เชลล์ เผยผลการศึกษาแบบจำลอง “Sky Scenario” ในประเทศไทย ชี้ความเป็นไปได้และประเด็นท้าทาย เพื่อบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสฯ

อัปเดตล่าสุด 11 ส.ค. 2561
  • Share :

บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เผยผลการศึกษาแบบจำลอง “Sky Scenario” (Sky) บนเวที Shell Forum ในหัวข้อ “Energy Transition for Thailand’s Future” โดยเวทีดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของเชลล์ ประเทศไทย ในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ  ภายใต้กลยุทธ์ “พลังงานสะอาด เพิ่มประสิทธิภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อม” (More and Cleaner Energy)

แบบจำลอง “Sky Scenario” มุ่งนำเสนอแนวทางที่เป็นไปได้ทั้งด้านภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และ เทคโนโลยี ในการบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสฯ ที่ตั้งเป้าหมายร่วมกันในการรักษาอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสเหนือกว่าระดับอุณหภูมิก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม Sky แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของระบบพลังงานที่จะเกิดขึ้นซึ่งจะช่วยสร้างพลังงานที่ทันสมัยทั่วโลก โดยไม่ส่งผลกระทบระยะยาวกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภค องค์กร และภาครัฐจะเผชิญกับทางเลือกที่ยากต่อการตัดสินใจ และแนวทางที่นำไปสู่พลังงานที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ในอีก 50 ปีข้างหน้า สังคมจะมีการผลิตและใช้พลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่างเช่น แนวความคิดของผู้คนในการเลือกใช้พลังงานที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ ประสิทธิภาพสูงจะสามารถเปลี่ยนไปได้ รวมไปถึงการเติบโตของแหล่งพลังงานใหม่ เช่น พลังงานทดแทน

นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “เชลล์ ประเทศไทย มีความมุ่งมั่นสนับสนุนรัฐบาลไทยในการใช้ระบบพลังงานที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ จากการจัดงานในครั้งนี้ เชลล์หวังว่าจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเจรจาและการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ภายใต้การปรับตัวและการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศ เราต้องการแรงสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจากภาครัฐในเชิงนโยบาย การสนับสนุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่พัฒนาเครื่องยนต์ให้รองรับเชื้อเพลิงชีวภาพได้มากขึ้น ผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพต่าง ๆ ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวนี้จะเข้ามาช่วยตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของพลังงานสะอาด เพิ่มประสิทธิภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อมได้” 

“การจัดงานในครั้งนี้นับเป็นการเปิดมุมมองที่หลากหลายเกี่ยวกับ “การเปลี่ยนผ่านพลังงาน” (Energy Transition) เพื่อสนับสนุนนโยบายพลังงาน 4.0 ของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคต โดยเหล่าผู้บริหารจะร่วมให้ข้อมูลและเสวนากันตั้งแต่ในระดับนโยบาย ความเป็นไปได้ของอนาคตพลังงานรูปแบบใหม่ ๆ วิธีการที่สังคมผลิตพลังงานและนำมาใช้ รวมถึงถ่ายทอดความรู้และความเชี่ยวชาญจากเชลล์ระดับสากลมาสู่ประเทศไทย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ข้อมูลจากผลการศึกษาแบบจำลอง “Sky Scenario” ได้รับการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ หลังจากเชลล์ได้เปิดเผยรายงานดังกล่าวในระดับโลกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา” นายอัษฎา กล่าวเสริม

ด้าน ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงทิศทางในการพัฒนาพลังงานของไทยว่า  “การวางแผนที่เหมาะสมของภาครัฐและความร่วมมืออย่างเข้มแข็งกับภาคเอกชน ทำให้ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความก้าวหน้าด้านพลังงานทดแทน และนับเป็นผู้นำด้านการใช้พลังงานทดแทนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่ภายใต้นโยบายพลังงาน 4.0 ของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการบรรลุความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว ซึ่งรวมถึงการสร้างระบบพลังงานที่มั่นคงให้ทุกภาคส่วนในราคาที่เหมาะสมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสังคมที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ปัจจุบันได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนขึ้น 30% ภายในปีพ.ศ. 2579 

ดร.โช คง หัวหน้านักวิเคราะห์ภาครัฐศาสตร์ รอยัล ดัตช์ เชลล์ หนึ่งในทีมนักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญของเชลล์ระดับโลก กล่าวว่า “เชลล์มุ่งพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์ด้านพลังงานมากว่า 50 ปี โดยผลการศึกษาแบบจำลองล่าสุดอย่าง “Sky Scenario” ได้นำเสนอแนวทางที่เป็นไปได้ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเศรษฐกิจโดยรวมระดับโลก และหนทางในการบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานไร้มลพิษภายในปี พ.ศ. 2613 แบบจำลองครั้งนี้ไม่ใช่การคาดเดา นโยบาย หรือแผนธุรกิจใดๆ ของเชลล์ หากแต่เชลล์หวังว่าผลการศึกษาชิ้นนี้อาจช่วยหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ข้อตกลงปารีสฯ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มีการส่งสัญญาณไปทั่วโลก หากรัฐบาล อุตสาหกรรม และสังคมร่วมมือกันก็จะมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบพลังงานที่แตกต่างออกมาได้”

Sky ถือเป็นหนึ่งในแบบจำลองสถานการณ์ทางเลือกใหม่ภายใต้ Shell’s New Lens Scenarios (NLS) ชุดแบบจำลองสถานการณ์ของระบบพลังงานในอนาคต หลังจาก 5 ปีก่อน เชลล์ได้สร้างแบบจำลองสถานการณ์ Mountains, Oceans ซึ่งเป็นทางเลือก 2 ทางสำหรับการพัฒนาระบบพลังงานในศตวรรษที่ 21 แบบจำลองสถานการณ์ในอนาคตทั้ง 3 แบบ แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ในหลายรูปแบบสำหรับระบบพลังงาน และแสดงให้เห็นว่าความต้องการน้ำมันและก๊าซในปีพ.ศ. 2573 จะสูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน นอกเหนือจากนั้น Sky ยังแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในการใช้พลังงานที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ และยังระบุเพิ่มเติมว่าในช่วงกลางศตวรรษ การผลิตน้ำมันและก๊าซจะยังมีความต้องการถึง 85% แต่ในช่วงปลายศตวรรษจะลดลงเหลือ 30-40%