แก้ร่าง กม.คุมซากแบตรถ EV เอกชนจี้รัฐ-ผู้ใช้ร่วมกองทุนกำจัดซาก
กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมชงกฎหมายคุมซากแบตเตอรี่รถ EV อีกรอบหลังถูกถอด พร้อมชงร่าง พ.ร.บ.กองทุนส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและการบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว ด้านเอกชนหนุนร่าง พ.ร.บ. กำจัดซากฯ เดิม 54 มาตรา จี้ “รัฐ-ผู้ใช้” ควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบกองทุนกำจัดซากร่วมกับผู้ผลิต-ผู้นำเข้า
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ตามที่เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างกฎหมายพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.) ในวาระแรก ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ เพื่อให้มีระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ โดยเบื้องต้นร่างดังกล่าวจะครอบคลุมซากของเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องโทรศัพท์และโทรศัพท์ไร้สาย เครื่องปรับอากาศเครื่องรับโทรทัศน์ ตู้เย็น และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเท่านั้น แต่ไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในราชการทหาร
นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ไว้ใน พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ…. เพิ่มเติม พร้อมทั้งขอให้กรมสรรพสามิตสนับสนุนเพิ่มเติม คือ การผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.กองทุนส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและการบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว
เนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2560 ได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ครอบคลุมมาตรการส่งเสริมการลงทุน และการกระตุ้นตลาดภายในประเทศ ตลอดจนการเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน การจัดทำมาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้า การบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว และมาตรการอื่น ๆ โดยมาตรการสนับสนุนรถ EV ดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำหนดให้ผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนผลิต xEV (PEV, PHEV, BEV) ต้องยื่นแผนการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีแผนการบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว เพื่อป้องกันปัญหาขยะและมลพิษจากแบตเตอรี่ในอนาคต ที่อาจจะมีปัญหากำจัดไม่ถูกวิธี
นางกนิษฐ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การสนับสนุนให้เกิดรถ EV ที่ในอนาคตต้องมีแผนรองรับ จึงจำเป็นต้องผลักดันนำซากแบตรถ EV เข้าไปใหม่อีกครั้ง หลังจากที่เคยเสนอให้นำแบตเตอรี่รถ EV ที่ใช้แล้วบรรจุไว้ในกฎหมายฉบับนี้เมื่อปี 2560 แต่ได้ถูกถอดออก ทำให้กฎหมายฉบับที่ผ่าน สนช.ครอบคลุมซากผลิตภัณฑ์ไว้เพียงแค่ 5 รายการ คือ คอมพิวเตอร์ เครื่องโทรศัพท์และโทรศัพท์ไร้สาย เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ ตู้เย็นเท่านั้น
“การมีแผนบริหารจัดการซาก ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อะไรก็ตาม ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบซากขยะที่เกิดขึ้นร่วมกัน ทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ใช้ รวมถึงภาครัฐ ส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การจัดการซากฯ ต้องหยุดไป หลังไม่มี สนช. แต่หลังจากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะต้องนำกลับมาร่างกันใหม่ แต่จะมากน้อยอย่างไรต้องหารือส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนำแบตรถ EV เข้าไปด้วย และการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมศักยภาพฯด้วย”
แต่อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มต้องการให้กลับไปใช้ร่างกฎหมายเดิมที่มี 54 มาตรา แทนร่างที่ผ่าน ครม.และผ่านกฤษฎีกา ซึ่งตัดออกไปเหลือเพียง 36 มาตรา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการตั้งกองทุน เพื่อนำเงินมาบริหารจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องการให้ภาครัฐและผู้ใช้เข้ามาร่วมรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่เฉพาะให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าเท่านั้นที่รับผิดชอบ
“ปัญหาตอนนี้ที่ร่าง พ.ร.บ.ไม่สามารถออกมาได้ เพราะเราต้องการให้รัฐและผู้ใช้เข้ามาร่วมรับผิดชอบด้วย มีกองทุนเพื่อนำเงินมาบริหารจัดการซาก ไม่ใช่ให้แค่ผู้ผลิตและผู้นำเข้ารับผิดชอบซากเพียงอย่างเดียว และควรตีความซากผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน เช่น คอมพิวเตอร์จะรวมถึงคีย์บอร์ด เมาส์ ด้วยหรือไม่ แอร์สำหรับใช้ในบ้าน อาคาร รถยนต์ ตีความอย่างไรเพราะมันแตกต่างกัน ซึ่งเราเสนอให้ระบุพิกัดภาษีไปเลย”
ก่อนหน้านี้ นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีแนวคิดสนับสนุนให้จัดตั้งโรงงานซ่อมแซมโซลาร์เซลล์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแผงที่ยังใช้ได้ และสนับสนุนการตั้งโรงงานรีไซเคิลซากแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อรองรับแผงโซลาร์เซลล์ที่เสื่อมสภาพหรือชำรุด เป็นโรงงานลำดับที่ 106 (ประกอบกิจการเกี่ยวกับการนําผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรมกากอุตสาหกรรม)
ทั้งนี้ คาดว่าปัจจุบันประเทศไทยจะมีแผงโซลาร์เซลล์ที่กำลังจะหมดอายุการใช้งาน 20 ปี มากถึงประมาณ 620,000-790,000 ตัน ทางกระทรวงมอบให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมศึกษาความเป็นไปได้ และหาแนวทางในการบริหารจัดการ มีเป้าหมายจัดตั้งโรงงานใน 10 จังหวัด จังหวัดละ 10 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งจะรองรับแผงโซลาร์เซลล์เก่าได้ 90%