงานในส่วนอื่น ๆ ของยานยนต์ได้ง่ายยิ่งขึ้น และตั้งเป้าประสานความร่วมมือกับผู้ผลิตยานยนต์ในการต่อยอดการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่า แนวทางการพัฒนาอินเตอร์เฟสยานยนต์มุ่งไปที่การอำนวยความสะดวก และสร้างสภาพแวดล้อมในการขับขี่ที่ดียิ่งขึ้นให้กับผู้ขับนั้น จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยานยนต์ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ขับขี่ได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีผู้คาดการณ์ว่า อินเตอร์เฟสยานยนต์จะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยยกระดับการแข่งขันระหว่างผู้พัฒนาให้สูงขึ้นอีกด้วย