หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเยี่ยมชม สถาบัน SIMTec ศูนย์พัฒนาศักยภาพทางการผลิต 4.0
เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2561 คณะผู้แทนกว่า 40 ท่านจาก 14 หน่วยงานเข้าเยี่ยมชมความคืบหน้าของโครงการการจัดตั้งศูนย์เทคนิคแห่งการเรียนรู้ (Technical Learning Academy) ตามบันทึกข้อตกลงภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน 14 หน่วยงาน เพื่อการพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรม 4.0 โดยมีบริษัท เครือสุมิพล จำกัด เป็นแกนหลักในการจัดตั้ง และในโอกาสนี้ คุณจิระพันธ์ อุลปาทร ประธานกรรมการบริษัท เครือสุมิพล จำกัด ได้กล่าวรายงานความคืบหน้าของโครงการ การก่อสร้าง รวมถึงการประกาศชื่ออย่างเป็นทางการของศูนย์เทคนิคแห่งการเรียนรู้เป็น “สถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล” (Sumipol Institute of Manufacturing Technology – SIMTec)
สถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล หรือ SIMTec นี้ ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จนถึงปัจจุบัน ตัวอาคารสถานที่และบริเวณโดยรอบแล้วเสร็จมากกว่า 90% ยังคงเหลืองานด้านระบบและงานตกแต่งภายใน ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นในปลายปีนี้ สำหรับส่วนสำคัญในการจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ คือ ความร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องจักรกลและเครื่องมืออุปกรณ์ ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่จะนำมาติดตั้งเพื่อการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ และการกำหนดหลักสูตร รวมถึงแนวปฏิบัติในการฝึกอบรม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
คุณทองพล อุลปาทร ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับอาคารสถานที่ ห้องเรียนและฝึกอบรม ห้อง Auditorium ห้องสัมมนาหลัก ห้องอาหาร บริเวณจัดนิทรรศการ รวมถึงรายการเครื่องจักรกลและเครื่องมืออุปกรณ์ที่ผู้ผลิตเจ้าของเทคโนโลยีที่จะนำมาติดตั้ง อาทิ
- เครื่องจักรกล CNC Turn Mill 4 แกน เเละ CNC Machining Center 5 แกน
- เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การวัดด้านมาตรวิทยามิติ ที่ครอบคลุมการวัดทั้งระบบ
- เครื่องจำลองความปลอดภัยของงานอุตสาหกรรมมากกว่า 10 ประเภท
- เครื่องมือประเภทหัวจับ (Tooling System) เครื่องมือตัด (Cutting Tools) และอุปกรณ์ตัวจับชิ้นงาน (JIG and Fixtured )
- หุ่นยนต์อุตสาหกรรมเเละระบบสายการผลิตอัตโนมัติในลักษณะ Smart Factory สำหรับการฝึกอบรมฝึกปฏิบัติจริง
- ซอฟต์เเวร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมและระบบงานด้าน IoT อื่นๆ
หลังจากนั้นได้พาคณะผู้แทนชมอาคารสถานที่พร้อมถ่ายรูปร่วมกันที่บริเวณห้องฝึกปฏิบัติการ (Workshop) โดยเปิดให้ทุกหน่วยงานแสดงความคิดเห็นและสอบถามเพิ่มเติมด้วย นอกจากนี้ คุณทองพลยังได้กล่าวถึงแนวทางการจัดตั้ง “คณะกรรมการความร่วมมือสถาบัน” ซึ่งจะประกอบด้วยผู้แทนจากทุกองค์กรและจะพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานในด้านอื่น ๆ ตามความเหมาะสม เพื่อให้การดำเนินการสถาบันเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ในด้านการกำหนดและพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่ม S-Curve 10 คลัสเตอร์นั้น จะมีตัวแทนผู้ผลิตเข้าร่วมด้วย ซึ่งคาดว่าการติดตั้งเครื่องจักรกลและเครื่องมืออุปกรณ์จะสามารถดำเนินการเสร็จลุล่วงในไตรมาสที่ 1/2562 และเริ่มให้การฝึกอบรมในหลักสูตรที่สามารถดำเนินการได้ก่อนประมาณไตรมาสที่ 2 ทั้งนี้ได้กำหนดขอบเขตผู้เข้ารับการอบรมไว้ 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มลูกค้าจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ 2.กลุ่มครูผู้ฝึกสอนจากสถาบันการศึกษาและศูนย์ฝึกอบรมของรัฐ ในลักษณะ Training the Trainer จากวิทยาลัยเทคนิคสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และครูฝึกของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานหรือเครือข่ายของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) 3. นักเรียนนักศึกษาในระดับอาชีวะ และอุดมศึกษา ทั้งนี้จะขออนุญาตจัดตั้งเป็น "โรงเรียนนอกระบบประเภทวิชาชีพ" กระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย
SIMTec ถือเป็นสถาบันแห่งเดียวที่มีการจัดตั้งขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบ คาดการณ์ว่าจะมีการขยายความร่วมมือกับองค์กรทั้งภาครัฐ, เอกชน, และอื่น ๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะโครงข่ายที่อยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมาก เเละมีหน่วยงานในด้านการพัฒนาบุคลากรของภาครัฐและเอกชนในสาขาต่าง ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก ด้วยสถานที่ของ SIMTec ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของการลงทุน ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นในด้านการขยายการเรียนการสอนและพัฒนาทักษะในรูปแบบต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีความเกี่ยวพันกับสถาบัน SIMTec ในด้านการใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมด้านทักษะในการปฏิบัติงานจริง ซึ่งตรงกับความต้องการของทุกอุตสาหกรรม
และเมื่อเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการแล้ว จะสามารถสร้างคุณประโยชน์และเพิ่มศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อก้าวไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ตามนโยบายและความมุ่งหวังของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี โดยจะได้ประกาศหลักสูตรให้ผู้สนใจทราบผ่านทางระบบออนไลน์ต่อไป