หัวเว่ยเผย 10 ปัจจัยสำคัญ กระตุ้นธุรกิจเชิงพาณิชย์ทั่วโลกหันมาปรับใช้ 5G

อัปเดตล่าสุด 27 ก.พ. 2563
  • Share :
  • 743 Reads   

นายหยาง เชาปิน ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์ 5G ของหัวเว่ย บริษัทโทรคมนาคม ยักษ์ใหญ่จากจีน ได้ออกมาเผยเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เกี่ยวกับ 10 ปัจจัยสำคัญของเทคโนโลยี 5G ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์และโซลูชันอัลตร้าบรอดแบนด์แบบครบวงจร ที่สนับสนุนให้เกิดการปฏิวัติย่านความถี่สู่เครือข่าย 5G นวัตกรรม Super Uplink แบบครบวงจร และโซลูชันการจัดแบ่งเครือข่าย (Slicing Solutions) ที่จะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพการให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในหมู่ผู้ให้บริการเครือข่าย เพื่อมุ่งพัฒนาการให้บริการต่อผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์โดยตรง ทั้งผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ตามบ้าน และผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ในแวดวงอุตสาหกรรม

 

#1 ประสบการณ์เครือข่าย 5G เชิงพาณิชย์ที่ครอบคลุม จะเร่งการติดตั้ง 5G ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

จากข้อมูลล่าสุดของสมาคมผู้จำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (GSA) ในช่วงปลายปี 2562 ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม 62 แห่งใน 34 ประเทศได้ประกาศให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ โดยในจำนวนนี้ มีผู้ให้บริการ 41 รายที่ได้รับการสนับสนุนจากหัวเว่ย นับเป็นจำนวนมากถึง 2 ใน 3 ของจำนวนผู้ให้บริการดังกล่าว 

“แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากภายนอก แต่หัวเว่ยจะยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าต่อไป ผลิตภัณฑ์ 5G และโซลูชันของเราได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมส่วนใหญ่ทั่วโลก ในปัจจุบัน หัวเว่ยได้ลงนามเซ็นสัญญาร่วมกับผู้ให้บริการระบบการสื่อสารโทรคมนาคมทั้งหมด 91 แห่งและได้จัดส่งผลิตภัณฑ์ 5G ไปแล้วมากกว่า 600,000 ชิ้น โดยประสบการณ์ในการติดตั้งเครือข่ายโทรคมนาคมที่ผ่านมาทั้งหมดจะถูกนำไปใช้พัฒนาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถติดตั้งเครือข่าย 5G ได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพที่สุด” 

 

#2 พอร์ตโฟลิโอที่รอบด้าน พร้อมมอบประสบการณ์ 5G อันเหนือชั้นอย่างต่อเนื่อง

นับตั้งแต่การริเริ่มโครงสร้าง 5G ทั้งในด้านประสิทธิภาพและความครอบคลุม ได้มีการวางแผนการดำเนินการเป็นอย่างดีเพื่อส่งมอบประสบการณ์อันเหนือชั้นให้แก่ผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง หัวเว่ยมีพอร์ตโฟลิโอผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมเหมาะสมในทุกสถานการณ์ โดยสถาปัตยกรรมเครือข่ายสามชั้นประกอบด้วย สถานีฐานขนาดใหญ่หลายแห่งเพื่อประสิทธิภาพและความครอบคลุมขั้นพื้นฐาน การติดตั้งระบบ Easy Macro ที่ไซต์เสาเครือข่ายสัญญาณเพื่อส่งเสริมความครอบคลุม และโซลูชัน LampSite สำหรับระบบดิจิทัลภายในอาคาร 

ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างความครอบคลุมของเครือข่ายที่ราบรื่นและมอบประสบการณ์ที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่องให้แก่ผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ หัวเว่ยยังได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ Massive MIMO AAU เสาสัญญาณที่มีน้ำหนักเบาที่สุดเพียง 25 กิโลกรัม สามารถเคลื่อนย้ายและติดตั้งได้ด้วยคนเพียงคนเดียว แต่ให้ประสิทธิภาพการทำงานที่รับรองได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างเครือข่ายของผู้ให้บริการโทรคมนาคมได้เป็นอย่างดี

