055-โลจิสติกส์-จีน-ซัพพลายเชน

เครือข่ายโลจิสติกส์จีนปั่นป่วน กระทบซัพพลายเชนทั่วโลก

อัปเดตล่าสุด 20 ก.พ. 2563
  • Share :
  • 718 Reads   

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือ “โควิด-19” เป็นเหตุให้ทางการจีนสั่งปิดท่าเรือและด่านศุลกากรต่าง ๆ เพื่อควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลต่อการขนส่งสินค้าและห่วงโซ่การผลิตหรือ “ซัพพลายเชน” ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

ทั้งนี้ จากการประเมินของธนาคารยูบีเอสระบุว่า จีนมีการผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมาร์ทโฟนและโน้ตบุ๊กมากกว่า 80% ของการผลิตทั่วโลก นอกจากนี้ จีนยังผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ประมาณ 27% ของการผลิตทั่วโลก ดังนั้น การหยุดชะงักของการผลิตและการส่งออกชิ้นส่วนเหล่านี้ของจีนย่อมส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตทั่วโลก

“ซี อินเทลลิเจนซ์” ผู้ให้บริการด้านข้อมูลกิจการเดินเรือของเดนมาร์ก ระบุว่า นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มต้นในเดือน ธ.ค. 2019 จำนวนการขนส่งชิ้นส่วนออกจากจีนลดลงไปกว่า 350,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งการขาดแคลนชิ้นส่วนสำหรับผลิตสินค้า โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ส่งผลให้โรงงานหลายแห่งนอกจีนก็จำเป็นต้องยุติการผลิตชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม ราชการและภาคธุรกิจจีน รวมถึงท่าเรือและด่านศุลกากรเริ่มกลับมาดำเนินงานแล้ว ซึ่งทำให้หลายฝ่าย คาดว่าจีนจะสามารถกลับมาส่งออกสินค้าเข้าสู่ระบบซัพพลายเชนโลกอีกครั้ง แต่วอลล์สตรีต เจอร์นัลรายงานว่า ภาคการผลิตของจีนยังคงไม่สามารถกลับมาดำเนินงาน ผลิตได้อย่างเต็มรูปแบบ เพราะโรงงานส่วนใหญ่ยังคงปิดหรือกลับมาผลิตเพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากการขนส่งภายในจีนยังถูกปิดกั้นเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้โรงงานไม่สามารถเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนไปมาระหว่างกัน และไม่สามารถขนส่งชิ้นส่วนไปยังท่าเรือเพื่อส่งออกได้อีกด้วย

รอยเตอร์สระบุว่า โรงงาน 2 แห่งของ “ฟอกซ์คอนน์” ในเมืองเสิ่นเจิ้นและเจิ้งโจว จำเป็นต้องขยายเวลาการหยุดผลิต เนื่องจากอุปสรรคในการขนส่งสินค้า โดยมีพนักงานเพียง 10% เท่านั้นที่เริ่มกลับมาทำงาน

แม้ว่าจีนจะเปิดเส้นทางการส่งออกไปต่างประเทศแล้ว แต่ยังคงจำกัดการขนส่งภายในประเทศ โดย “แจ็กกี้ หยั่น” เจ้าหน้าที่ของ “ไชน่าทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล” ระบุว่า “บางเมืองมีการตั้งจุดตรวจอุณหภูมิร่างกายคนขับรถบรรทุกขนส่ง ขณะที่บางเมืองเจ้าหน้าที่สั่งห้ามการเดินทางบนถนนไฮเวย์โดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนบางเมืองมีการปิดรับรถจากเมืองอื่นด้วยซ้ำ”

ดังนั้น แม้ท่าเรือสินค้าและด่านศุลกากรส่วนใหญ่จะเปิดทำการตามปกติ แต่ข้อจำกัดด้านโลจิสติกส์ภายในประเทศยังคงเป็นปัญหาต่อการส่งชิ้นส่วนเข้าระบบห่วงโซ่การผลิตโลก โดยเจ้าหน้าที่ท่าเรือของฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ท่าเรือเริ่มกลับมาทำงานไม่ถึง 50% เนื่องจากจำนวนเที่ยวเรือขนส่งยังไม่กลับเข้าสู่ระดับปกติ

แม้ว่าจำนวนเรือเข้า-ออกที่ลดลงอาจเป็นผลมาจากการเปิดงานในวันแรก ๆ เท่านั้น จึงทำให้ยังไม่มีการขนส่งมากนัก  แต่อุปสรรคของเครือข่ายโลจิสติกส์ภายในประเทศที่ทำให้ผู้ผลิตสินค้าไม่สามารถจัดส่งสินค้ามายังท่าเรือได้ก็ยังคงเป็นสาเหตุสำคัญ เช่นกัน

อ่านต่อ:
เจซีซีเผยผลสำรวจ บ.ญี่ปุ่นเสี่ยงขาดชิ้นส่วนวัตถุดิบ เซ่นพิษโควิด-19