049-ซีพี-กองทัพเรือ-อู่ตะเภา-ศาลปกครอง

“ทัพเรือ” ปะทะ “ซี.พี.” วัดดีกรีประมูลเมืองการบินอู่ตะเภา 3 แสนล้านเดือด

อัปเดตล่าสุด 13 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 555 Reads   

ยังคงเป็นที่จับตา หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโครงการประมูลพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2562

ให้คณะกรรมการคัดเลือกฯโครงการ มี “พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์” ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธาน คืนสิทธิ์ “กลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร” มี บมจ.อิตาเลียนไทยฯ บมจ.ช.การช่าง และ บจ.บี.กริม จอยต์เวนเจอร์ โฮลดิ้งส์ เปิดข้อเสนอกล่องที่ 6 เทคนิคและแผนธุรกิจ และกล่องที่ 9 ราคา ที่ยื่นช้าไป 9 นาที หลังกลุ่ม ซี.พี.ยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองให้คุ้มครองฉุกเฉินวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา

ในวันเดียวกันคณะกรรมการคัดเลือกฯเปิดข้อเสนอราคาของกลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น และกลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เตี้ยม บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้, บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น และ บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น

เปิดข้อเสนอราคา 3 กลุ่ม

มีกระแสข่าวออกมาทางลับ “กลุ่ม BBS” ของหมอเสริฐ-คีรี เสนอผลตอบแทนให้รัฐมากสุดทะลุ 3 แสนล้านบาท กลุ่มแกรนด์ฯอยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท ขณะที่ “กลุ่ม ซี.พี.” แม้ซองยังปิดผนึก แต่มีข่าววงในออกมาย้ำหมุดเสนอราคา 1.8 แสนล้านบาท ล่าสุดคณะกรรมการคัดเลือกฯกำลังพิจารณาเทคนิค “กลุ่ม ซี.พี.” พลันที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครอง หากผ่านประเมินจะเดินหน้าเปิดซองราคาให้ได้ผู้ชนะเดือน ธ.ค. และเซ็นสัญญาเดือน ม.ค. 2563

ขณะเดียวกัน ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาคดีอู่ตะเภาเป็นกรณีเร่งด่วน โดยองค์คณะศาลปกครองสูงสุดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา คดีหมายเลขดำที่ อ.381/2562 ระหว่างกลุ่ม ซี.พี.ที่ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีมติไม่รับซองข้อเสนอกล่องที่ 6 กล่องที่ 9 โดยอ้างว่ายื่นเกินกำหนดเวลา ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว ต่อมา “กลุ่ม ซี.พี.” ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลเพราะการให้ยื่นซองข้อเสนอครบถ้วน ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับรัฐมากกว่ายึดถือเวลาเพียง 9 นาที

ซี.พี.-กองทัพเรือแถลงต่อศาล

โดยศาลให้ผู้แทนทั้ง 2 ฝ่ายแถลงด้วยวาจาต่อหน้าศาล ซึ่งกลุ่ม ซี.พี. มี “น.ส.ปะราลี เตชะจงจินตนา” เป็นผู้แถลงโดยเน้นย้ำว่า เรื่องสถานที่ยื่นซองข้อเสนอ ในเอกสารคัดเลือกเอกชน หรือ RFP ข้อ 31 (1) กำหนดว่าเป็นห้องรับรองกองบัญชาการกองทัพเรือ ไม่ใช่จุดลงทะเบียนตามที่กล่าวอ้าง

ซึ่งกลุ่มบริษัทมีเอกสารยื่นจำนวนมากที่เอกชนทุกรายต้องลำเลียง มีเอกสารครบถ้วน ตรวจรับเอกสารพร้อมชำระค่าธรรมเนียมไว้แล้ว รวมถึงกล่อง 6 และกล่อง 9 ดังนั้นจะต้องรับพิจารณา 2 กล่องต่อไป

หากศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอน ไม่ได้ทำให้การแข่งขันยื่นข้อเสนอมีความได้เปรียบ เพราะไม่มีใครล่วงรู้ข้อเสนอรายอื่น ตรงกันข้ามจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐมากกว่า หากเปิดข้อเสนอครบถ้วน และสมเจตนารมณ์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

ถัดมา “พลเรือตรีเกริกไชย วจนาภรณ์” เลขาคณะกรรมการคัดเลือกฯ ผู้ถูกฟ้องคดี แถลงแย้งว่า กรณีห้องรับรองในเอกสารประกาศคัดเลือกเอกชน หรือ RFP กำหนดไว้ว่าส่วนไหนของห้อง มีนาฬิกา 2 เรือน เป็นเชิงสัญลักษณ์บอกเวลา 09.00-15.00 น. จุดอื่นห้องพักคอยไม่มีนาฬิกา

