“ชิดชอบ” คุมคมนาคม 4 เดือน นโยบายสุดโต่ง-เมกะโปรเจ็กต์สุดอืด

อัปเดตล่าสุด 15 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 521 Reads   

18 ก.ค. 2562 วันที่กระทรวงเข้าสู่ยุค “คมนาคมยูไนเต็ด” นำโดย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” พรรคภูมิใจไทย ได้พาสชั้นนั่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก แท็กทีมรัฐมนตรีช่วยอีก 2 คน “ถาวร เสนเนียม” พรรคประชาธิปัตย์ และ “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ” พรรคพลังประชารัฐ ช่วยกันขับเคลื่อนงานภายใต้ “รัฐบาลตู่ 2”

4 เดือนเมกะโปรเจ็กต์ยังอืด

ถึงวันนี้เข้าสู่เดือนที่ 4 ต้องยอมรับตลอดเวลาที่ผ่านมา สปอตไลต์ฉายส่องไปที่ “ศักดิ์สยาม” หนึ่งเดียวคนนี้ อาจจะเป็นเพราะปริมาณงานบนหน้าตักที่รับผิดชอบมากกว่า “ถาวร-อธิรัฐ”
เมื่อลงลึกผลงาน ดูเหมือนว่ายังไม่เป็นที่ปรากฏมากนัก นับจากที่ประกาศออกมาตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่ง โดยเฉพาะเมกะโปรเจ็กต์ในบัญชี มีมูลค่าร่วม 1.9 ล้านล้านบาท อีกหนึ่งความหวังจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แทบจะไม่มีการขยับเขยื้อน นอกจากโครงการเก่าเป็นรอยต่อมาจากรัฐบาลประยุทธ์ 1

ปิดดีลไฮสปีด-ตั้งบิ๊กคมนาคม

ที่เพิ่งปิดดีลไปหมาด ๆ เมกะโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 224,544 ล้านบาท กับกลุ่ม ซี.พี.ที่เจรจากันมาร่วมปี จนมาปิดจ็อบในรัฐบาลตู่ 2 งานนี้มี “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯกำกับกระทรวงมาช่วยบี้ให้เร็วขึ้น

นอกจากไฮสปีดที่เหลือก็เป็นงานตัดริบบิ้นเปิดรถไฟฟ้าหลากสี ทั้งสายสีน้ำเงินต่อขยายช่วงหัวลำโพง-หลักสอง สายสีเขียวหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 แม่สอด-ตองอิน รับมอบรถไฟฟ้าสายสีแดง 2 ขบวนแรก

ที่ไม่เหนือความคาดหมายคือการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม 9 ตำแหน่ง ดันคนใกล้ชิดนั่งเป็นใหญ่เก้าอี้อธิบดีกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก กรมเจ้าท่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจอย่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

ผลงานใหม่ยังไม่ประจักษ์

ส่วนโครงการที่ขายไอเดีย ยังไม่เป็นรูปธรรมให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันทำ Grab ให้ถูกกฎหมาย, เปลี่ยนรถตู้เป็นมินิบัส, คุมรถบรรทุกวิ่งตอนกลางคืน, แก้จราจร ถ.พระราม 2, ซิ่งเลนขวา 120 กม./ชม., นำยางพาราหุ้มแบริเออร์บนเกาะสี, ตั้งจุด checking point 245 จุด, ลดค่าครองชีพประชาชน ล่าสุดไอเดียติด GPS ในรถส่วนบุคคล ที่เกิดดราม่าสนั่นโซเชียล

ขณะเดียวกัน “ศักดิ์สยาม” กำลังตกเป็นเป้า 1 ใน 4 รัฐมนตรี ที่ฝ่ายค้านจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือน ธ.ค.นี้ ทำให้ห้วงเวลานี้ “ศักดิ์สยาม” อยู่ในโหมดเก็บตัว มอบให้ “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย 2 อธิบดีคู่ใจ “จิรุตม์ วิศาลจิตร” อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และ “สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง อัพเดตก้าวหน้างานต่าง ๆ แทน
นายชัยวัฒน์ยอมรับว่า ระหว่างทางผลักดันโครงการจะมีปัญหาบ้าง แต่แก้ไขมาตลอด อยากให้มีการเสนอข้อเท็จจริงไปถึงประชาชนให้ครบถ้วน ไม่ใช่รู้บางส่วน แล้วนำไปเสนอ งานของคมนาคมไม่ใช่ก๋วยเตี๋ยวหรือข้าวผัดชามใหญ่ที่ใครก็ได้มานั่งกิน ข้าราชการมีหน้าที่ทำเพื่อประชาชนจริง ๆ

