TOA จัดทัพรุกธุรกิจรถยนต์ คว้าสิทธิ์ “นิสสัน” แบรนด์ที่ 4
ทุนใหญ่สีทีโอเอรุกหนักขยายพอร์ตรถยนต์ คว้า “นิสสัน” เป็นแบรนด์ที่ 4 ต่อจาก “ซูซูกิ-เอ็มจี-เบนซ์” ครบทุกเซ็กเมนต์ ทาบซื้อโชว์รูมจากดีลเลอร์เก่าขยายพรวด 4-5 สาขา ฝั่ง “เอ็มจีซี-เอเชีย” ถอดใจทิ้งนิสสันโยโกฮามา
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนใหญ่จากหลากหลายธุรกิจที่ถาโถมเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกรถยนต์ โดยเสนอตัวเป็นดีลเลอร์ขายรถยนต์ทั้งแบรนด์ยุโรป และญี่ปุ่น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงกลุ่มตัวแทนจำหน่ายเดิมที่เบื่ออาชีพขายรถ ตัดใจทิ้งธุรกิจหันไปจับกิจการอื่นซึ่งทำกำไรมากกว่า มีปรากฏให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง
ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า กลุ่มสีทีโอเอของตระกูลตั้งคารวคุณ ได้บรรลุข้อตกลงกับทางเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย คว้าสิทธิ์เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หรู และอยู่ระหว่างการก่อสร้างโชว์รูมศูนย์บริการขนาดใหญ่เป็นออโตเฮาส์ 500 ย่านถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ใช้เม็ดเงินลงทุน 800-1,000 ล้าน มีกำหนดเปิดเร็ว ๆ นี้ ต่อยอดธุรกิจขายรถซึ่งมีอยู่ 2 แบรนด์ ได้แก่ ซูซูกิ จำนวน 5 โชว์รูม และรถยนต์เอ็มจี ในนามบริษัท เบสท์ ออโต้เซลล์ จำกัด อีก 7 แห่ง
เดินสายช็อปดีลเลอร์เก่า
แหล่งข่าวจากชมรมผู้ค้ารถยนต์นิสสันเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กลุ่มทีโอเอได้เข้ามาเจรจาเพื่อขอซื้อสิทธิ์การเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นิสสันเพิ่มอีกแบรนด์ โดยมีการไล่ช็อปดีลเลอร์นิสสันเก่า ซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานรวมถึงกลุ่มถอดใจไม่ไปต่อตามนโยบายลดจำนวนตัวแทนจำหน่ายเพื่อแบ่งเป็นเขตการขายของบริษัทแม่ ทั้งในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล รวมถึงโชว์รูมต่างจังหวัดโดยเฉพาะในโซนภาคใต้
“ทีมนี้รุกหนักมาก เดินสายเจรจากับตัวแทนขายนิสสันหลายเจ้า โดยมีอดีตผู้บริหารนิสสันซึ่งคุ้นเคยกับกลุ่มดีลเลอร์เก่าช่วยเจรจาด้วย”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า แนวโน้มการเจรจาเป็นไปด้วยดี ได้ความเห็นชอบจากบริษัทแม่นิสสัน น่าจะสรุปได้ไม่น้อยกว่า 4 แห่ง โดยเฉพาะ กทม. และเขตพื้นที่รอบนอก รวมถึงโซนภาคใต้ เพราะนโยบายนิสสันช่วงหลังให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า การเปิดตัวโชว์รูมแนวคิดใหม่ตามแนวคิด Nissan Retail Environmental Design Initiative ประกอบกับธุรกิจรถยนต์ระยะหลังแข่งขันกันรุนแรง ทำให้มาร์จิ้นการขายหดตัวลงมาก ส่งผลให้ดีลเลอร์หลายรายถอดใจอยากเลิกหันไปทำอาชีพอื่น โดยมีตัวอย่างให้เห็นหลายรายตามที่เป็นข่าว เช่น กลุ่มบริษัท สยามนิสสันเซลส์ จำกัด หรือกลุ่มสยามกลการของ ดร.พรเทพ พรประภา ปัจจุบันเหลือเพียง 5 สาขา จากเดิมที่มีมากถึง 13 แห่ง
จ่อซื้อตรัง-พัทลุง
รวมถึงกลุ่มนายเอกภัทร ภัทร์รัศมี นิสสันพัทลุง และนิสสันตรัง ซึ่งเลิกกิจการขายรถไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา จากที่ทำธุรกิจรถยนต์มานานกว่า 25 ปี หันไปลงทุนขยายธุรกิจโรงงานแปรรูปผลไม้-ผลิตขนม เพื่อป้อนให้กับสถานีบริการน้ำมัน ปตท. และเปิดร้านขายของฝากทั้งประเทศ
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า กิจการขายรถยนต์แม้ว่าระยะหลังการแข่งขันจะทำให้ผลประกอบการและกำไรลดน้อยลง แต่ยังมีกลุ่มทุนหน้าใหม่ให้ความสนใจเข้ามาเรื่อย ๆ ล่าสุดกลุ่มวีกรุ๊ป บริษัทในเครือวิริยะฯ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ถึง 7 ยี่ห้อ ประกอบด้วย มิตซูบิชิ, มาสด้า, ซูซูกิ, เอ็มจี, ฟอร์ด, เชฟโรเลต, ฮุนได ให้ความสนใจร่วมเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นิสสันด้วย ขณะที่รายใหญ่ ๆ ก็เริ่มถอยออกเช่นกัน โดยเฉพาะนิสสันโยโกฮามา ย่านวงเวียน 22 กรกฎาคม ของกลุ่มเอ็มจีซี-เอเชีย ค้าปลีกรถยนต์รายใหญ่ของประเทศ
นโยบายยังไม่สะเด็ดน้ำ
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามความคืบหน้าถึงนโยบายแสวงหาผู้จำหน่ายที่มีความชำนาญเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจของนิสสันให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งกับทางนิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) ซึ่งได้รับคำตอบว่า ยังไม่สิ้นสุด และนิสสันพยายามหาวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างความสมดุลระหว่างความมุ่งหวังในการลงทุน และการเป็นผู้ให้บริการลูกค้าของนิสสันที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นปกติของธุรกิจยานยนต์ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงของผู้จำหน่าย ทั้งโอน, ขาย หรือปิดกิจการ
มาสเตอร์กรุ๊ปทิ้ง “โยโกฮามา”
ขณะที่นิสสันโยโกฮามา ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท มาสเตอร์กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด หรือเอ็มจีซี-เอเชีย กล่าวชัดเจนว่า ได้ตัดสินใจยุติบทบาทการเป็นตัวแทนจำหน่าย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป
หลังจากเปิดดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่กรกฎาคม 2557 ส่วนพื้นที่ซึ่งเป็นอาคารหมอมีเดิมสิ้นสุดสัญญาเช่าพอดี