โฉมใหม่ อุตสาหกรรมก่อสร้างแห่งยุค 5G
ในขณะที่ผู้บริโภคกำลังตื่นเต้นไปกับเทคโนโลยี 5G ที่จะเข้ามาพลิกโฉมการสื่อสารให้รวดเร็วทันใจ ภาคอุตสาหกรรมเองก็ไม่ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่ง 5G ถูกคาดหวังว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมต่อในขณะเดียวกัน อีกอุตสาหกรรมที่เทคโนโลยีเครือข่ายนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ก็คืออุตสาหกรรมก่อสร้าง ด้วยขีดความสามารถในการรับส่งข้อมูลปริมาณมหาศาลอย่างรวดเร็ว ทำให้การควบคุมเครื่องจักรทางไกล (Remote Operation) มีความแม่นยำ และปลอดภัยมากขึ้นกว่าที่เคย
ไร้รอยต่อ
ตั้งแต่ปี 2017 Komatsu ร่วมกับ NTT Docomo ทดลองใช้ 5G ควบคุมเครื่องจักรก่อสร้าง และสาธิตการทำงานทางไกลแบบเรียลไทม์ โดยฉายภาพจากกล้องจำนวนมากที่ติดตั้งไว้ในเครื่องจักรที่อยู่ในไซต์งานจริงมายังระบบควบคุม
เดิมทีแล้ว การควบคุมทางไกลมีอุปสรรคสำคัญคือความล่าช้าของข้อมูล ทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม หากการรับส่งข้อมูลนี้ทำได้แบบเรียลไทม์แล้ว จะนำไปสู่การทำงานทางไกลที่แม่นยำ และมีความปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องให้คนงานไปทำงานในสถานที่มีความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการควบคุมทางไกลยังมีข้อจำกัดคือ ต้องอยู่ในระยะที่ยังมองเห็นเครื่องจักรจริง
เหมือนอยู่ในไซต์
Hitachi Construction Machinery และ KOBELCO Construction Machinery อยู่ระหว่างวิจัยการนำ 5G มาใช้ร่วมกับข้อมูลจากไซต์งาน โดยตั้งโจทย์ว่า “จะทำอย่างไร ให้คนงานรู้สึกเหมือนอยู่ในไซต์งานจริงได้” ซึ่งในขั้นต้น เป็นการวิจัยด้วยข้อมูลภาพ และมีแผนจะใช้ข้อมูลเสียง และแรงสั่นสะเทือนต่อไป
แนวคิดนี้เป็นอีกเทคโนโลยีที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนงานยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในการก่อสร้างอาคารสูง หรือเหมืองแร่ ซึ่งเป็นงานที่มีความเสี่ยง และมีผลกระทบต่อสุขภาพของคนงานเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีการขาดแคลนแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงคาดการณ์ว่า หากสามาถทำให้คนงานเข้าใกล้สถานที่ทำงานจริงได้น้อยที่สุด ก็จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ในส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการทำงานในไซต์มีความซับซ้อน ต่างจากเครื่องจักรในสายการผลิต ทำให้เทคโนโลยีควบคุมเครื่องจักรก่อสร้างทางไกลมีความเป็นไปได้ในการเข้าสู่ตลาดสูงกว่า