ผู้ยื่นทั้ง 3 กลุ่ม จะมาพร้อมกับซองศูนย์ครั้งที่ 1 ในเวลาลงทะเบียน ถ้าทั้ง 3 รายพร้อมก็ยื่นได้เลย ไม่ต้องรอในห้องพักคอย แต่ไม่มีกลุ่มใดเลยมาพร้อมเอกสารครบถ้วนในครั้งแรก ถ้าไม่พร้อมให้รอในห้องพักคอย รอเชิญให้ไปยื่นกรณีรายที่ 2 และ 3 เอกสารไม่เรียบร้อย ทุกอย่างทำตามเอกสาร RFP

“คดีนี้เป็นประเด็นสำคัญต่อประเทศชาติ กองทัพเรือทำวิธีปฏิบัตินี้มาอย่างต่อเนื่อง โครงการนี้ใช้แนวทางเดียวกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งผู้ฟ้องก็มีสายสัมพันธ์ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงทำสำเร็จก่อน ได้นำ RFP มาใช้ในโครงการอู่ตะเภา แต่กลับประสบปัญหา เกิดจากอะไร”

“ข้อเท็จจริงย่อมเป็นข้อเท็จจริงเอกสารกล่อง 6 กับกล่อง 9 มาเกินเวลา ผู้ฟ้องคดีจำนนต่อหลักฐานเวลา 15.09 น. ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ในเอกสาร RFP กำหนดชัดเวลา 09.00-15.00 น. เกินจากนี้ไม่รับ ได้ตั้งนาฬิกา 2 เรือน ไม่ให้ผิดพลาด เพราะเวลาเป็นสาระสำคัญ แต่ทำไมโครงการนี้ถึงปฏิบัติไม่ได้ ก่อนหน้านี้มีคดีประมูลของกรมทางหลวงชนบทยื่นช้า 39 วินาที เคยตัดสินไปแล้ว ถ้าโครงการนี้พลิกเป็นให้รับ การจัดซื้อจัดจ้างโครงการภาครัฐจะเป็นอย่างไรต่อไป”

“ทั้งนี้ โครงการนี้มีขยายเวลาแค่ครั้งเดียววันยื่นซองจากวันที่ 28 ก.พ. เป็น 21 มี.ค. 2562 เพราะเอกชนทั้ง 42 รายไม่พร้อม คนที่มีอำนาจขยายเวลาคือคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ การที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่ทำงานผิดพลาดนั้นก็ไม่ถูกต้อง”

ยังสร้างค่านิยมไม่ถูกต้อง ถ้าสามารถเข้ามาแข่งขันได้ จะให้ประโยชน์แก่รัฐสูงสุด เพราะยังไม่เปิดราคาไม่สามารถพิสูจน์ได้ สิ่งที่รัฐจะได้ประโยชน์คือความถูกต้อง ซึ่งเอกชนทั้ง 2 ราย คือ กลุ่ม BBS และกลุ่มแกรนด์ฯได้ยื่นหนังสือทักท้วงต่อคณะกรรมการคัดเลือกฯแนบมาตามคำกล่าวแก้อุทธรณ์แล้ว โดยยืนยันความถูกต้องของกระบวนการคัดเลือกและคัดค้านให้ผู้ฟ้องคดีเข้ามาแข่งขันเพราะผิดไปจาก RFP

ทั้ง 2 รายแรกยื่นเอกสารอยู่ในเวลาทั้ง 2 ครั้ง ส่วนผู้ฟ้องคดียื่น 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 มาพร้อมซองศูนย์ ครั้งที่ 2 มา 8 กล่อง และครั้งที่ 3 มาทั้งหมดแต่ขาดซองราคาและแผนธุรกิจ ซึ่งผู้ฟ้องคดีมารอบแรกกับรอบที่ 2 มาประเมินคู่ต่อสู้และเปลี่ยนแปลงข้อเสนอในวินาทีก่อนยื่นซอง แต่ด้วยการจราจรติดขัดทำให้มาไม่ทัน เป็นข้อสังเกตที่สังคมเฝ้ามอง ถ้าศาลรับไว้ การประมูลต่อไปจะไม่มีการยึดเวลา มีประเมินคู่ต่อสู้ การให้ความเมตตาว่าตั้งใจมายื่น แต่ติดปัญหาการจราจร แต่ทำไมรายอื่นสามารถฝ่ามาได้

หวั่นสังคมเคลือบแคลง

“หากศาลพิจารณาให้รับซอง เจ้าหน้าที่รัฐจะท้อแท้ต่อการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เคยเจอเคสแบบนี้ ไม่ให้เวลาเป็นสาระสำคัญ คู่แข่งรายอื่นทำถูกต้อง แต่คนที่ไม่ทำถูกต้องจะได้รับให้เข้าแข่งขัน สังคมจะอยู่กันยังไง ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐเวลาเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช้ให้ใครใช้เป็นดุลพินิจ สร้างค่านิยมใหม่ เงินชดเชยความผิดได้ จะเสนอราคาเวลาไหนก็ได้ แค่ให้ผลตอบแทนรัฐสูง สุดท้ายสังคมจะเคลือบแคลงสงสัย คดีนี้มีอะไรหรือเปล่า เพราะชัดว่าเลยเวลา แค่มีเงินจ้างทนายมือหนึ่ง ก็เข้าสู่การแข่งขันได้”

