กว่างซีของจีนพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัด “Davinci XI” ดันการแพทย์สู่ดิจิทัล

อัปเดตล่าสุด 21 ธ.ค. 2562
  • Share :
  • 1,309 Reads   

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ของจีนที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทีมแพทย์ของโรงพยาบาลเครือมหาวิทยาลัยการแพทย์กว่างซี (The First Affiliated Hospital of Guangxi Medical University/) ได้ใช้หุ่นยนต์แขนกล Davinci XI ที่มีชื่อเรียกว่า “เอ้อร์ป๋าย” ในการผ่าตัดให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เนื้องอกในตับ และมะเร็งลำใส้ใหญ่ตามลำดับ

เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 โรงพยาบาลเครือมหาวิทยาลัยการแพทย์กว่างซีได้ใช้หุ่นยนต์แขนกลผ่าตัด Davinci เครื่องแรกของมณฑล ซึ่งเป็นหุ่นยนต์แขนกลผ่าตัด Davinci รุ่นที่ 3 ที่โรงพยาบาลตั้งชื่อว่า “ต้าป๋าย” นับเป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นว่า กว่างซีได้เข้าสู่ยุคของการผ่าตัดแผลเล็กด้วยหุ่นยนต์แล้ว และเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2562 โรงพยาบาลได้นำหุ่นยนต์แขนกลผ่าตัด “Davinci XI” ซึ่งเป็นหุ่นยนต์แขนกลรุ่นใหม่ที่ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้สูงยิ่งขึ้นมาใช้เป็นเครื่องแรกของมณฑลและพื้นที่จีนตอนใต้ และเครื่องที่ 2 อยู่ที่เมืองหลิ่วโจว

หุ่นยนต์แขนกลผ่าตัด Davinci มีขึ้นจากการวิจัยและพัฒนาโดยบริษัท Intuitive Surgical (ISPG) จากสหรัฐอเมริกา โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเลโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo da Vinci) อัจฉริยะบุคคลและนักกายวิภาคศาสตร์ชื่อดัง (ผู้วาดภาพโมนาลิซ่า) ถือเป็นหุ่นยนต์ผ่าตัดศัลยกรรมที่มีความทันสมัยที่สุดในโลกปัจจุบัน เป็นแนวคิดการออกแบบหุ่นยนต์เพื่อใช้สำหรับการผ่าตัดศัลยกรรมที่ซับซ้อนด้วยเทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery-MIS) ด้วยระบบปฏิบัติการ Robot-assisted surgical system
หุ่นยนต์แขนกลชนิดนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในการศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมทรวงอก ระบบทางเดินปัสสาวะ นรีเวชกรรม ศัลยกรรมศรีษะและคอ การผ่าตัดหัวใจ และกุมารศัลยศาสตร์ นอกจากนี้ หุ่นยนต์ดังกล่าวยังสามารถทำการผ่าตัดศัลยกรรมทรวงอก ศัลยกรรมช่องท้องที่ไม่ใช้การผ่าตัดแบบส่องกล้องทำไม่ได้ รวมถึงการผ่าตัดเนื้องอกประเภทต่าง ๆ ด้วย
 
ลักษณะพิเศษของหุ่นยนต์ Davinci XI คือ ตัวหุ่นมีแขนกล 4 แขน สามารถติดตั้งเครื่องมือแพทย์ได้หลากหลาย แขนกลสามารถหมุนรอบได้ถึง 540 องศา ทำให้เคลื่อนไหวได้อิสระกว่ามือมนุษย์ กล้องที่ให้ภาพขยายแบบ 3 มิติที่มีความลึกและคมชัด สามารถนำเครื่องมือต่างๆ เข้าสู่ร่างกายผ่านรูเล็กๆ ที่เจาะบนร่างกายผู้ป่วยเพื่อทำการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ โดยศัลยแพทย์จะควบคุมการผ่าตัดผ่านทางแผงควบคุมหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ซึ่งจะถ่ายทอดความเคลื่อนไหวจากมือแพทย์ไปยังแขนกลขนาดจิ๋วที่กำลังผ่าตัด ภายใต้การควบคุมการทำงานแขนกลของศัลยแพทย์จะต้องมีองค์ประกอบหลัก คือ (1) กล้อง 3 มิติ (3D-HD) ที่มีความลึกและคมชัด สามารถขยายใหญ่ได้ 10 เท่า ช่วยให้แพทย์เห็นภาพเสมือนจริง รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างชัดเจน (2) แผงควบคุม (master console) ที่แพทย์จะต้องนั่งควบคุมการผ่าตัดผ่านหน้าจอ 3 มิติ (3) แขนกล ที่ใช้แทนมือของศัลยแพทย์ในการผ่าตัด และสุดท้ายคือ (4) เตียงผู้ป่วย ที่ถูกออกแบบมารองรับการทำงานของระบบโดยเฉพาะ การใช้หุ่นยนต์แขนกลช่วยผ่าตัดนับเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทีมแพทย์ผ่าตัดสามารถทำการผ่าตัดในบริเวณที่ยุ่งยากซับซ้อน การผ่าตัดมีความแม่นยำสูง อีกทั้งผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเจ็บตัวน้อย ฟื้นตัวเร็วกว่าการผ่าตัดใหญ่แบบเดิม ใช้เวลาในการผ่าตัดสั้นลง และลดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด
 
โรงพยาบาลเครือมหาวิทยาลัยการแพทย์กว่างซีเปิดเผยว่า อีกไม่นาน โรงพยาบาลจะใช้หุ่นยนต์แขนกลอัจฉริยะดังกล่าวในการผ่าตัดผ่านระบบการแพทย์ทางไกล โดยอาศัยเครือข่าย 5G ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีครั้งสำคัญ รวมทั้งเป็นการเร่งส่งเสริมให้วงการแพทย์ของกว่างซีเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ตอบสนองความต้องการทางการรักษาให้กับผู้ป่วย และยกระดับประสิทธิภาพของการรักษาพยาบาลให้เพิ่มมากขึ้น


อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ www.globthailand.com