มือถือพับได้ จะนิยมในหมู่ผู้บริโภคจริงหรือ?

อัปเดตล่าสุด 14 พ.ย. 2561
  • Share :

ตลาดที่ซบเซาจะดีขึ้นหรือไม่?
 
“สมาร์ทโฟนพับได้” คอนเซ็ปต์ว่าด้วยมือถือแบบพับ ซึ่งสามารถใช้เป็นแท็บเล็ตได้เมื่อกางออก และใช้เป็นสมาร์ทโฟนได้เมื่อพับเข้าหากัน กำลังกลับมาเป็นที่น่าจับตามองอีกครั้งหลังจากที่แนวคิดนี้ถูกเสนอขึ้น แล้วเงียบลงโดยไม่มีการพูดถึงเป็นเวลานาน ซึ่งมือถือพับได้นี้เอง ที่อาจเป็นโอกาสอันดีของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเคมีก็เป็นได้


Samsung Foldable Smartphone

Mr. Justin Denison รองประธานอาวุโส Samsung Electronics สาขาสหรัฐอเมริกา กล่าวบนเวทีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนว่า “สมาร์ทโฟนพับได้คืออนาคตของสมาร์ทโฟน” พร้อมประกาศเปิดตัวสมาร์ทโฟนพับได้ของ Samsung เข้าสู่ตลาดในปี 2019 ซึ่งสื่อเกาหลีใต้ ให้ชื่อชั่วคราวกับสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ว่า “Galaxy F” และคาดการณ์ว่าจะมีราคาประมาณ 2,000,000 วอน พร้อมวางจำหน่ายในช่วงปลายเดือนมีนาคม
 
Samsung เปิดเผยว่า สมาร์ทโฟนรุ่นนี้ จะใช้เทคโนโลยี “Infinity Flex Display” เทคโนโลยีในส่วนของจอภาพที่ทำให้สามาร์ทพับได้มากกว่าหมื่นครั้ง มีขนาดหน้าจอเมื่อพับแล้วอยู่ที่ 4.58 นิ้ว และใหญ่ถึง 7.3 นิ้วเมื่อกางออก ใช้ระบบปฏิบัติการณ์ Android ของ Google และสมาร์ททำงานพร้อมกันได้ถึง 3 แอปพลิเคชัน ด้วยฟังก์ชั่น “Multitask”
 
เป็นที่คาดการณ์ว่า สมาร์ทโฟนพับได้ จะกลายเป็นรูปแบบพื้นฐานของสมาร์ทโฟนในอนาคต ทั้งในแง่ของฟังก์ชัน และดีไซน์ แม้ว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนได้ชะลอลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2017 แต่ได้มีการคาดการณ์ว่าสมาร์ทโฟนพับได้จะมียอดขายมากถึง 5 ล้านเครื่องในปี 2020 และภาคอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนได้แสดงความคาดหวังว่า ความเคลื่อนไหวของ Samsung จะช่วยให้อุตสาหกรรมที่ซบเซากลับมาครึกครื้นได้

Royole FlexPai

นอกจาก Samsung แล้ว ยังมีหน้าใหม่อย่าง Royole ที่เปิดตัวสมาร์ทโฟนพับได้นำหน้า Samsung และ Huawei ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมทำตลาดในขณะนี้
 
ส่วนทางค่ายญี่ปุ่นเอง มีการคาดการณ์ว่าสมาร์ทโฟน “Xperia” รุ่นถัดไปของ Sony จะเป็นแบบจอพับได้ อย่างไรก็ตาม Sony ไม่ได้แสดงความเห็นใด ๆ ต่อการคาดการณ์นี้ ส่วนทางด้าน Sharp นั้น มีแผนวางจำหน่ายสมาร์ทโฟนจอ OLED ในเดือนธันวาคม และจากสินค้าตัวอย่างที่ถูกเปิดเผยในงาน “CEATEC” งานจัดแสดงเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ IT เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า Sharp จะเปิดตัวสมาร์ทโฟนพับได้อีกด้วย
 
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสมาร์ทโฟนพับได้ก็คือ “ราคา” ซึ่งปัจจุบัน ตลาดสมาร์ทโฟนที่ชะลอตัว ส่งผลให้ผู้ผลิตดำเนินโยบายการพัฒนาฟังก์ชันต่าง ๆ เพิ่มเติมให้กับสินค้าของตน ทำให้ราคาสมาร์ทโฟนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่แน่นอนว่า สมาร์ทโฟนพับได้จะมีราคาสูงยิ่งขึ้นไปอีก
 
