รัฐบาลหนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ดันเกิดบริษัทใหม่รายได้สูงเพิ่มขึ้น
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) สำรวจภาวะการเพิ่มขึ้นของบริษัทหน้าใหม่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลมุ่งหวังให้เป็นหัวหอกดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ประเทศ พบมีบริษัทหน้าใหม่เพิ่มขึ้นมาก และมีการเติบโตของรายได้สูงกว่าบริษัทหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมอื่น ขณะเดียวกัน พบว่าบริษัทหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายก็มีสัดส่วนการขาดทุนที่มากกว่าเช่นกัน เหตุต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม แนะผู้ประกอบการเตรียมพร้อมแต่เนิ่น ๆ ชี้แม้มีความเสี่ยงจากการขาดทุนมากกว่า แต่หากประสบความสำเร็จจะมีการเติบโตของกำไรที่มากกว่าได้เช่นกัน
โดย SCB EIC ได้วิเคราะห์ข้อมูลรายบริษัทโดยข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จากนโยบายสนับสนุนธุรกิจใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตั้งแต่ปี 2558 ของภาครัฐ เพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศ โดยการให้สิทธิประโยชน์ทั้งทางด้านภาษีและเงินทุนสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ซึ่งประกอบด้วย
- อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร
- อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน ผลิตพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด
- อุตสาหกรรมฐานเทคโนโลยีชีวภาพ
- อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บริการ และเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์
- อุตสาหกรรมวัสดุก้าวหน้า
- อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับ
- อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และบริการสารสนเทศ
- อุตสาหกรรมฐานการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม
พบว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมดังกล่าว มีบริษัทหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าช่วงก่อนมีนโยบายสนับสนุน และเพิ่มมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น โดยอัตราการเข้าสู่ธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (สัดส่วนของจำนวนบริษัทที่จัดตั้งใหม่ต่อจำนวนบริษัททั้งหมดในอุตสาหกรรมนั้น ๆ) ในช่วงปี 2558 - 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 10.3% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนที่จะมีนโยบายสนับสนุน (ปี 2553 - 2557) ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 8.4% ต่อปี และยังสูงกว่าอัตราการเข้าสู่ธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นในช่วงเดียวกันที่ 10.1% ต่อปี ซึ่งทรงตัวจากช่วงก่อนหน้า
สะท้อนว่ามาตรการสนับสนุนจากภาครัฐอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นความสนใจในการเข้าสู่ธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม บางอุตสาหกรรมเป้าหมายมีอัตราการเข้าสู่ธุรกิจลดลงจากช่วงก่อนหน้า ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานทดแทนที่ชะลอลงตามการสนับสนุนธุรกิจพลังงานทดแทนของภาครัฐที่ลดลง รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว, เทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ชะลอลงตามภาวะอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกัน พบว่า บริษัทหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายมีสัดส่วนของบริษัทที่ขาดทุนมากกว่าบริษัทหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมอื่น โดยสัดส่วนของบริษัทหน้าใหม่ที่จัดตั้งในช่วงปี 2558 - 2560 ที่มีผลการดำเนินงานขาดทุน (กำไรติดลบ) ในปี 2560 อยู่ที่ 39.9% ของจำนวนบริษัททั้งหมดในอุตสาหกรรมนั้น ๆ (เฉพาะบริษัทที่มีข้อมูลงบการเงิน) ขณะที่บริษัทหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมอื่นมีสัดส่วนของบริษัทที่ขาดทุนอยู่ที่เพียง 30.5% สาเหตุอาจมาจากการที่ธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายต้องอาศัยนวัตกรรมจึงต้องลงทุนและมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงในระยะเริ่มต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าสู่ธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายควรเตรียมความพร้อมในด้านการลงทุนในช่วงแรก และพร้อมเผชิญความเสี่ยงต่อการขาดทุนที่มากกว่า นอกจากนี้ ยังควรมีการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจที่รัดกุม เพราะธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลประกอบการได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายมีการเติบโตของรายได้สูงกว่าบริษัทหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมอื่นเช่นกัน และหากมีกำไรจะมีการเติบโตของกำไรที่สูงกว่ามาก
สำหรับบริษัทหน้าใหม่ที่จัดตั้งในช่วงปี 2558 - 2560 ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีการเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อบริษัท 82.4% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าบริษัทหน้าใหม่ที่อยู่นอกกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่มีการเติบโตของรายได้ 76.4% และเมื่อพิจารณาเฉพาะบริษัทที่มีกำไร พบว่าบริษัทหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายมีกำไรขยายตัวเฉลี่ยถึงปีละ 49.5% เทียบกับบริษัทหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมอื่น ที่มีกำไรขยายตัวเพียง 20.6% สะท้อนว่าแม้ธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายจะมีความเสี่ยงของการขาดทุนที่สูงกว่า แต่หากประสบความสำเร็จก็จะสามารถเติบโตได้สูงกว่าธุรกิจอื่นอย่างชัดเจน โดยปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของกำไรอาจเป็นได้ทั้งจากความต้องการของสินค้าและบริการที่มีนวัตกรรมเติบโตสูงขึ้น รวมถึงมาตรการทางภาษีของภาครัฐ
อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : www.eeco.or.th