สศอ.เร่งศึกษาแนวทางยกระดับทักษะแรงงานภาคอุตฯ ชี้ต้องพัฒนาระบบโครงข่ายทักษะบุคลากรแห่งชาติ

อัปเดตล่าสุด 15 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 524 Reads   

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เร่งศึกษาแนวทางการเตรียมศักยภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ยกระดับทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการตลาดและแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมปัจจุบัน ชี้ภาครัฐต้องเร่งพัฒนาระบบโครงข่ายทักษะบุคลากรแห่งชาติ (National Reskill Platform :NRP) ผ่าน Cyber Platform เพื่อรองรับเศรษฐกิจ 4.0

นายอดิทัต วะสีนนท์  รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า จากการจัดอันดับดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลกประจำปี 2562 ที่จัดโดย World Economic Forum (WEF) แม้ในปีนี้ประเทศไทยจะมีคะแนนรวมที่สูงกว่าเดิม แต่ประเทศคู่แข่งมีคะแนนเพิ่มขึ้นมากกว่าส่งผลให้ไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่ 40 จากเดิมอันดับ 38 ในปี 2561 ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดีบขีดความสามารถในการแข่งขันให้เพิ่มยิ่งขึ้น โดยเฉพาะทางด้านทักษะแรงงาน (Skills) ที่มีคะแนนลดลงจากเดิม สศอ. จึงได้เร่งศึกษาแนวทางการเตรียมแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับและรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางด้านแรงงานผลิตภาคอุตสาหกรรมในทุกระดับให้มีศักยภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรม ทั้งในด้านการผลิตแรงงาน (Supply side) และความต้องการกำลังคนของภาคอุตสาหกรรมไทย (Demand side) โดยศึกษาทั้งในระดับภาพรวมและรายสาขาอุตสาหกรรมที่เป็นความต้องการและจำเป็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ พร้อมศึกษาแนวทางการพัฒนาแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ในสาขาที่เป็นความต้องการและจำเป็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันและสำหรับแนวโน้มในระยะ 5 ปี ข้างหน้า

นายอดิทัต กล่าวต่อว่า แม้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557 - 2561) ผลิตภาพแรงงานโดยรวมของประเทศไทยที่แสดงถึงประสิทธิภาพในการทำงานของปัจจัยการผลิตด้านแรงงานสำหรับใช้เปรียบเทียบผลงานทางด้านเศรษฐกิจมีการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.46  แต่ทว่าผลิตภาพแรงงานโดยรวมของประเทศอาจไม่สามารถเติบโตไปได้มากกว่านี้ถ้าหากไม่มีการดำเนินการหรือออกมาตรการใด ๆ เนื่องจากแนวโน้มปัญหาต่าง ๆ ที่ทวีความรุนแรงขึ้น เช่น การประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน อัตราค่าแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นภาระแก่ผู้ประกอบการ ทักษะทางด้านภาษาและดิจิทัลของแรงงาน รวมถึงแรงงานมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาดที่อุตสาหกรรมหรือภาคบริการต่าง ๆ ที่จะพัฒนาไปสู่ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แรงงานไม่สามารถย้ายไปยังสาขาการผลิตที่ต้องใช้ทักษะที่สูงกว่าได้ นอกจากนี้ จากผลการศึกษาเรื่องผลิตภาพแรงงานในรายอุตสาหกรรมต่าง ๆ พบว่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา มีกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ 15 กลุ่ม หรือจำนวนกว่า 38 ผลิตภัณฑ์ เช่น อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ที่ผลิตภาพแรงงานขยายตัวน้อยกว่าร้อยละ 2.5 ต่ำกว่าเกณฑ์ชี้วัดตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องดำเนินการเตรียมกำลังแรงงานให้มีความสอดรับกับการเกิดอุตสาหกรรมที่มีความสมัยใหม่เพื่อที่จะสามารถรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยการพัฒนาทักษะและความรู้แรงงานให้สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมไทยต่อไป

“ในปัจจุบัน แม้จะมีหลายหน่วยงานที่มีบทบาทในการยกระดับทักษะแรงงาน อาทิ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ฯลฯ แต่ยังขาดหน่วยงานที่จะบูรณาการพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งระบบเพื่อรองรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาระบบโครงข่ายทักษะบุคลากรแห่งชาติ (National Reskill Platform :NRP) ผ่าน Cyber Platform ที่เชื่อมโยงข้อมูลการพัฒนาทักษะแรงงาน การรองรับมาตรฐานอาชีพ สิทธิประโยชน์และฐานข้อมูลด้านแรงงาน (National Skill Big Data) พร้อมสร้างคุณค่าให้กับประกาศนียบัตรโดยให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเริ่มต้นจากภาครัฐก่อน เช่น การนำร่องในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 53 แห่ง เพื่อสร้างมาตรฐาน ยกระดับทักษะบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมให้รองรับระบบเศรษฐกิจ 4.0 อย่างไรก็ตาม การพัฒนาแรงงานภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐไม่สามารถดำเนินการเพียงลำพังได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเตรียมศักยภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมไทยให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม” นายอดิทัต กล่าวปิดท้าย