 

#3 โซลูชันอัลตร้าบรอดแบนด์หนึ่งเดียวของอุตสาหกรรม เพื่อการติดตั้งเครือข่ายที่ง่ายยิ่งขึ้น

ในยุค 5G คลื่นความถี่แบบ TDD แบนด์วิดท์ขนาดใหญ่ที่มีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการสร้างประสบการณ์ 5G อย่างเหนือชั้น อย่างไรก็ตาม มีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมจำนวนไม่น้อยที่ได้รับเซ็กเมนท์ของคลื่นความถี่ที่ไม่ต่อเนื่อง เพราะปัจจัยเรื่องกรรมสิทธิ์ของดาวเทียมหรือการแบ่งสรรปันส่วนที่อาจไม่เท่าเทียมกัน 
หัวเว่ยจึงได้เปิดตัวโซลูชันอัลตร้าบรอดแบนด์หนึ่งเดียวของวงการอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนคลื่นความถี่แบนด์วิดท์สูงสุดที่ 400 เมกะเฮิรตซ์ เพียงหนึ่งโมดูลจะทำให้คลื่นความถี่ที่ไม่ต่อเนื่องภายใน 400 เมกะเฮิรตซ์สามารถใช้งานได้ โซลูชันดังกล่าวจะช่วยรักษาโมดูลและทำให้การติดตั้งไซต์เครือข่ายสัญญาณซับซ้อนน้อยลง และยังช่วยลดค่าเช่าไซต์เครือข่ายสัญญาณและฮาร์ดแวร์ของผู้ให้บริการอีกด้วย

 

#4 เบลด AAU สุดพิเศษ ครบจบในหนึ่งเดียว ลดความซับซ้อนในการติดตั้ง

นายหยาง เชาปิน กล่าวว่า “ในกระบวนการการพัฒนาระบบการสื่อสารแบบไร้สาย ผู้ให้บริการระบบโทรคมนาคมเลือกใช้ยูนิตเสาอากาศไร้สายจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนไซต์เครือข่ายสัญญาณและเสาสัญญาณ แต่ตอนนี้ ผู้ให้บริการกลับต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนพื้นที่ติดตั้งเสาอากาศไร้สาย ดังนั้นเสาสัญญาณเบลด AAU ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของหัวเว่ย ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของเราในฐานะที่เป็นอุปกรณ์ “เรียบง่ายอย่างเหนือชั้น” ด้วยเป้าหมายที่ช่วยลดต้นทุนการเป็นเจ้าของ (TCO) และการลงทุนในฮาร์ดแวร์และไซต์เครือข่ายสัญญาณ” 

เสาสัญญาณเบลด AAU ได้ผสานเสาสัญญาณ AAU 5G เข้ากับเสาสัญญาณนอกอาคาร 2G/3G/4G รวมไว้เป็นกล่องเดียว และจำกัดความสูงเพียง 2 เมตรเท่านั้น เพื่อสนับสนุนช่วงคลื่นความถี่ต่ำกว่า 6 เมกะเฮิรตซ์ ผู้ให้บริการสามารถใช้เสาสัญญาณนี้แทนเสาสัญญาณ 3G/4G เพื่อความสะดวกในการติดตั้งเสาสัญญาณ 5G ได้โดยใช้เพียงพื้นที่สำหรับเสาสัญญาณต้นเดียวเท่านั้น 

นอกจากนี้การออกแบบที่ผสมผสานอย่างลงตัว ช่วยให้การติดตั้งมีความซับซ้อนน้อยลงด้วย และในทางกลับกันก็ช่วยเสริมประสิทธิภาพของโครงสร้าง 5G และกระตุ้นให้เกิดการติดตั้งมากขึ้น ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ให้บริการตั้งแต่เริ่มเปิดตัว โดยถูกนำไปใช้เชิงพาณิชย์ในเครือข่ายโทรคมนาคมของประเทศสวิตเซอร์แลนด์และประเทศจีนแล้ว

 