ขอความกรุณาต่อศาลดำรงความถูกต้อง โปร่งใส ยุติธรรมให้ประเทศชาติ คดีนี้สำคัญและเกี่ยวข้องกับระบบจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ เพราะรัฐมุ่งหวังให้อู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 วงเงินลงทุนสูงสุด 2.7 แสนล้านบาท คณะกรรมการคัดเลือกฯเสนอต่อศาลนำคดีนี้เข้าสู่ที่ประชุมศาลปกครองสูงสุด

จากนั้นศาลให้ตุลาการผู้แถลงคดี โดยคำแถลงคดีไม่ผูกพันกับการตัดสินขององค์คณะตุลาการในคดี โดยนายเชี่ยวชาญ สุขช่วย ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้นประจำศาลปกครองสูงสุด ได้แถลงว่า จากการพิจารณาคดีในประเด็นสำคัญของการยื่นเอกสารการประมูลโครงการ ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯในฐานะผู้ถูกฟ้องในคดีได้ตัดสิทธิ์การประมูลของผู้ถูกฟ้อง เพราะยื่นประมูลไม่ทันในเวลา 15.00 น. ของวันที่ 21 มี.ค. 2562

และได้พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2562 พ.ร.บ.การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 2561 พ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2562 เอกสารตาม RFP รวมทั้งการให้ข้อมูลและการชี้แจงของทั้ง 2 ฝ่ายที่ได้นำเสนอในศาลปกครองชั้นต้นแล้ว

มีข้อเสนอว่า การดำเนินการโครงการนี้ เป็นการยื่นข้อเสนอโครงการใหญ่มีเอกสารจำนวนมาก ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ กระบวนการที่ชัดเจนตรวจรับเอกสาร ซึ่งภาครัฐในฐานะผู้ประมูลจะเป็นผู้กำหนดให้เกิดความเป็นธรรมแก่เอกชนทุกราย ในข้อเท็จจริงให้ยื่นลงทะเบียนก่อนให้นำเอกสารต้นฉบับไปไว้ที่ห้องรับรองต่างประเทศและกองทัพเรือให้เอกชนจัดการเอกสารได้อย่างอิสระ มีเพิ่มลดบางรายการ และให้ทยอยนำเอกสารยื่นกับคณะกรรมการคัดเลือกฯ รายแรกคือ กลุ่ม BBS ยื่นเวลา 15.00 น. ตามด้วยกลุ่มแกรนด์คอนซอร์เตี้ยม และกลุ่มธนโฮลดิ้งเป็นรายสุดท้าย

ตุลาการแถลงกลับคำศาลชั้นต้น

การยื่นเอกสารเป็นการทยอยเข้ามาเป็นระยะ ๆ มีการรับรองเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรและไม่มีท้วงติงในขณะนั้น ส่วนภาพนิ่งระบุว่าขนเอกสารเข้ามาเวลา 15.09 น. ก็ไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงว่าจะทำให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบในการประมูลแต่อย่างไร

ส่วนข้อทักท้วงการยื่นเอกสารล่าช้า ทำให้เกิดข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบกับผู้ประมูลอีก 2 ราย ไม่สามารถอ้างได้ เพราะผู้ยื่นรายที่ 3 ไม่อาจล่วงรู้รายละเอียดเทคนิคและราคาของรายอื่นได้ เนื่องจากเอกสารถูกเก็บไว้ในห้องนาวีคลับ โดยเห็นว่าการพิจารณาเอกสารของทุกรายอย่างเป็นธรรม จะทำให้รัฐได้ประโยชน์จากการแข่งขันมากที่สุด

กล่าวโดยสรุปจึงมีความเห็นว่าศาลปกครองสูงสุด ควรมีการเพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ไม่รับเอกสารการประมูลของผู้ฟ้องคดี และกลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

เป็นเพียงยกแรก ยังมียกสองลุ้นระทึกกันต่อ คดีนี้จะพลิกหรือยืนตามศาลชั้นต้น แต่ไม่ว่ากลุ่ม ซี.พี. หรือกลุ่มคีรี-หมอเสริฐ ใครจะคว้าสัมปทาน 50 ปีอู่ตะเภา ตอนนี้มีแต่รัฐที่ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะเอกชนเสนอเกินราคาตั้งต้น 59,224 ล้านบาทแบบถล่มทลาย