ดีป้าปลุกไทยอัพสกิลแรงงาน ผนึกยักษ์ IT ปั้น 84 หลักสูตรป้อนตลาด

อัปเดตล่าสุด 13 มิ.ย. 2562
  • Share :

“ดีป้า” เผยผลสำรวจเทรนด์เทคโนโลยีแห่งอนาคต ปลุกธุรกิจไทยปรับตัว มุ่ง 6 เทคโนโลยี โฟกัส “เอไอ-ไอโอที-ดาต้าอนาไลติกส์” จับมือเอกชนไทย-ยักษ์ต่างชาติปั้น 84 หลักสูตรพัฒนาคน พร้อมเสนอรัฐบาลใหม่ ตั้งเป้าสร้าง 40,000 คนดิจิทัลใน 2 ปี
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า ดีป้าได้ร่วมกับบริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน (ไทยแลนด์) จำกัด คาดการณ์อนาคตเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทย ในระยะ 5 ปี 10 ปี และ 15 ปี เพื่อให้สะท้อนถึงโอกาสและความเป็นไปได้สำหรับการขับเคลื่อนดิจิทัลไทยแลนด์

โดยพบว่าในระยะเร่งด่วน 5 ปี (2563-2568) ไทยควรมุ่งเน้นใน 6 เทคโนโลยี ได้แก่ 1.IOT ในภาคการขนส่ง โทรคมนาคม เกษตร การผลิต ยานยนต์ และสาธารณสุข 2.AI ในการเงิน โทรคมนาคม การค้าและบริการ สาธารณสุข และอุตสาหกรรมยานยนต์ 3.Data Analytics ในภาคการเงิน ขนส่ง โทรคมนาคม การผลิต การค้าและบริการ การท่องเที่ยว โรงแรม และสาธารณสุข 4.5G ในภาคการเงิน โทรคมนาคม พลังงาน และยานยนต์ 5.บล็อกเชน ในภาคการเงิน สาธารณสุข ค้าปลีก และ 6.ออโตเมชั่น ในภาคการผลิต ขนส่ง ยานยนต์

ขณะที่ในระยะ 10 ปี และ 15 ปี ยังเน้นใน 6 เทคโนโลยี แต่ต้องทำให้ฉลาดขึ้น และเน้นเทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวติ้งเพิ่มเติม

สิ่งที่ไทยต้องเพิ่มเร่งด่วน 1.พัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจไทยด้าน AI, IOT และ data analytics ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะการเกษตร การผลิต การบริการ ท่องเที่ยวและสาธารณสุข 2.อุดช่องว่างเรื่องบุคลากรดิจิทัลที่ขาดแคลน

3.ตั้ง Center of Technology Excellence เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี 4.สร้างแพลตฟอร์มความรู้ ทั้งในระยะยาวต้องเน้นไปสู่ Deep Technology รวมถึงยกระดับ SMEs และสตาร์ตอัพไทย

ด้านดีป้ามุ่งพัฒนาคนเป็นหลัก เนื่องจากไทยผลิตบุคลากรด้านไอทีได้ปีละ 20,000 คน มีเพียง 13,000 คนที่ทำงานตรงสาย ขณะที่ภาคเอกชนต้องการแรงงานถึง 40,000 คน/ปี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสมาร์ทดีไวซ์, ออโตโมทีฟ, ดิจิทัลซอฟต์แวร์, ดิจิทัลคอนเทนต์, โทรคมนาคมและดิจิทัลเซอร์วิส

“แผนการเพิ่มบุคลากร มีแนวทางปฏิบัติเบื้องต้น คือ 1.ให้ Smart VISA เพื่อดึงแรงงานต่างชาติ ทำมาแล้ว 1 ปี แต่ดึงมาได้เพียงหลักร้อย เนื่องจากองค์กรยังไม่ตื่นตัว ทั้งบางประเทศต้องการแรงงานเหล่านี้เช่นกัน 2.ร่วมกับภาคเอกชนรวบรวมหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นได้พูดคุยกับกูเกิล ไมโครซอฟท์ หัวเว่ย ซิสโก้ และมหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้แล้ว 84 หลักสูตร ทั้งเพื่อ reskill, up skill และ new skill”

ทั้ง “ดีป้า” จะให้สิทธิพิเศษ tax incentive program กับบริษัทที่ส่งพนักงานมาเรียน และเปิดให้ได้รีสกิลเรียนควบคู่กับวิชาชีพเดิม

“หลักสูตรต่าง ๆ 60% เรียนออนไลน์ และจะหามหาวิทยาลัยเป็นโหมดเรียนออฟไลน์ ซึ่งดีป้าได้เสนอแผนต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งนายกฯ เห็นว่าเป็นเรื่องระดับประเทศจึงจะนำเรื่องนี้เสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่เพื่อให้ทำงานต่อเนื่อง คาดว่าจะเริ่มได้ในไตรมาส 4 ตั้งเป้าผลิตคนให้ได้ 40,000 คนใน 2 ปี”