อย่ากลัว “ทรานส์ฟอร์ม” ล้มเร็ว-เรียนรู้เร็ว

อัปเดตล่าสุด 14 ธ.ค. 2561
  • Share :
  • 409 Reads   

กระแสของดิจิทัลดิสรัปชั่นยังถาโถมรวดเร็วและรุนแรงต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีอีกหลายองค์กรโดยเฉพาะขนาดกลางและย่อมที่ยังไม่เห็นความสำคัญ เมื่อเร็ว ๆ นี้ในงาน “AIS The Digital Future 2019 : Transformation is Now” ได้ย้ำความสำคัญที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องตระหนัก

“ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ระบุว่า ภาครัฐเป็นส่วนที่ถูกบังคับให้ทรานส์ฟอร์ม เพื่อก้าวให้ทันประชาชนที่ไปสู่ดิจิทัลแล้ว ดังนั้น ภาครัฐต้องเปลี่ยนมุมมองว่าไม่ใช่มีหน้าที่แค่สร้างเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มให้ใช้ แต่ “ต้องดูว่าประชาชนใช้อะไรแล้วปรับใช้ตาม” เพื่ออำนวยความสะดวกที่สุด ซึ่งปัจจุบันภาครัฐมีแนวคิดจะพัฒนาบิ๊กดาต้า และนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลมาเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจ แต่ก็ยังต้องมีการปรับตัวเพื่อเรียนรู้ โดยที่ผ่านมาภาครัฐมีความพร้อมที่จะทรานส์ฟอร์มทั้งระบบและฮาร์ดแวร์ แต่ “บุคลากร” ยังปรับตามไม่ทัน


“ไม่ใช่ว่าภาครัฐไม่ปรับตัว เพียงแต่ยังเอาเทคโนโลยีมาใช้ได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น ประเด็นจึงไม่ใช่ว่ารัฐไม่มีความคิดที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ แต่ยังไม่มีการใช้อย่างจริงจัง ซึ่งการดิสรัปต์เป็นสิ่งที่ขัดขืนไม่ได้ ต้องปรับตัวตามเพื่อความอยู่รอด”
ด้าน “ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า หลายองค์กรธุรกิจรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง ต้องการจะนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่ยังมีความพร้อมในแต่ละกลุ่มผู้ประกอบการที่แตกต่างกัน ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่มีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและเริ่มได้ทันที บางกลุ่มมีความเข้มแข็งแต่ก็ยังขาดในเรื่องขององค์ความรู้ ก็ต้องปรับตัวหาพันธมิตรทางธุรกิจในการช่วยเหลือ


สิ่งที่สำคัญคือ ต้องประเมินตัวเองก่อนว่าพร้อมแค่ไหน มีความเข้มแข็งแค่ไหนและพอมีโอกาสหรือไม่ และควรรีบทำทันทีเพื่อ “รีบเสียบ รีบรุก รีบขยาย” ส่วนกลุ่มที่มีการแข่งขันสูงมองไม่เห็นโอกาสทางธุรกิจหรือไม่สามารถทรานส์ฟอร์มได้ อาจลองปรับเปลี่ยนกิจการเพื่อให้มีโอกาสมากกว่า


“ทุกอย่างต้องทำให้เร็ว ลูกค้าคือ ราชา เอกชนต้องออกผลิตภัณฑ์มาตอบโจทย์ลูกค้า และต้องรีบหาพาร์ตเนอร์เพราะมีการแข่งขันสูง ไม่เช่นนั้นอาจไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง”
ขณะที่ “ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย” ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจองค์กรและการพาณิชย์ จากบริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีไม่มีอันไหนสำคัญกว่ากัน ไม่ว่าจะบล็อกเชน คลาวด์ ดาต้า เอไอ แต่ทุกอย่างสามารถทำงานร่วมกันหมด ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันราคาถูกมากและไม่จำเป็นต้องซื้อ ดังนั้น ไม่ว่าองค์กรจะขนาดใหญ่หรือเล็กก็นำเทคโนโลยีมาใช้ได้หมด


“ในเอเชีย-แปซิฟิกเริ่มนำดาต้ามาใช้งานแล้ว แต่ไทยยังอยู่ที่คลาวด์ ต่อไปต้องขยับไปที่บิ๊กดาต้า และ AI เพราะ AI จะช่วยลดความเสี่ยงและลดต้นทุนได้ 70-80% เมื่อเทียบกับการใช้คนทำงาน แต่สิ่งที่สำคัญในการทรานส์ฟอร์ม คือ ไมนด์เซต โดยเฉพาะแนวคิดห้ามล้มเหลว เพราะปิดกั้นไอเดียใหม่ ๆ สุดท้ายคือโฟกัสที่ธุรกิจหลัก และหาพาร์ตเนอร์มาช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี”


ปัจจุบันดิจิทัลมีความสำคัญต่อการเติบโตของ GDP โดยสามารถขับเคลื่อน GDP ได้ถึง 48% ในเอเชีย-แปซิฟิก ส่วนประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนได้ 40% จึงต้องเร่งปรับปรุงและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพราะทุก ๆ วันนั้นจะเกิดคู่แข่งรายใหม่ เทคโนโลยีใหม่ กฎหมายและลูกค้าที่มีพฤติกรรมใหม่ ๆ ตลอด ต้องกล้าลองผิดลองถูกและทำให้เร็ว


“ถ้าจะทดลองทรานส์ฟอร์มอยากลองเลือกเริ่มที่ข้อใดข้อหนึ่งว่าจะเอ็นเกจกับลูกค้าผ่านเทคโนโลยี นำเทคโนโลยีมาเพิ่มพลังให้กับพนักงาน ทั้งความเร็ว ดาต้าที่ถูกต้อง มีระบบนิเวศให้พนักงานเรียนรู้ มองความคุ้มค่าในการลงทุน หรือเอาเทคโนโลยีมาสร้างบริการใหม่ ๆ ซึ่งโลกในปัจจุบันไม่มีถูกหรือผิด แต่ต้องบาลานซ์ทั้งองค์กรและลูกค้า อย่างไทยตอนนี้กำลังจะเป็นสังคมผู้สูงวัย วัยทำงานเป็นคนยุคมิลเลนเนียล ขณะที่ลูกค้าใจร้อนมาก ดังนั้น อย่าไปคิดนานต้องเริ่มทำเพื่อ fail fast learn fast ใช้สิ่งที่เรียนรู้ไปต่อยอด”