NIA ชี้ปี 62 ไทยต้องเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ชู 7 นวัตกรรมที่ต้องเร่งยกระดับ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยแนวทางการพัฒนาประเทศไทยในปี 2562 ประเทศไทยต้องเป็นกลุ่มประเทศ ผู้ผลิตและคิดค้นเทคโนโลยี เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศที่กำหนดอนาคตของโลก ทางออกสู่การหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยต้องพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จำเป็น 7 ด้าน ได้แก่ สถาปัตยกรรมการเงินนวัตกรรม นวัตกรรมเพื่อสังคม งานแห่งนวัตกรรม ตลาดนวัตกรรมภาครัฐ นวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ นวัตกรรมเชิงพื้นที่ และการสร้างนวัตกรและวิสาหกิจฐานนวัตกรรม
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า เส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มต้นจากประเทศไทย 1.0 ซึ่งเป็นยุคแห่งเกษตรกรรม ประเทศไทย 2.0 เริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเบา ประเทศไทย 3.0 เริ่มพัฒนาเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมหนัก ในขณะที่โลกมีการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประเทศไทยต้องปรับตัว และทำให้ต้องเร่งก้าวเข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0 โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม มากขึ้น ทั้งนี้ นวัตกรรมอาจไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้อย่างที่เคยมาอีกต่อไป แต่หมายรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่จับต้องไม่ได้ด้วย แม้กระทั่งรูปแบบธุรกิจในประเทศไทยก็ยังมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้มีเพียง SMEs และบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังมีวิสาหกิจเริ่มต้นหรือบริษัทสตาร์ทอัพที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศอีกด้วย
สำหรับการรับมือการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น องค์กรหรือหน่วยธุรกิจต่างๆ ต้องสามารถคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงเพื่อระบุโอกาสในอนาคตได้ เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กร โดยอาศัยการจัดการกระบวนการนวัตกรรม การสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมภายในองค์กร และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำนวัตกรรม รวมถึงการบริหารจัดการพอร์ตฟอลิโอด้านนวัตกรรม เพื่อให้การดำเนินงานเกิดผลสัมฤทธิ์ ทั้งยังจะสามารถช่วยให้มองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ของการพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ การเป็นไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะ ในเชิงพาณิชย์และการยกระดับคุณภาพชีวิต
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า “ในส่วนของ NIA คาดการณ์ว่า นับจากนี้ไปความแตกต่างระหว่างระดับของเทคโนโลยี จะลดน้อยลงเรื่อยๆ จะมีเพียงสาขาเทคโนโลยีที่แตกต่างกันเท่านั้น แม้ว่าอาจจะต้องใช้เวลาเล็กน้อยแต่ท้ายที่สุดแล้ววิทยาการในสาขาต่างๆ ล้วนจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมประยุกต์ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้นี้ยังจะได้เห็นกลุ่มประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 3 ประเภท ได้แก่ 1.ประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี 2.ประเทศที่เป็นผู้ใช้เทคโนโลยี และ 3. ประเทศผู้ผลิตและคิดค้นเทคโนโลยี ซึ่งแน่นอนว่าอนาคตของโลกจะขึ้นอยู่กับประเทศในกลุ่มที่ 3 คือผู้คิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั่นเอง” โดยแนวทางการพัฒนาประเทศไทยในปี 2562 ประเทศไทยต้องเป็นกลุ่มประเทศ ผู้ผลิตและคิดค้นเทคโนโลยี เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศที่กำหนดอนาคตของโลก ทางออกสู่การหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
ภายใต้การดำเนินงานของ NIA นอกจากจะพยายามส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการเทคโนโลยีรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมองว่ามีประเด็นที่จะผลักดันระบบนวัตกรรม 7 ประการที่สำคัญเพื่อตอบเป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วย
- นวัตกรรมเพื่อสังคม (Social innovation) ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความยั่งยืนด้วยนวัตกรรม เช่น การศึกษา สาธารณสุข ภาวะการมีงานทำ ฯลฯ
- งานแห่งนวัตกรรม (Innovation workforce) คือการพัฒนาศักยภาพกำลังคนเพื่อตอบสนองงานด้านตลาดนวัตกรรม ซึ่งจะเกิดรูปแบบงานใหม่ๆ ขึ้นอีกมากมาย
- สถาปัตยกรรมการเงิน (Financial architecture) ระบบการเงินนวัตกรรมที่ครบวงจรและใช้งานได้จริง
- นวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area-base innovation) โดยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้เปลี่ยนแปลงจากการแข่งขันในระดับประเทศไปสู่ระดับภูมิภาค และในที่สุด ในระดับเมือง มีการวัดระดับความเป็นนวัตกรรม ในภูมิภาค และเมืองที่ดึงดูดนักนวัตกรรม หลายประเทศเริ่มออกแคมเปญดึงดูด นวัตกร ในระดับเมือง มีการสร้างพื้นที่ เชิงกายภาพ ให้ดึงดูดการใช้ชีวิตในเมือง และสร้างเป็นพื้นที่เพื่ออรรถประโยชน์ใหม่ๆ
- ตลาดนวัตกรรมภาครัฐ (Government market) โดยภาครัฐต้องเป็นผู้นำในการอุดหนุนผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่พัฒนานวัตกรรม และนำมาใช้ในการบริการแก่สาธารณะ
- นวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ (Mandatory innovation) เป็นการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมที่มีมายาวนาน เช่น ปัญหาในภาคเกษตรกรรม ความแห้งแล้ง ภัยพิบัติต่างๆ
- การสร้างนวัตกรและวิสาหกิจฐานนวัตกรรม (Innopreneurship & IDE) ซึ่งเป็นการสร้างผู้นำทางธุรกิจและกิจการ ที่เติบโตด้วยนวัตกรรมให้มีความเข้มแข็ง
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการพัฒนาประเทศไทยเพื่อยกระดับนวัตกรรมนั้น การมีพันธมิตรที่มีศักยภาพถือเป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ NIA ได้มีโครงการความร่วมมือกับหลายประเทศ รวมถึงประเทศที่มีความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพอย่างอิสราเอล ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกว่าเป็น INNOVATION NATION หรือชาติแห่งนวัตกรรม เนื่องจากมีการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะที่มาจากความท้าทายจากวิกฤตการณ์รอบด้านที่อิสราเอลต้องเผชิญ โดย NIAได้มีการลงนามความร่วมมือกับ Israel Innovation Authority เมื่อช่วงกลางปี 2561 ที่ผ่านมา และได้มีการทำโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพร่วมกับบริษัทอิสราเอลเพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพไทย ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการได้ทำงานร่วมกัน และได้เห็นกระบวนการคิดของอิสราเอลผ่านโครงการความร่วมมือต่างๆ นี้ จะช่วยพัฒนาและเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์นวัตกรรมของไทยให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกได้เช่นเดียวกัน