รัฐบาลหนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ดันเกิดบริษัทใหม่รายได้สูงเพิ่มขึ้น

อัปเดตล่าสุด 21 ต.ค. 2562
  • Share :
  • 1,182 Reads   
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) สำรวจภาวะการเพิ่มขึ้นของบริษัทหน้าใหม่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลมุ่งหวังให้เป็นหัวหอกดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ประเทศ พบมีบริษัทหน้าใหม่เพิ่มขึ้นมาก และมีการเติบโตของรายได้สูงกว่าบริษัทหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมอื่น ขณะเดียวกัน พบว่าบริษัทหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายก็มีสัดส่วนการขาดทุนที่มากกว่าเช่นกัน เหตุต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม แนะผู้ประกอบการเตรียมพร้อมแต่เนิ่น ๆ ชี้แม้มีความเสี่ยงจากการขาดทุนมากกว่า แต่หากประสบความสำเร็จจะมีการเติบโตของกำไรที่มากกว่าได้เช่นกัน 
 
โดย SCB EIC ได้วิเคราะห์ข้อมูลรายบริษัทโดยข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จากนโยบายสนับสนุนธุรกิจใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตั้งแต่ปี 2558 ของภาครัฐ เพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศ โดยการให้สิทธิประโยชน์ทั้งทางด้านภาษีและเงินทุนสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ซึ่งประกอบด้วย  
 
  1. อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร
  2. อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน ผลิตพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด
  3. อุตสาหกรรมฐานเทคโนโลยีชีวภาพ
  4. อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข
  5. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บริการ และเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์
  6. อุตสาหกรรมวัสดุก้าวหน้า
  7. อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับ
  8. อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
  9. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และบริการสารสนเทศ
  10. อุตสาหกรรมฐานการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม
 
พบว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมดังกล่าว มีบริษัทหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าช่วงก่อนมีนโยบายสนับสนุน และเพิ่มมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น โดยอัตราการเข้าสู่ธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (สัดส่วนของจำนวนบริษัทที่จัดตั้งใหม่ต่อจำนวนบริษัททั้งหมดในอุตสาหกรรมนั้น ๆ) ในช่วงปี 2558 - 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 10.3% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนที่จะมีนโยบายสนับสนุน (ปี 2553 - 2557) ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 8.4% ต่อปี และยังสูงกว่าอัตราการเข้าสู่ธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นในช่วงเดียวกันที่ 10.1% ต่อปี ซึ่งทรงตัวจากช่วงก่อนหน้า
 
สะท้อนว่ามาตรการสนับสนุนจากภาครัฐอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นความสนใจในการเข้าสู่ธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม บางอุตสาหกรรมเป้าหมายมีอัตราการเข้าสู่ธุรกิจลดลงจากช่วงก่อนหน้า ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานทดแทนที่ชะลอลงตามการสนับสนุนธุรกิจพลังงานทดแทนของภาครัฐที่ลดลง รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว, เทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ชะลอลงตามภาวะอุตสาหกรรม
 
ขณะเดียวกัน พบว่า บริษัทหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายมีสัดส่วนของบริษัทที่ขาดทุนมากกว่าบริษัทหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมอื่น โดยสัดส่วนของบริษัทหน้าใหม่ที่จัดตั้งในช่วงปี 2558 - 2560 ที่มีผลการดำเนินงานขาดทุน (กำไรติดลบ) ในปี 2560 อยู่ที่ 39.9% ของจำนวนบริษัททั้งหมดในอุตสาหกรรมนั้น ๆ (เฉพาะบริษัทที่มีข้อมูลงบการเงิน) ขณะที่บริษัทหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมอื่นมีสัดส่วนของบริษัทที่ขาดทุนอยู่ที่เพียง 30.5% สาเหตุอาจมาจากการที่ธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายต้องอาศัยนวัตกรรมจึงต้องลงทุนและมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงในระยะเริ่มต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าสู่ธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายควรเตรียมความพร้อมในด้านการลงทุนในช่วงแรก และพร้อมเผชิญความเสี่ยงต่อการขาดทุนที่มากกว่า นอกจากนี้ ยังควรมีการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจที่รัดกุม เพราะธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลประกอบการได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายมีการเติบโตของรายได้สูงกว่าบริษัทหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมอื่นเช่นกัน และหากมีกำไรจะมีการเติบโตของกำไรที่สูงกว่ามาก 
 
สำหรับบริษัทหน้าใหม่ที่จัดตั้งในช่วงปี 2558 - 2560 ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีการเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อบริษัท 82.4% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าบริษัทหน้าใหม่ที่อยู่นอกกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่มีการเติบโตของรายได้ 76.4% และเมื่อพิจารณาเฉพาะบริษัทที่มีกำไร พบว่าบริษัทหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายมีกำไรขยายตัวเฉลี่ยถึงปีละ 49.5% เทียบกับบริษัทหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมอื่น ที่มีกำไรขยายตัวเพียง 20.6% สะท้อนว่าแม้ธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายจะมีความเสี่ยงของการขาดทุนที่สูงกว่า แต่หากประสบความสำเร็จก็จะสามารถเติบโตได้สูงกว่าธุรกิจอื่นอย่างชัดเจน โดยปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของกำไรอาจเป็นได้ทั้งจากความต้องการของสินค้าและบริการที่มีนวัตกรรมเติบโตสูงขึ้น รวมถึงมาตรการทางภาษีของภาครัฐ 
 
 
อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  : www.eeco.or.th