#5 โซลูชันเครือข่ายโทรคมนาคม DSS เชิงพาณิชย์เจ้าแรกของอุตสาหกรรม เพื่อการติดตั้ง FDD NR อย่างรวดเร็ว

ปี 2563 จะเป็นปีแห่งการติดตั้งเครือข่าย 5G เป็นจำนวนมหาศาลทั่วโลก นอกจากการติดตั้งเครือข่าย 5G หลักในย่านคลื่นความถี่ 1-6 เมกะเฮิรตซ์แล้ว ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมยังสามารถติดตั้งเครือข่าย 5G ในช่วงคลื่นความถี่ต่ำกว่า 3 เมกะเฮิรตซ์ FDD เพื่อครอบคลุมเครือข่าย 5G อย่างรวดเร็วได้ โดยสำหรับคลื่นความถี่ FDD ใหม่ในขณะนี้ 

ข้อแนะนำของหัวเว่ยคือการติดตั้งสัญญาณเครือข่าย 5G โดยตรงจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพคลื่นความถี่ FDD ได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยเทคโนโลยี NR เนื่องจากมีผลพิสูจน์ออกมาแล้วว่าเทคโนโลยี NR ที่ทำงานบนคลื่นความถี่ FDD สามารถมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นอย่างน่าประทับใจเทคโนโลยี LTE สำหรับคลื่นความถี่ FDD ที่มีอยู่ก่อนหน้าสามารถปรับเปลี่ยนได้ด้วยการใช้การบริการโซลูชันโครงข่ายร่วมกัน (DSS) ภายในหนึ่งมิลลิวินาทีของหัวเว่ย 

เทคโนโลยีนี้สามารถจัดสรรแหล่งที่มาของคลื่นความถี่ได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงหนึ่งมิลลิวินาทีเท่านั้น โดยมีพื้นฐานมาจากเทคโนโลยี LTE การบริการ 5G และความต้องการของการส่งข้อมูลสัญญาณ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของคลื่นความถี่ได้อย่างดีที่สุด  

“ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 DSS โซลูชันของหัวเว่ยถูกนำไปใช้กับระบบโทรคมนาคมในยุโรป ปัจจุบัน ลูกค้าของเรามี  100 ล้านคลื่นความถี่ FDD อุปกรณ์ RRU ที่สามารถนำไปปรับเปลี่ยนเป็น 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการใช้โซลูชันนี้”

 

#6 อัลกอริทึมอัจฉริยะ เสริมศักยภาพเครือข่ายชั้นนำ

หัวเว่ยได้พัฒนาเทคโนโลยีการส่งสัญญาณแบบ Massive MIMO อย่างรอบด้าน ทั้งด้านการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม และการประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยได้จัดทำพอร์ตโฟลิโอผลิตภัณฑ์และอัลกอริทึมที่เหนือชั้นเพื่อเสริมศักยภาพระบบ Massive MIMO ของเราให้ล้ำหน้าอยู่เสมอ ด้านซอฟต์แวร์อัลกอริทึม หัวเว่ยพร้อมด้วยเทคโนโลยีการส่งสัญญาณแบบ MU-MIMO การระบุข้อกำหนดซอฟต์แวร์ หรือ SRS เทคนิคการประมวลผลสัญญาณแบบ full-channel beamforming และอื่นๆ อีกมากมาย ที่พร้อมเสริมความสามารถในการกระจายสัญญาณ ขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุม และพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าถึงขีดสุด 

โดยหัวเว่ยได้ช่วยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออย่าง LG U+ ในประเทศเกาหลีใต้ , EE ในประเทศอังกฤษ และ Sunrise ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ติดตั้งเครือข่าย 5G เชิงพาณิชย์ในปี 2562 การทดสอบสมรรถนะเครือข่ายจากบุคคลภายนอกซึ่งจัดทำโดย RootMetrics and Connect ระบุว่าหัวเว่ยได้ช่วยพัฒนาประสบการณ์ใช้งานของผู้ให้บริการเครือข่ายให้ทะยานขึ้นสู่อันดับหนึ่ง โดยมีอัตราดาวน์ลิงก์เฉลี่ยมากกว่าเครือข่ายคู่แข่ง 1.5 ถึง 2 เท่า จึงแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่เหนือชั้นของเทคโนโลยี Massive MIMO ในการให้บริการเชิงพาณิชย์ในสถานการณ์จริงได้เป็นอย่างดี” 

