อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ไปต่อ ยานยนต์ไฟฟ้า ก.อุตฯ ดันโรงงานไทยผลิตรถ EV
ตามนโยบายการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์-ชิ้นส่วนรถ EV ภายใน 5 ปี เพื่อมุ่งสู่เป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของปริมาณการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ใน 10 ปีข้างหน้า ตามแผน Roadmap การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย (ปี 2020-2030) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของอุปสงค์ (ความต้องการใช้) และอุปทาน (ผู้ผลิต) เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการเชื่อมโยงผู้ผลิตชิ้นส่วน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องในยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงผลักดันผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เพื่อเร่งให้เกิดการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยโดยเร็ว สอดรับกับเป้าหมายในปี 2030 โดยแผนระยะสั้น (ปี 2020-2022) จะมีการขับเคลื่อนรถราชการ รถบัสสาธารณะ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะ และรถส่วนบุคคลอื่น ๆ ประมาณ 60,000 - 110,000 คัน แผนระยะกลาง (ปี 2021-2025) เร่งให้มีรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัด ECO EV และ Smart City Bus ประมาณ 250,000 คัน และแผนระยะยาวในปี 2030 จะมียานยนต์ไฟฟ้า 750,000 คัน โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะช่วยเชื่อมโยงระบบคมนาคม สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และลดปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม
โดยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) โดย นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ติดตามตรวจเยี่ยม บริษัท โชคนำชัยแมชชีนนิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและประกอบยานพาหนะต่าง ๆ อาทิ รถยนต์ รถบัส และเรือ สัญชาติไทยรายใหญ่ของประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในเชิงวิศวกรรม มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย รถมินิบัส จำนวน 2,880 คัน / ปี เรือตรวจการณ์ จำนวน 70 ลำ / ปี เรือขนาดใหญ่ 16-20 เมตร จำนวน 30 ลำ / ปี เรือท้องแบน จำนวน 1,500 ลำ / ปี และแม่พิมพ์ชิ้นส่วนรถยนต์ 320 ชิ้น / ปี ซึ่งนับว่าเป็นสถานประกอบการที่มีศักยภาพความพร้อม สามารถต่อยอดในการผลิตชิ้นส่วนและการประกอบ
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า “การวางรากฐานให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ จะเป็นทางออกของการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ รวมถึงการแก้ปัญหามลพิษที่มีศักยภาพ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตการจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 จะสัมฤทธิ์ผลได้อย่างยั่งยืน”
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ได้เปิดให้มีการส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อเป็นการผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง
อ่านเพิ่มเติม:
- เปิดแผนระยะสั้น-ยาว ดันไทยฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าใน 5 ปี “สุริยะ” ยันไม่ทิ้ง “ผู้ผลิตชิ้นส่วน”
- กระทรวงอุตฯ ชี้ GWM ซื้อโรงงาน GM ดันการผลิตเพิ่มขึ้น 2 เท่า-รองรับรถยนต์ไฟฟ้า
- รถยนต์ไฟฟ้ากับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย