หุ่นยนต์ส่งของอัตโนมัติ (Delivery Robot) คืออะไร

หุ่นยนต์ส่งของอัตโนมัติ (Delivery Robot) คืออะไร

อัปเดตล่าสุด 19 มี.ค. 2561
  • Share :

เบื่อไหมที่ต้องทนทุกข์กับสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ เวลาอยากทานอะไรก็ออกไปซื้อไม่ได้ ครั้นจะเรียกบริการเดลิเวอรี่มาก็เกรงใจเขาอีก เพราะในขณะที่เราเลี่ยงไม่เผชิญกับสภาพอากาศที่เลวร้ายแต่คนที่เป็นผู้เดลิเวอรี่สินค้ากลับหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะมันเป็นงาน ​หากมีระบบส่งอาหารอัตโนมัติก็ดีสิ หลาย ๆ คนก็คงคิดเช่นนี้ เพราะด้วยปัจจัยหลายอย่างจึงทำให้คนคิดว่ามันไม่มีเทคโนโลยีแบบนี้มาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงหรอก แต่ใครจะไปรู้กันล่ะ เผลอ ๆ เรื่องเหล่านั้นอาจไม่ได้มีอยู่แค่ในจินตนาการอีกต่อไปแล้วก็ได้ เมื่อปัจจุบันนี้มีนวัตกรรมหุ่นยนต์ส่งของอัตโนมัติ (Delivery Robot) ซึ่งเป็นหุ่นยนต์เดลิเวอรี่ขนาดเล็กทำหน้าที่ขนส่งอาหารแบบไร้คนขับออกมาให้คนใช้บริการอยู่จริง!

ที่มาของหุ่นยนต์ส่งของอัตโนมัติ 

มันเริ่มต้นจากร้านอาหารที่ชื่อว่า “Just Eat” ในประเทศอังกฤษที่ได้นำหุ่นยนต์ทำหน้าที่ขนส่งเดลิเวอรี่อาหารแทนมนุษย์ในช่วงหิมะตก เนื่องจากสภาพอากาศที่ยากลำบากแก่การเดินทางสำหรับคน แต่มันกลับไม่มีผลอะไรเลยกับเจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นหิมะที่ทับถมกันหรือแม้แต่เป็นช่วงเวลากลางคืน อุปสรรคเหล่านี้ก็ทำอะไรเจ้าหุ่นยนต์เดลิเวอรี่นี้ไม่ได้ เนื่องจากมันสามารถเปลี่ยนจากวิ่ง 6 ล้อเป็น 4 ล้อได้เพื่อที่จะสามารถวิ่งบนพื้นหิมะได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังมีไฟสำหรับการเดลิเวอรี่ยามค่ำคืนอีกด้วย

ความนิยมใช้หุ่นยนต์ส่งของอัตโนมัติ

นวัตกรรมหุ่นยนต์เดลิเวอรี่เปิดตัวในปี 2016 และได้ทดลองใช้งานในบางพื้นที่ของเกาะอังกฤษเพื่อทดสอบประสิทธิภาพ และก็พบว่าเจ้าหุ่นยนต์เดลิเวอรี่นี้ได้รับการตอบรับไม่น้อยทีเดียว ดูจากยอดจากสั่งซื้ออาหารเป็น 1,000 รายงานในช่วงก่อนคริสต์มาส

การทำงานของหุ่นยนต์เดลิเวอรี่

หุ่นยนต์เดลิเวอรี่นี้มีขอบแขตในการขนส่งอาหารประมาณ 3 กิโลเมตร และใช้เวลาในการเดินทางตั้งแต่ 5 – 30 นาที ในขณะที่อาหารกำลังถูกเตรียมอยู่นั้น เจ้าหุ่นยนต์เดลิเวอรี่ก็กำลังเดินทางออกจากอู่ของมันไปยังร้านอาหาร โดยเจ้าหุ่นยนต์เดลิเวอรี่นี้แม้จะถูกออกแบบมาให้เคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเองแต่ก็ยังต้องถูกควบคุมผ่านจอมอนิเตอร์อยู่เป็นครั้งคราว เมื่อกำลังทำการเดลิเวอรี่ลูกค้าจะได้รับข้อความแจ้งเตือนจากทางร้านด้วยว่าหุ่นยนต์กำลังขนส่งอาหารไปให้คุณ และจะได้รับข้อความอีกครั้งเมื่อการเดลิเวอรี่ใกล้ถึงจุดหมาย เพื่อแจ้งเตือนให้ลูกค้าลงไปรอรับอาหารจากเจ้าหุ่นยนต์นี้

ออกแบบโดย Starship Technologies

หุ่นยนต์ส่งของอัตโนมัติ (Delivery Robot) นี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ ได้และสามารถขับเคลื่อนไปบนท้องถนนได้อย่างปลอดภัย ไร้กังวล จึงมีการติดตั้งทั้งกล้องคุณภาพสูง เซนเซอร์รอบทิศทาง รวมไปถึงเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย นอกจากหุ่นยนต์สำหรับขนส่งสินค้าแล้วทางบริษัทก็ได้มีการคิดค้นเป็นโดรนสำหรับขนส่งสินค้าอีกด้วย

Starship Technologies ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2014 โดย Ahti Heinla และ Janus Friis สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ สำหรับส่วนงานวิศวกรรมนั้นทำที่ประเทศเอสโตเนีย ในยุโรปเหนือ

หุ่นยนต์ส่งของอัตโนมัติ กับ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย

จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์เดลิเวอรี่กำลังเติบโตไปได้ด้วยดีเนื่องจากข้อจำกัดอันน้อยนิดเมื่อเทียบกับการขนส่งโดยใช้มนุษย์ ที่ต่างประเทศเองไม่ว่าจะเป็นยุโรปหรืออเมริกาก็เริ่มทยอยนำหุ่นยนต์ตัวนี้เข้ามาใช้งาน โดยไม่จำเป็นต้องใช้แค่กับการเดลิเวอรี่อาหารเท่านั้น ทำให้คาดการณ์ได้ว่า โอกาสเติบโตของหุ่นยนต์เดลิเวอรี่นี้ยังมีอีกมากอย่างแน่นอน

สำหรับผู้ประกอบการในภาคการผลิตของไทยเองสามารถต่อยอดความคิดจากเรื่องนี้ได้เช่นกัน และนับเป็นช่วงจังหวะที่ดีจากมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ภายใต้เป้าหมายที่จะสร้างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 1 ใน 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ให้เกิดขึ้น

โอกาสมี ภาครัฐดัน อยู่ที่ว่า “คุณจะลงมือทำหรือยัง?”