 

#7 เทคโนโลยี 5G สีเขียว ใช้พลังงานน้อยลง

ประสิทธิภาพในการใช้พลังงานเป็นอีกหนึ่งสิ่งจำเป็นในการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารของอุปกรณ์มือถือให้สมบูรณ์และยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเทคโนโลยี 5G ซึ่งหัวเว่ยพร้อมมอบโซลูชันการประหยัดพลังงานแบบครบวงจร ที่ได้นำเอาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ไซต์เครือข่ายรูปแบบใหม่ และระบบการประสานงานทั่วเครือข่ายด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้งาน เพื่อลดการใช้พลังงานในการกระจายสัญญาณ 5G ต่อบิต พร้อมด้วยนวัตกรรมการออกแบบชิปและอัลกอริทึม วัสดุฮาร์ดแวร์คุณภาพสูง และเทคโนโลยีกระจายความร้อนล้ำสมัย ซึ่งสามารถส่งมอบเซลล์สัญญาณได้ใหญ่กว่าถึง 50 เท่า ให้กับเสากระจายสัญญาณ (AAUs) ในระบบ 5G แต่กลับใช้พลังงานเทียบเท่าแค่เพียงหน่วยแปลงสัญญาณวิทยุระยะไกล (RRUs) ในระบบ 4G เท่านั้น 

นอกจากนี้โซลูชันการประหยัดพลังงานด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยังสามารถรักษาดัชนีชี้วัดผลงานที่น่าพึงพอใจได้ในหลากหลายสถานการณ์ ในขณะเดียวกันก็ใช้ประโยชน์จาก symbol, channel, และ carrier shutdown ทั่วทุกโหมดการทำงานบนเครือข่าย รวมถึงย่านความถี่ต่างๆ ตามความต้องการของการให้บริการ เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานที่ละเอียดแม่นยำมากขึ้นในระดับเครือข่าย

 

#8 โซลูชันแบบคอนเวิร์จ NSA/SA แบบครบวงจร เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัลของอุตสาหกรรมในอนาคต

เทคโนโลยี 5G ไม่เพียงสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับผู้ใช้งานโดยตรง แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรม จึงทำให้เทคโนโลยี 5G แตกต่างจากเทคโนโลยีกระจายสัญญาณรุ่นก่อนหน้า โดยมาตรฐาน Release 16 จาก 3GPP จะเสร็จสมบูรณ์ภายในปีนี้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น เทคโนโลยี 5G จะสามารถรับส่งข้อมูลที่มีเสถียรภาพสูงและความหน่วงต่ำ (ultra-reliable low-latency communication – URLLC) ได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ ยังเป็นที่เข้าใจกันดีในอุตสาหกรรมว่าระบบ Standalone (SA) คือที่สุดของสถาปัตยกรรมเครือข่าย 5G โดยหัวเว่ยได้สนับสนุนและพัฒนาทั้งระบบ NSA และ SA อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายการเข้าถึงผ่านการรับส่งทางคลื่นวิทยุ (Radio Access Network ) core network ชิปเซ็ต และเครื่องปลายทาง ซึ่งจะช่วยให้โอเปอเรเตอร์เครือข่ายโทรคมนาคมสามารถส่งมอบบริการให้กับผู้บริโภค ผู้ใช้งานตามบ้าน และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างครบครัน” นายหยาง เชาปิน กล่าว

 

#9 โซลูชัน SUL E2E (Super Uplink) แบบครบวงจรที่มีเอกลักษณ์ เติมเต็มประสบการณ์และศักยภาพการเชื่อมโยงในอุตสาหกรรม

