052-โฮมโปร-เปิดตัว-ศูนย์กระจายสินค้า-วังน้อย

โฮมโปรอวดโฉม “ดีซีวังน้อย” 2 พันล้าน เปิดโมเดลธุรกิจใหม่ดึงคู่ค้าลดต้นทุนโลจิสติกส์ 50%

อัปเดตล่าสุด 14 พ.ย. 2562
  • Share :

“โฮมโปร” ทุ่ม 2,000 ล้านพลิกโฉม “คลังสินค้าอัจฉริยะ” (Smart Automation DC) ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดใน South East Asia บนพื้นที่ 250 ไร่ วังน้อย พระนครศรีอยุธยา เล็งเปิดโมเดลธุรกิจใหม่ดึงสตาร์ตอัพ-พันธมิตรคู่ค้ารายย่อยโตไปด้วยกัน (BtoB) บนเครือข่ายขนส่งและกระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภค (BtoC) ที่มีจุด pick up สินค้ามากที่สุด 105 สาขาในไทย และ 6 สาขาในมาเลเซีย คาพาซิตี้ขนส่งวันละ 2.2 แสนพาลเลต จัดเก็บสินค้าได้ถึง 2.95 พาลเลตต่อตารางเมตร เพิ่มขึ้น 245%
 
นายคุณวุฒิ ธรรมพรหมกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ “โฮมโปร” เปิดเผยว่า ปี 2562 โฮมโปรครบรอบก่อตั้ง 23 ปี ภาพรวมการเติบโตของบริษัทประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง สามารถขยายสาขาได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทเปิดบริการโฮมโปร 84 สาขา, โฮมโปรเอส 9 สาขา, เมกา โฮม 12 สาขา และโฮมโปร ประเทศมาเลเซีย อีก 6 สาขา รวมทั้งสิ้น 111 สาขา

ทั้งนี้ นโยบายในการขยายสาขาเน้นเดินหน้าการลงทุนในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC และพื้นที่ต่างจังหวัดในประเทศไทยที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยมีเป้าขยายโฮมโปรให้ครบ 95-100 สาขา, เมกา โฮม 15-20 สาขา และสาขาในมาเลเซีย 8-10 สาขา ภายในปี 2563 มีการลงทุนเฉลี่ยปีละ 5,000-6,000 ล้านบาท

ในโอกาสครบรอบ 23 ปี โฮมโปรได้ดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพภายใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การบริหารคลังสินค้าและการให้บริการการจัดส่ง (DC-distribution center) 2.ช่องทางการจัดจำหน่าย O2O (online to offline) หรือ omnichannel 3.การสร้างประสบการณ์ร่วมกันกับลูกค้า (customer experience) 4.การบริหารจัดการอย่างยั่งยืน (sustainable development)

ทุ่ม 2 พันล้านผุดดีซี 250 ไร่

ล่าสุดบริษัทใช้งบฯลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท ขยายศูนย์กระจายสินค้า (DC-distribution center) ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยการยกระดับให้เป็น smart automation DC เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจและเป็นศูนย์กระจายสินค้าใหญ่ที่สุดในไทย และใหญ่ที่สุดใน South East Asia

รายละเอียด DC ของบริษัทตั้งอยู่บนทำเลยุทธศาสตร์ด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ บนถนนพหลโยธินขาออก เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2543 ปัจจุบันมีพื้นที่จัดเก็บสินค้า 205,177 ตารางเมตร บริหารจัดการด้วยระบบ selective rack โดยใช้กำลังคนเป็นหลัก (man to goods) ใน 4 ขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการ “รับ เก็บ เบิก จ่าย”

ล่าสุดมีการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีระบบคลังสินค้าอัตโนมัติที่ทันสมัยเข้ามาประยุกต์ใช้ ระบบจัดเก็บสินค้า ASRS (automated storage and retrieval system) ระบบ shuttle rack และระบบเบิกจ่ายสินค้าแบบ U pick และ put to light ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุดของโลก โดยมีบริษัท ไดฟูกุ (ไทยแลนด์) จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้รับผิดชอบควบคุมดูแลระบบ

smart automation DC พื้นที่คลังสินค้าอัจฉริยะของโฮมโปร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องต่าง ๆ 7 ด้านด้วยกัน ประกอบด้วย 1.ลดพื้นที่การจัดเก็บสินค้า มีคาพาซิตี้ถึง 2.95 pallet ต่อตารางเมตร หรือเพิ่มขึ้น 245% 2.ลดเวลาการจัดเก็บและเบิกจ่ายสินค้า