ยกตัวอย่างเช่นราคาของ Samsung ซึ่งเทียบเท่ากับการซื้อคอมพิวเตอร์ หรือกล้องดิจิทัลสเปคสูง ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรพึงระวังว่าผู้บริโภคจะยอมรับได้มากแค่ไหน นอกจากนี้ยังมีประเด็นด้านความคุ้มค่า และคอนเทนต์ของสมาร์ทโฟนพับได้ ว่าจะมีอะไรโดดเด่นมากไปกว่าการเป็นแค่ “สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในเครื่องเดียว” หรือไม่
 
นอกจากคอนเทนต์แล้ว พัฒนาการทางเทคโนโลยียังเป็นสิ่งจำเป็น ยกตัวอย่างเช่น กรณีของเทคโนโลยี 5G ซึ่งจะมาถึงในปี 2020 จะช่วยให้การดูภาพยนตร์ที่มีความคมชัดระดับ 4K ผ่านมือถือเป็นจริงขึ้นได้ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้เอง ที่จะช่วยให้สมาร์ทโฟนพับได้เข้าใกล้ความนิยมไปอีกก้าว
 
ผลกระทบต่อซัพพลายเออร์
 
ในขณะเดียวกัน กระแสสมาร์ทโฟนพับได้ยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมเคมีโดยตรง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา สมาร์ทโฟนยุคหลังแม้มีประสิทธิภาพสูง แต่ก็มีอายุการใช้งานลดลงเรื่อย ๆ ส่งผลให้ผู้บริโภคแสดงความต้องการสินค้าราคาต่ำลง ทำให้เกิดการลดราคา ซึ่งกระทบมาถึงอุตสาหกรรมเคมีที่เป็นผู้ผลิตวัสดุหลัก ซึ่งหากสมาร์ทโฟนพับได้กลายเป็นที่แพร่หลายขึ้นมาจริง ๆ แล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การเปลี่ยนวัสดุจากกระจกเป็นฟิล์ม ซึ่งต้องการเทคโนโลยีที่ดีขึ้นอีกขั้น

CEATEC 2018 OLED

ปัจจุบัน ธุรกิจด้านเคมี เช่น Tosoh และ Mitsubishi Gas Chemical Company กำลังพิจารณาเตรียมเข้าร่วมตลาดสมาร์ทโฟน ด้วยการตั้งเป้าผลิตวัสดุสำหรับสมาร์ทโฟนแบบพับได้ โดยมี Ube Industries ซึ่งรับงานซัพพลายวัสดุสำหรับผลิตจอ OLED ให้กับ Samsung แล้ว ส่วนทางด้าน Sumitomo Chemical เองก็อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการผลิตฟิล์มสำหรับจอภาพสมาร์ทโฟน และตั้งเป้าขยายธุรกิจวัสดุจอสัมผัสและจอ OLED เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่ตลาดได้ภายในปี 2019
 
ส่วนทางด้านของ Nitto Denko ผู้ผลิตฟิล์มกรองแสงสำหรับจอภาพ และโพลาไรเซอร์ ซึ่งมีส่วนแบ่งในตลาดเป็นอันดับ 1 ของโลก รายงานว่า ทางบริษัทประสบความสำเร็จในการพัฒนาแผ่นฟิล์มที่พับได้มากกว่า 100,000 ครั้ง ซึ่งจะนำเสนอให้กับอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนต่อไป
 
ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เอง Murata Manufacturing กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาเซ็นเซอร์ที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่นได้จากแผ่นฟิล์ม Piezoelectric ซึ่งมีคุณสมบัติในการตรวจสอบแรงดันไฟฟ้าจากการพับ บิด ม้วน และอื่น ๆ ซึ่งสามารถพัฒนาต่อเพื่อให้มีฟังก์ชันเช่น การบิดเครื่องเพื่อเพิ่มเสียง หรือเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ได้
 
ส่วน Mitsui Chemicals ได้ร่วมพัฒนาฟิล์มแรงดันไฟฟ้าสูงร่วมกับมหาวิทยาลัยคันไซนับตั้งแต่ปี 2011 ได้วางแผนนำฟิล์มชนิดนี้มาพัฒนาต่อ เพื่อให้ได้เป็นฟิล์มที่สามารถติดตั้งเซ็นเซอร์หลายชนิดไว้พร้อม ๆ กันได้
 
อ่านต่อ
เทรนด์ถัดไป คือ มือถือพับได้ ผลพวงจาก OLED Technology