ระบบ TDD แบบดั้งเดิมจะเน้นที่ความต้องการของเทคโนโลยี enhanced Mobile Broadband (eMBB) ซึ่งทำให้ความสามารถในการดาวน์ลิงก์สูงกว่าอัปลิงก์เป็นอย่างมาก จึงไม่สามารถส่งข้อมูลอัปลิงก์ขนาดใหญ่และมีความหน่วงต่ำ ซึ่งจำเป็นต่อการใช้งานบางอย่างในภาคอุตสาหกรรม เช่น การถ่ายทอดสดแบบ 4K และ 8K 

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว หัวเว่ยจึงได้เปิดตัวโซลูชันนวัตกรรม Super Uplink ขึ้น เพื่อประสานการส่งสัญญาณแบบ TDD และสเปคตรัม FDD ปลดล็อคความสามารถในการอัปลิงก์และลดความหน่วงของสัญญาณได้อย่างมีนัยสำคัญ ระบบ TDD ยังสามารถทำงานร่วมกับแถบความถี่แบบ Full SUL ซึ่งส่งผลให้ความสามารถอัปลิงก์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

โดยผลการทดสอบของผู้ให้บริการโทรคมนาคมระบุว่า สามารถลดความหน่วงของสัญญาณได้ถึง 30 เปอร์เซนต์ และเพิ่มอัตราการอัปลิงก์ได้สูงสุดถึง 4 เท่า โดยกลุ่มมาตรฐานอุตสาหกรรมโทรคมนาคม 3GPP ได้ยอมรับนวัตกรรมดังกล่าวอย่างเป็นทางการแล้ว

 

#10 โซลูชันการจัดแบ่งเครือข่าย ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัลในอุตสาหกรรม

เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลในอุตสาหกรรมให้ดียิ่งขึ้น หัวเว่ยได้เปิดตัวโซลูชันการจัดแบ่งเครือข่ายที่ครอบคลุมตั้งแต่เครือข่ายการรับส่งทางคลื่นวิทยุ core network เครือข่ายคมนาคม ไปจนถึงเครื่องปลายทาง เพื่อให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมและลูกค้าอุตสาหกรรมสามารถส่งมอบบริการที่หลากหลายยิ่งขึ้น พร้อมกับการันตีแบนด์วิดท์สูงและความหน่วงสัญญาณต่ำ ส่งผลให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างไร้กังวล 

โดยโซลูชันดังกล่าวสามารถนำมาใช้ได้กับหลากหลายสถานการณ์ในแต่ละอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นโซลูชันการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) พอร์ตอัจฉริยะ โรงงานอัจฉริยะ หรือเทคโนโลยีคลาวด์ AR/AR จึงทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ ในขณะเดียวกัน ยังสร้างโอกาสให้ผู้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมสามารถแสวงหาตลาดใหม่ๆ ได้อีกด้วย

“เทคโนโลยีการสื่อสารเคลื่อนที่ในทุกยุคถูกพัฒนามาเพื่อการใช้งานที่หลากหลายและประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น เทคโนโลยี 5G เองก็ไม่ต่างกัน การให้บริการ 5G ต้องครอบคลุมอย่างเพียงพอเพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม และจะต้องเป็นประสบการณ์การใช้งานที่ดีกว่าเทคโนโลยีในยุคก่อนหน้า ผลิตภัณฑ์และโซลูชันจากหัวเว่ยจึงสะท้อนความมุ่งมั่นต่อเป้าหมายนี้ นอกจากนี้ ปี 2563 จะเป็นปีสำคัญของเทคโนโลยี 5G เนื่องจากจะถูกนำมาใช้เชิงพาณิชย์ในวงกว้าง และดังคำกล่าวที่ว่า 

‘ไม่มีใครสามารถเล่นบทเพลงอันยิ่งใหญ่ได้เพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยวงออเคสตราทั้งวงใน
การบรรเลง’
 

เราจึงมุ่งหวังในการทำงานร่วมกับพันธมิตรระดับโลกอื่น ๆ ในการสานต่อเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมไปถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และคลาวด์ เพื่อนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ประโยชน์ในฐานะแพลตฟอร์มการเชื่อมต่อ เพื่อสร้างสรรค์ดิจิทัลอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนร่วมกันต่อไป” นายหยาง เชาปิน กล่าวสรุป