สร้าง Food Truck ไทยไปทั่วโลก เสริมแกร่ง Thailand 4.0

อัปเดตล่าสุด 14 ส.ค. 2561
  • Share :
  • 5,404 Reads   

สปอตไลท์ในงาน Thailand Industrial Expo 2018  โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ส่องมาที่  “Food Truck” ที่จะเข้ามาแปลงโฉม Street Food ยุค Thailand 4.0 และจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการอีกหลายกลุ่ม ทั้งผู้ผลิตและประกอบรถพ่วง รถบรรทุก ผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบ ในอุตสาหกรรมการผลิต และการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น เช่น ผู้ประกอบการด้านซอฟท์แวร์ที่เข้ามานำเสนอโซลูชั่นการบริหารจัดการร้านค้า ผู้ประกอบการด้านอาหารที่จะมีทางเลือกในรูปแบบร้านอาหารที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการแฟรนไชส์อาหารที่สามารถเพิ่มจำนวนแฟรนไชส์ได้อย่างรวดเร็ว เพราะ Food Truck จะลดข้อจำกัดด้านสถานที่

 
เสน่ห์ของ Street Food

ความนิยมของอาหารไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในร้านอาหารริมทางมีสูงมาก นิตยสารฟอร์บสได้จัดอันดับให้อาหารริมทางในกรุงเทพมหานครเป็นอันดับ 1 จาก World Top 10 Cities  for Street Food  โดยเหตุผลเป็นเพราะนักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้ออาหารได้หลากหลายจากร้านอาหารริมทาง ซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญและนับเป็นเสน่ห์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกด้วย

ปัจจุบัน Street Food ได้ถูกหยิบยกให้เป็นหนึ่งในจุดขายด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย รวมถึงมีการจัดตั้งมาตรฐานผู้ประกอบอาชีพ Street Food เพื่อยกระดับให้ได้มาตรฐาน มีความสะอาด ปลอดภัยต่อการบริโภค และหักล้างภาพลักษณ์ร้านอาหารข้างทางเดิม ๆ โดยรัฐบาลมุ่งหวังที่จะผลักดันธุรกิจอาหารริมทางให้กลายเป็น มหาอำนาจทางอาหาร ในอนาคต
 
ธุรกิจ Street Food ในไทยมีมากกว่า 103,000 ร้านทั่วประเทศ คิดเป็นมูลค่าทางการตลาดสูงกว่า 270,000 ล้านบาทต่อปี 

 


 

 

From street to the truck
 
เทรนด์ Food truck เริ่มต้นจากรัฐเท็กซัสในประเทศสหรัฐอเมริกา และแพร่กระจายไปยังรัฐอื่น ๆ ลามไปยังหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย กระแส Food Truck กำลังเป็นที่แพร่หลาย โดยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของตัว Truck ที่จะดึงดูดความสนใจจากผู้คนให้ต้องแวะเวียนเข้ามา ทำให้เติบโตอย่างรวดเร็ว แม้ว่าธุรกิจ Food Truck ในประเทศไทยจะยังอยู่ในช่วง Learning Curve ที่ทุกคนกำลังเรียนรู้ที่จะเติบโต สาเหตุที่ธุรกิจ Food Truck เติบโตได้ไวเป็นเพราะวิถีชีวิตของคนไทยที่ชื่นชอบทานอาหารนอกบ้าน มีอาหารหลากหลายให้เลือกสรร นอกจากนี้ธุรกิจ Food Truck ยังเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการสามารถทำงานได้คนเดียว สามารถลดความเสี่ยงและเพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุนได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องทำเลที่ตั้ง ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเช่าที่ และหากธุรกิจไม่เวิร์ค อย่างน้อยก็ไม่ต้องกังวลเรื่องหมดตัวเพราะยังเหลือตัวรถอยู่ ซึ่งแตกต่างจากร้านอาหารหรือร้านอาหารริมทางที่ถ้าหากขายไม่ได้ก็จะไม่เหลืออะไรเป็นของตัวเอง
 
สร้าง Food Truck ไทย ไปทั่วโลก

นายชนินทร์ วัฒนพฤกษา ผู้ก่อตั้งองค์กรเครือข่ายธุรกิจฟู้ดทรัค หรือ Food Truck Club (Thailand) ได้เปิดเผยว่า ทางฟู้ดทรัคคลับได้นำเอา Food Truck มาแสดงในงานนี้หลายคันเพื่อเชิญชวนให้ผู้ประกอบการร้านริมทางทั่วไปหันมาใช้ Food Truck หรือจุดประกายให้แก่คนรุ่นใหม่ให้หันมาประกอบกิจการ Food Truck มากขึ้น​


