สินค้าอุตสาหกรรมของไทยที่มีศักยภาพ ส่งออกเมียนมา

อัปเดตล่าสุด 22 ม.ค. 2563
  • Share :
  • 1,886 Reads   

สินค้าหลักที่เมียนมานำเข้า คือ น้ำมันกลั่น เครื่องยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงโลหะขั้นต้นและเครื่องจักรไฟฟ้าที่ใช้ในภาคการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาจากจีน รองลงมาคือประเทศในกลุ่มอาเซียน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น สำหรับประเทศไทยแล้ว มีหลายสินค้าอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการส่งออกไปยังตลาดเมียนมา จากความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้ง และเส้นทางการขนส่งที่ยังต้องพึ่งพาประเทศไทยอยู่มาก โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าผ่านแดนที่ด่านแม่สอด นอกจากนี้แล้ว ไทยเองยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เชื่อถือและได้รับการยอมรับในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นอย่างมาก โดยมี 4 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมของไทยที่น่าสนใจพิจารณาทำตลาดที่เมียนมา ซึ่งทางเมียนมาเองก็มีสิทธิประโยชน์ที่จะส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ และสิทธิประโยชน์ทางการค้า ที่จะเป็นตัวช่วยผู้ประกอบการและนักลงทุนตามนโยบายเปิดประเทศเมียนมา

ไทยกับเมียนมา ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ทางการค้า

ข้อมูลในปี 2554 พบว่า ไทยและเมียนมามีมูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 1.85 แสนล้านบาท โดยไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของเมียนมา ขณะที่เมียนมาเป็นคู่ค้าอันดับ 19 ของไทย ส่วนการค้าตามแนวชายแดน ที่ไทยและเมียนมามีเส้นเขตแดนร่วมกันยาวกว่า 2,401 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรและระนอง ส่งผลให้มีการค้าชายแดนตามแนวจังหวัดดังกล่าวหลายจุด ซึ่งข้อมูลในปี 2553 พบว่ามีมูลค่าการค้าชายแดนไทย-พม่าเกิดขึ้นประมาณ 1.37 แสนล้านบาท

4 สินค้าอุตสาหกรรมของไทยที่มีศักยภาพในตลาดเมียนมา

1. สินค้าไอทีโดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริม

จากนโยบายเปิดประเทศ ส่งผลให้สินค้าในกลุ่มโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริม มียอดขายและขนาดของตลาดโตขึ้นเรื่อย ๆ  และสินค้ากลุ่มนี้ยังคงเปิดกว้าง เหมาะกับการพิจารณาลงทุน 

2. สินค้าเกี่ยวกับยานยนต์

รถยนต์และรถจักรยานยนต์ยังคงเติบโตขึ้นทุกปี ทั้งรถใหม่และรถมือสอง รวมทั้งกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่นอะไหล่รถยนต์ อะไหล่รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ รวมถึงอุปกรณ์ดูแลรักษารถยนต์ 

3. สินค้าเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง

สินค้าประเภทนี้จัดเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงมากอันเนื่องมาจากการเร่งขยายระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งจากภาครัฐเองและความต้องการในการสร้างที่อยู่อาศัยของประชาชนและภาคเอกชน ทำให้รัฐบาลต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก

4. เครื่องจักรกลเกษตร

สินค้าที่เกี่ยวข้องกับจักรกลทางการเกษตรเป็นอีกหนึ่งสินค้าขายดีและเป็นที่ต้องการ รวมไปถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มผลผลิต
 
สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน

นักลงทุนจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปีแรกของการประกอบธุรกิจ การยกเว้นภาษีเงินได้จากกำไรสะสมที่นำกลับมาลงทุนใหม่อีกครั้งภายในระยะเวลา 1 ปี หลังจากที่มีกำไรเกิดขึ้น การยกเว้นภาษีศุลกากร สำหรับนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในช่วงระยะเวลาการก่อสร้างสำนักงาน การยกเว้นศุลกากร สำหรับนำเข้าวัตถุดิบเป็นระยะเวลา 3 ปีแรกในการดำเนินกิจการ เป็นต้น สำหรับธุรกิจส่งออกจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ร้อยละ 50 จากผลกำไรที่ได้จากการส่งออก

สิทธิประโยชน์ด้านการค้า

เมียนมามีการทำข้อตกลงทางการค้าแบบทวิภาคีกับหลายประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน ไทย บังกลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน เวียดนาม ลาว ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ภูมิภาคอาเซียน และอีก 6 ประเทศในยุโรปตะวันออก ซึ่งเงื่อนไขและข้อตกลงต่างๆ อยู่บนพื้นฐานของ “ข้อบัญญัติด้วยชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง” (The Most ‟ Favored Nation: MFN) ตามหลักของ WTO นอกจากนี้ ยังมีการทำข้อตกลงการทำการค้าชายแดนกับประเทศจีน (มกราคม 1994, ประเทศบังคลาเทศ (พฤษภาคม 1994) และประเทศไทย (มีนาคม 1996) เพื่อขยายการค้าชายแดนให้มากขึ้น

ผู้ประกอบการที่สนใจพิจารณาลงทุนในประเทศเมียนมาก็อาจถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจในช่วงเวลานี้ เพราะหากปล่อยเวลา ประเทศเมียนมาพัฒนาอย่างเต็มที่ อาจไม่ทันต่อการค้าการลงทุนที่หลั่งไหลมาจากทั่วโลก ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องศึกษากฎหมาย ข้อกำหนดต่าง ๆ เพิ่มเติมอย่างละเอียด

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
https://globthailand.com/market
https://taokaemai.com