“อรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อาเซียนลุยเปิดเสรีบริการ-ลงทุน

อัปเดตล่าสุด 15 เม.ย. 2562
  • Share :
  • 679 Reads   

ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 25 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน 2562 ที่ จ.ภูเก็ต ไทยในฐานะเจ้าภาพ ไม่เพียงต้องเตรียมวาระสำคัญให้อาเซียนร่วมกันผลักดัน 13 เรื่องเท่านั้น แต่ในการประชุมครั้งนี้ยังมีวาระเรื่องการลงนามความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Trade in Services Agreement : ATISA) และความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement : ACIA) ซึ่งทั้ง 2 ความตกลงได้ข้อสรุปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2561 ถือว่ามีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนภาคบริการและภาคการลงทุนในอาเซียน

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “อรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ถึงความตกลงดังกล่าว

Q : สาระความตกลงทั้ง 2 ฉบับ

ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ ATISA นี้เป็นฉบับใหม่ จากเดิมเป็นความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services) AFAS ซึ่งในรายละเอียดจะพูดถึงรูปแบบการเปิดเสรีการค้าบริการรูปแบบใหม่แบบ negative list คือ บริการใดที่ไม่พร้อมเปิดเสรีจะใส่ไว้ว่า “ไม่เปิดเสรี” จากแบบเก่าที่จะเป็น positive list คือ บริการที่พร้อมเปิดเสรีจะใส่ไว้ในข้อตกลงว่า “จะเปิดเสรี” โดยรูปแบบใหม่นี้จะใช้จัดทำความตกลงใหม่ ๆ ที่เจรจากัน เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) หรือในเอฟทีเอใหม่อีกหลายฉบับ

นอกจากนี้ ATISA ทำในรูปแบบความตกลง ก็จะใส่ข้อบทต่าง ๆ ที่จะดูแลด้านการค้าบริการ โดยให้ความสำคัญกับหลักการเดียวกับหลักการของ WTO เช่น ต้องปฏิบัติกับนักธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาเช่นเดียวกับนักลงทุนในประเทศ หรือหากจะมีการกำหนดกฎระเบียบอะไรก็จะต้องมีความโปร่งใส ฉะนั้น อันนี้เหมือนเหรียญ 2 ด้าน ไม่ใช่แค่ไทยที่ทำ แต่อาเซียนอื่นก็ต้องทำด้วย

Q : กลุ่มสินค้าบริการใน Negative List 

ตอนนี้ยังไม่คุยลงลึกถึงจำนวนธุรกิจในลิสต์ แต่เป็นการให้ความเห็นชอบร่วมกันว่า หากจะมีการหารือเรื่องนี้ในอนาคตต้องเป็นรูปแบบ negative list เท่านั้น ซึ่งรูปแบบนี้สามารถใส่รายการสาขาธุรกิจบริการที่มีทั้งโลกนี้ทั้งหมด 155 สาขาบริการ ข้อสงวนไว้ได้ว่าไม่พร้อมอันไหนก็ใส่ไว้

Q : ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจาก ATISA

นักธุรกิจด้านการค้าบริการของไทย เริ่มเข้าไปให้บริการในต่างชาติ โดยเฉพาะในอาเซียนมากขึ้น ทั้งเวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย หรือเมียนมา ฉะนั้น ตามความตกลงนี้อาเซียนก็ต้องปฏิบัติกับนักธุรกิจไทยอย่างนั้นเช่นเดียวกันกับประเทศเขา ถือเป็นประโยชน์กับนักธุรกิจทั้งสองฝ่าย อีกส่วนหนึ่งความตกลงนี้จะเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอาเซียน และมีเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการด้วยก็จะมีประโยชน์

อีกจุดที่เรามองจะเป็นการยกระดับมาตรฐานการดูแลธุรกิจบริการของอาเซียนให้มากขึ้น ลดอุปสรรค อะไรที่ไม่จำเป็นในธุรกิจบริการ เพราะต้องยอมรับว่าธุรกิจบริการเข้ามาบริการมากขึ้น รูปแบบบริบทการค้าเปลี่ยนแปลงไป เช่น การนำการค้าบริการออนไลน์ ระบบดิจิทัลมาให้บริการ ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มนี้ และที่สำคัญยังเกี่ยวข้องกับประเภทธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพทั้งด้านการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร สุขภาพ ก่อสร้าง และด้านการจัดประชุมและจัดนิทรรศการ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย

Q : ความตกลงด้านการลงทุน ACIA 

ความตกลงด้านการลงทุนมีมาหลายฉบับแล้ว แต่ฉบับที่จะลงนามกันในเดือนเมษายนนี้ จะเป็นฉบับที่แก้ไขความตกลง ACIA ฉบับที่ 4 โดยจะปรับปรุงความตกลงส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขของภาครัฐ ล่าสุดกำหนดว่าห้ามรัฐกำหนดเงื่อนไขกับนักลงทุน เช่น รัฐอาจกำหนดว่าถ้าจะมาลงทุนในไทยลงทุนได้แต่ต้องส่งออกไปตลาดนี้เท่านั้น เงื่อนไขแบบนี้จะไม่สามารถกำหนดได้ ซึ่งอาเซียนอื่นก็ทำกับเราไม่ได้เช่นกัน โดยหลังจากลงนามแล้วจะมากำหนดรายละเอียดถึงนิยามอีกครั้งว่าเงื่อนไขดังกล่าวหมายถึงอะไรบ้าง

Q : บทลงโทษตามข้อตกลง

หากมีประเทศใดกำหนดเงื่อนไขกับนักลงทุน ตามความตกลงถือว่าทำไม่ได้ก็ต้องมาคุยกัน ซึ่งพอห้ามรัฐกำหนดเงื่อนไขจะทำให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น เพราะความตกลงนี้จะช่วยสร้างความชัดเจน ทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนในภูมิภาคอาเซียน

Q : การบังคับใช้หลังลงนาม

หลังจากลงนามแล้ว แต่ละประเทศก็จะให้สัตยาบัน กระบวนการภายในประเทศ เช่น ผ่านรัฐสภา ซึ่งเราจะถือโอกาสนี้ในการลงนาม และมีผลบังคับใช้

Q : 13 ประเด็นท้าทายอาเซียน 

นอกจากการลงนามความตกลง 2 ฉบับแล้ว จะมีการรายงานความคืบหน้าในการจัดทำร่างปฏิญญาว่าด้วยการเตรียมความพร้อมของอาเซียน สู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ซึ่งในส่วนของไทยกระทรวงอุตสาหกรรมยกร่างเพื่อเตรียมว่าหากจะเข้าสู่ยุคนี้ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง ซึ่งหนึ่งในนั้นไฮไลต์สำคัญจะเป็นการเตรียมพร้อมในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในภาคการผลิต และการพัฒนาทักษะแรงงานรองรับอุตสาหกรรม 4.0

และประเด็นที่ท้าทายที่สุดคือการปิดรอบการเจรจาความตกลง RCEP หากสำเร็จอันนี้คือ บิ๊กแบงก์ของไทย เพราะจับต้องได้และเห็นประโยชน์ชัดเจน RCEP คือ อาเซียน+6 มูลค่าการค้าสูง

Q : แก้ปมมาตรการทางการค้าอาเซียน 

เรื่องนี้ไม่ได้เป็น 13 ประเด็นที่เป็นวาระในการประชุมอาเซียนรอบนี้ แต่เป็นเรื่องที่อาเซียนทำงานกันอยู่แล้ว แต่ต้องทำความเข้าใจ ว่า Non-Tariff Measures : NTMs ซึ่งไม่ใช่ว่าผิด เพราะไม่ว่าจะเป็นมาตรการอะไรก็ตามที่ดูแลผู้บริโภคให้ปลอดภัย เช่น มาตรการด้านสุขอนามัย (SPS) มาตรการทางเทคนิค (TBT) มาตรฐานสินค้า หรือมาตรฐานสิ่งแวดล้อม สามารถทำได้หากสอดคล้องกับองค์การการค้าโลก (WTO) เพียงแต่หากจะนำมาตรการเหล่านี้มาใช้ต้องมีความโปร่งใส ประกาศให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรู้ หรือมีการพูดคุยกันก่อนใช้ เมื่อมีการใช้แล้วให้สามารถตรวจสอบได้ แต่สิ่งที่อาเซียนไม่เอา คือ Non-Tariff Barriers : NTBs หรือมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับ WTO ไม่ถูกต้อง

Q : แนวทางการแก้ไข 

อาเซียนอยู่ระหว่างจัดทำ big data ว่าแต่ละประเทศจะมีกฎระเบียบอะไรสินค้าใดบ้าง ตรวจสอบผ่านระบบได้ ซึ่งจะสะดวกกับผู้ประกอบการ เป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งอาเซียนมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้าและลดต้นทุนการทำธุรกรรมลง 10% ในปี 2020 และเพิ่มมูลค่าการค้า 2 เท่าในปี 2025