โดย Food Truck ที่นำมาจัดแสดงนี้ส่วนหนึ่งเป็นรถต้นแบบที่ยังไม่มีวางจำหน่าย มีการเสริมนวัตกรรมต่าง ๆ ลงไป ทั้งมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคารถ มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด มีการควบคุมระบบไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชัน มีการแจ้งเตือนผ่านระบบ Motion Sensor เมื่อมีคนเข้ามาในรถ
 
นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งถังดักไขมันลงไปอีกด้วย Food Truck แตกต่างจากร้านอาหารริมทางทั่วไปคือเน้นด้านความสะอาดสวยงาม น้ำเสียจากกระบวนการผลิตจะผ่านการกรองเศษอาหารและถังดักไขมันให้เป็นน้ำที่สะอาดเพียงพอในการระบายทิ้งสู่ท่อระบายน้ำได้ 
 
อีกทั้งยังมีการนำ Food Truck ที่ผู้ประกอบการใช้งานจริงเข้ามาอีกด้วย หนึ่งในธุรกิจ Food Truck ที่นำมาจัดแสดงเป็นของเชฟสมพล แย้มหลั่งทรัพย์ ผู้เป็นเจ้าของ Food Truck นาม “Daddy” ที่ไม่ได้เป็นเพียงธุรกิจขายอาหารด้วย Food Truck เท่านั้น แต่ยังเปิดธุรกิจขายแฟรนไชส์ร้านอาหาร Food Truck อีกด้วย 
 
หากถามว่าเป็น Food Truck เสริมแกร่ง Thailand 4.0 อย่างไร คำตอบก็คือ การหันมาใช้งานซอฟต์แวร์เชื่อมต่อกับการบริหารจัดการธุรกิจ Food Truck แบบครบวงจร โดยมีผู้พัฒนาซอฟต์แวร์หลายรายที่จัดทำแอพพลิเคชั่นสำเร็จรูปให้เลือกใช้ตามความต้องการของผู้ประกอบการ ตั้งแต่การรับออเดอร์ การเก็บข้อมูลอาหารเพื่อสรุปรายรับรายจ่ายว่าอาหารจานนี้ใช้วัตถุดิบอะไร ปริมาณเท่าไรและในราคาเท่าไร หรือแม้กระทั่ง การปรับเปลี่ยนเมนูหรือราคาบนป้ายดิจิตอล ก็สามารถทำได้ทันทีอีกด้วย
 
นายชนินทร์กล่าวอีกว่า ต้องการให้เกิดการกระจายธุรกิจ Food Truck ไปทั่วทั้งประเทศ เนื่องจากในปัจจุบันธุรกิจนี้กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นส่วนมาก มีกระจายไปต่างจังหวัดเพียงบางจังหวัดแค่ 30% เท่านั้น หากสามารถกระจายธุรกิจนี้ไปทั่วประเทศได้ก็จะเป็นการสร้างอาชีพให้แก่คนในท้องถิ่นให้สามารถเป็นเจ้าของกิจการด้วยต้นทุนที่ต่ำได้ อีกทั้งยังเป็นการกระจายรายได้ให้แก่คนไทยในธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างการพิมพ์สกรีนลงบนตัวรถ การประกอบตัวรถและผลิตชิ้นส่วนประกอบที่ทำในประเทศไทย เป็นต้น

ปัจจุบันนี้มีสมาชิกอยู่ในฟู้ดทรัคคลับ 560 คันทั่วประเทศ โดยจะแบ่งออกเป็น สมาชิกเจ้าของรถ Food Truck และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Food Truck เช่น ผู้ประกอบยานยนต์ สถาบันสอนทำอาหาร เจ้าของสถานที่ที่อนุญาตให้กลุ่ม Food Truck จอดรถ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นต้น
 
เป้าหมายของฟู้ดทรัคคลับนั้นเรียบง่าย คือ ต้องการขยายธุรกิจนี้ให้เติบโตจนถึง 5,000 คัน ภายใน 5 ปี เพื่อที่จะสามารถแซงหน้าอันดับหนึ่งอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้ การได้เป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจนี้จะสามารถสร้างเศรษฐกิจในประเทศให้โตขึ้น มีการส่งออกแบรนด์ Food Truck ไทยไปทั่วโลก โดยโครงการแรกจะเริ่มต้นเปิดตัวที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาวก่อน