3.ลดการเกิดสินค้าชำรุดเสียหาย 4.ลดการใช้กำลังคน 5.ประหยัดพลังงานภายในอาคาร 6.เพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่จัดเก็บและเบิกจ่ายสินค้า และ 7.รันงานผ่านระบบคอมพิวเตอร์ทำให้สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

หนุนเวนเดอร์ลดต้นทุนโลจิสติกส์

ทั้งนี้ DC ใหม่เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ผลักดันให้โฮมโปรมีความได้เปรียบในการแข่งขัน และเป็นกลยุทธ์หนุนหลังเป้าหมายรายได้ปี 2562 จำนวน 60,000 ล้านบาท

ปัจจุบันเวนเดอร์หรือผู้ผลิตสินค้ามีการใช้บริการ DC ของโฮมโปร 78% ของปริมาณสินค้าในภาพรวม ในขณะที่มีสัดส่วน 17% ที่ขนส่งโดยตรงไปยังสาขาโฮมโปร และสัดส่วนเพียง 5% ที่ขนส่งตรงถึงผู้บริโภค

ดังนั้น เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการจัดส่งสินค้าของคู่ค้าหรือเวนเดอร์ ซึ่งมีอยู่มากกว่า 1,000 ราย โฮมโปรมีนโยบายขยายโอกาสทางธุรกิจให้คู่ค้าสามารถเช่าพื้นที่ DC เพื่อบริหารคลังสินค้าของบริษัทได้

โดยมีตารางการจัดส่งใช้เวลา 2 วันในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และ 3 วันในต่างจังหวัด โดยมีรถบรรทุก 6-10 ล้อ 65 คัน รถหัวลากพ่วง 144 คัน รถคอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต และ 45 ฟุต อีก 159 คัน

“เรามีพื้นที่ 50,000 ตารางเมตร ไว้รองรับเวนเดอร์โดยเฉพาะ โดยเวนเดอร์รายใหญ่สามารถประหยัดต้นทุนในการสร้างแวร์เฮาส์แห่งใหม่ ขณะที่รายกลาง-เล็ก ซึ่งเช่าแวร์เฮาส์ที่อื่นอยู่แล้ว สามารถวิ่งส่งสินค้าตรงมาที่ DC โฮมโปรได้เลย ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายขนส่ง 2 ขา เท่ากับถ้าใช้บริการ DC ของเราจะช่วยลดได้ 1 ขา หรือลดค่าใช้จ่ายลง 50% ทันที”

อัพเกรดขนส่งวันละ 10.5 ล้านชิ้น

นายคุณวุฒิกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ smart automation DC จะเข้ามาเสริมเขี้ยวเล็บทางการตลาดให้กับช่องทางการจัดจำหน่ายในโลกยุคดิจิทัลในรูปแบบ omnichannel ด้วยการขยาย platform ช่องทางออนไลน์จาก offline สู่ online (O2O) ซึ่งลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้ด้วยตนเอง สะดวกทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชม.

โดยหน้าร้านมีการปรับ POP และ in-store information เพื่อช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น มีการแสดงรูปตัวอย่างห้อง ภาพ 3D เสมือนจริง ให้ข้อมูลรายละเอียดสินค้าผ่านการสแกน QR code ด้วยสมาร์ทโฟน (QR code for product information)

ขณะที่ในด้านบริการจัดส่งสินค้า special orders โฮมโปรมีบริการ home delivery service ที่มีความถี่ในการจัดส่งวันละ 2 รอบ เวลา 05.00 น. และเวลา 11.00 น. ทุกวัน ด้วยรถปิกอัพ 4 ล้อ 600 คัน โดยมีปริมาณการขนส่งเฉลี่ยวันละ 3.5 แสนชิ้น หรือเดือนละ 10.5 ล้านชิ้น

สำหรับเทรนด์ตลาดโมเดิร์นเทรดวัสดุจนถึงปีนี้ นายคุณวุฒิกล่าวว่า ภาพรวมไม่สามารถคาดหวังสูง ในด้านยอดขายโฮมโปรยังมีตัวเลขเติบโตได้นิดหน่อย แต่ไปโตที่กำไร 12% เพราะได้มาร์จิ้นเติบโตจากกลุ่มสินค้าไดเร็กต์ซอร์ซิ่งที่สัดส่วนเพิ่มเป็น 19% ของพอร์ตสินค้ารวม”

“แนวโน้มปี 2563 ยังไม่มีสัญญาณที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม โฮมโปรยังลงทุนขยายสาขาต่อเนื่อง แต่ต้องโฟกัสทำเลศักยภาพมากขึ้น ส่วนตลาดต่างจังหวัดต้องบอกว่าอาจไม่ใช่จังหวะที่ดีนักในการลงทุน” นายคุณวุฒิกล่าว