“สุริยะ”นำทีมผู้บริหาร ก.อุตฯ ถก ส.อ.ท.หาแนวทางช่วยภาคอุตสาหกรรมไทย

อัปเดตล่าสุด 11 ส.ค. 2562
  • Share :

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 62 ที่ผ่านมา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี และผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ยุค 4.0 ด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย และรับมือปัญหาสงครามการค้า พร้อมกำหนดความร่วมมือขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดยนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมประชุมหารือกับนายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในโอกาสเยี่ยมเยือนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถึงปัญหาบรรยากาศการค้าโลกที่ซบเซา และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมถึงพิษจากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงมากส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยต่อเงินหยวนแข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาสินค้าไทยแพงขึ้นในสายตาผู้นำเข้าจีน  โดยระบุว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยที่มีสัดส่วนการค้ากับจีนมากที่สุดเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกที่หดตัวลงในช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม ไทยสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้และอาจเป็นจังหวะดีสำหรับนักลงทุนภาคอุตสาหกรรมไทยที่จะสามารถซื้อเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัยในราคาที่ถูกลงในการใช้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาพรวมในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยการยกระดับให้ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเอเชียด้วยการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานเข้ากับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคเอเชีย เชื่อมโยงการขนส่งทางกายภาพและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและเทคโนโลยีด้วยการเร่งรัดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมการจัดการเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล EECd และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเพื่อรองรับการลงทุนวิจัย รวมถึงการประสานภาคเอกชนดำเนินการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) กับโครงการ EECd ให้เป็นเมืองอัจฉริยะตัวอย่างและจุดดำเนินการ 5G และนวัตกรรม EECi ให้เป็นรูปธรรม และเตรียมใช้บริการจาก EECi ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งผมเห็นว่าการดำเนินการทั้งหมดของรัฐบาลรวมถึงแนวนโยบายใหม่ ๆ ที่มีการสนับสนุนและส่งเสริมให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะสามารถพยุงสถานการณ์เศรษฐกิจและพลิกฟื้นกลับมาได้อย่างแข็งแกร่ง 

สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในสภาวการณ์ที่ชะลอตัวจากหลายปัจจัยจะต้องทำในระยะยาวไม่ใช่เพียงแค่การฉีดยากระตุ้นแก้อาการในแต่ละครั้ง โดยเป็นโอกาสดีในการร่วมแรงร่วมใจระหว่างภาครัฐและเอกชนในการเร่งการยกระดับพื้นฐานด้านสังคมพร้อมไปกับภาคอุตสาหกรรม โดยการพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อสนองตอบความต้องการภาคการผลิตและบริการ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวทางร่วมกับกระทรวงแรงงาน ในการพัฒนาและสร้างกลไกการ reskill ให้กับผู้ประกอบการในโรงงานให้สอดคล้องและรองรับเทคโนโลยีใหม่ การพัฒนาระบบอาชีวศึกษาและดึงเอกชนมาร่วมมืออย่างเต็มที่ รวมถึงผลักดันมหาวิทยาลัยให้ปรับตัวเพื่อผลิตบุคคากรที่จบแล้วมีงานทำมีรายได้สูง ขณะนี้เดียวกันกระทรวงฯ ยังมีแนวทางผลักดันมาตรการสำคัญที่ไม่เพียงแต่ดูแลอุตสาหกรรมใหญ่ แต่มีแนวทางที่จะยกระดับปัจจัยพื้นฐานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน และให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอีมาโดยตลอด ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตระหนักถึงความท้าทายของการนำมิติงานด้านต่างประเทศมาเป็นกลไกส่งเสริมบทบาทภารกิจของภาคอุตสาหกรรมในการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยกับเศรษฐกิจโลก ภายใต้ความร่วมมือกับ ส.อ.ท. ในการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตของอุตสาหกรรมไทยกับประเทศเป้าหมาย เพื่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อภาคอุตสาหกรรมผ่านความร่วมมือร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชน ในการสนับสนุนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การเชื่อมต่อ Logistics และ supply chain โอกาสและลู่ทางการลงทุน มาตรการจูงใจต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมทุกด้านไม่เฉพาะมาตรการทางด้านภาษี กฎระเบียบทางการค้าและการลงทุนที่เกี่ยวข้องของประเทศในภูมิภาคในการส่งเสริมการลงทุนที่เหมาะสม

“กระทรวงฯ และ ส.อ.ท. มีกลไกความร่วมมือที่สำคัญคือคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดของประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับมาตรการความร่วมมือในการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่หดตัวจากภาวะหลายปัจจัย รวมถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ ของทุกหน่วยงานในกระทรวงฯ เช่น ความร่วมมือในการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (สมอ.) ความร่วมมือในการใช้ระบบกำกับดูแลโรงงานรูปแบบใหม่ ผ่านระบบการประเมินและรับรองตนเองของผู้ประกอบการ (Self-Declaration) โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ความร่วมมือในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ของเสียอย่างเป็นระบบเพื่อเพิ่มอัตราการนำขยะหรือของเสียกลับมาใช้ประโยชน์สูงสุดตามแนวคิด Circular Economy โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และมาตรการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงด้วยการบูรณาการระบบ Big Data เข้ามาใช้ในการดำเนินการ โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ซึ่งมีกำหนดการหารือเพื่อถกหาทางการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในวันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2562” นายสุริยะ กล่าว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเสริมว่า  การหารือวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงาน เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดย ส.อ.ท. ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้ ยุทธศาสตร์ของ ส.อ.ท. 5 ด้าน คือ 1. สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม 2. เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมไทย 3. ยกระดับ SMEs และส่งเสริม Made-in-Thailand 4. เสริมสร้างธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม 5. ยกระดับทักษะ ความรู้และคุณภาพชีวิตทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ส.อ.ท. ได้มีการนำเสนอแนวทางการส่งเสริมเพื่อกำหนดเป็นกรอบในการดำเนินงานร่วมกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมในทุกมิติ ดังนี้ 

1.การสร้างความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน ด้วยคณะอำนวยการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม โดยอาศัยกลไก ทั้งในระดับอุตสาหกรรมด้วยความเชื่อมโยงของ 11 สถาบัน และ กลุ่มอุตสาหกรรม/คลัสเตอร์ และในระดับพื้นที่ด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด  2. ผลักดันนโยบาย Made in Thailand  เป็นวาระแห่งชาติ 3. เร่งการพัฒนา Ease of Doing Business ของทั้งภาครัฐและเอกชน 4. การพัฒนาระบบ Self - Declaration เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอนุมัติอนุญาตของกระทรวงอุตสาหกรรม และนำไปสู่การสร้างระบบ Big Data 5. การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมภายใต้ พ.ร.บ. โรงงาน ที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการ SMEs 6. การช่วยเหลือ SMEs เข้าถึงสินเชื่อธนาคาร SME ด้วยระบบ Credit Score.