แจงยิบติด GPS-ยกเลิกรถตู้

ด้านจิรุตม์แจงปมร้อน “ติด GPS รถส่วนบุคคล” ยังอยู่ในขั้นศึกษาให้รอบคอบบนหลักการดูแลความปลอดภัยและไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ส่วนการเปลี่ยนรถตู้เป็นมินิบัส ล่าสุดคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีมติให้รถหมวด 1 และ 4 ประมาณ 6,000 คัน เปลี่ยนเป็นรถตู้ใหม่หรือมินิบัสแบบสมัครใจ และได้ขยายเวลา 180 วัน เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและผลศึกษารองรับว่าไม่มีความคุ้มค่า ส่วนรถหมวด 2 และ 3 ให้เปลี่ยนเป็นมินิบัส แต่ขอเวลาศึกษาข้อมูลเพิ่ม 180 วัน ด้านความคุ้มค่าการลงทุน อุบัติเหตุ จราจร อุปสงค์-อุปทาน เรื่องการพัฒนาแอปพลิเคชัน จะพัฒนาเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ไม่มีการบังคับใช้ การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ ตำรวจจราจรตรวจควันดำรถ ตั้งแต่ 1 ต.ค.จับแล้ว 7,000 คัน

เอาจริงเกาะสียางพารา

ด้านนายสราวุธแจงนโยบายใช้แบริเออร์ยางพารา เกิดจากมีอุบัติเหตุรถข้ามเกาะกลางไปชนรถในอีกทิศทางหนึ่ง จึงสั่งให้กรมและกรมทางหลวงชนบท ทำเป็นเกาะแบริเออร์แทน เพราะแบริเออร์สูงเฉลี่ย 80 ซม. ป้องกันรถเหินข้ามเกาะกลางได้ จะไม่ทุบเกาะกลางเดิม จะเริ่มถนนใหม่และพื้นที่ที่เหมาะสมก่อน

ส่วนการนำยางพารามาหุ้มแบริเออร์ มีกระทรวงพาณิชย์มาช่วยตรวจสอบคุณภาพและต้นทุนการผลิตแล้ว

สายเอเชียซิ่งได้ 120 กม./ชม.

ขณะที่นโยบายเพิ่มความเร็วเป็น 120 กม./ชม. จะเริ่มถนนสาย 32 ช่วงบางปะอิน-แยกหลวงพ่อโอ 150 กม. ช่วง กม.4 ถึง กม.50 เพราะถนนมี 6 ช่องจราจร ต้องปรับปรุงป้ายบอกทาง สีตีเส้น ผิวจราจร และจุดกลับรถ ส่วนอีก 100 กม. ต้องรอปรับจุดกลับรถ จากแบบเกาะกลางเป็นแบบทางลอดและเกือกม้า และกำลังศึกษาอีก 4 เส้นทาง คือ ถ.พหลโยธิน, ถ.มิตรภาพ, ถ.สุขุมวิท และ ถ.เพชรเกษม

หลังปีใหม่ตอกเข็มพระราม 2

ความคืบหน้าการปรับปรุงขยายคันทางเดิม ถ.พระราม 2 จาก 10 ช่องจราจร เป็น 14 ช่องจราจร มีความคืบหน้าที่ 36-37% เดิมมีสถิติรถติดสูงสุดที่ 4 กม. ตอนนี้เหลือไม่เกิน 200 เมตร คาดว่าในเดือน ก.พ. 2563 จะเสร็จเรียบร้อย ส่วนทางยกระดับ ถ.พระราม 2 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย 1 จะให้ผู้รับเหมาสำรวจชั้นดินตามแนวเส้นทางและตั้งสำนักงานโครงการ จะใช้เวลา 3-4 เดือน ด้านหนึ่ง กรมจะร่วมกับ สนข. ออกแบบจำลองการทำงานโครงการ ถ.ทางราบและทางยกระดับแบบ 3 มิติ แสดงการแบ่งเฟสก่อสร้างและบริหารจัดการจราจร คาดว่าจะเปิดหน้างานได้หลังปีใหม่ 2563

จัดโปรโทลล์เวย์-มอเตอร์เวย์

นโยบายลดค่าครองชีพประชาชน กำลังประสาน บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง ผู้รับสัมปทานโทลล์เวย์ ทำโปรโมชั่นผู้ใช้คูปองค่าผ่านทาง ซื้อ 19 ฉบับ แถมฟรี 1 ฉบับ และให้ไปคิดหาโปรโมชั่นให้สอดรับกับการขึ้นค่าผ่านทางวันที่ 22 ธ.ค.นี้

มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี อยู่ระหว่างแก้ พ.ร.บ.กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน 2497 เพื่อเปิดทางกำหนดโปรโมชั่นสำหรับผู้ใช้งานผ่านบัตร M-Pass และ Easy Pass ได้ ในระหว่างนี้ จะลดค่าติดตั้งระบบเหลือ 300 บาท ลดค่าเติมเงินขั้นต่ำเหลือ 100 บาท สามารถเติมเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารต่าง ๆ และ 5 จุดบริการก่อนถึงด่านมอเตอร์เวย์ เพื่อส่งเสริมให้คนหันมาใช้บัตร M-Pass และ Easy Pass มากขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 27% เท่านั้น อีก 70% ใช้เงินสด