จับตา อุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน 2019

อัปเดตล่าสุด 8 ก.พ. 2562
  • Share :
  • 520 Reads   

ตลาดสมาร์ทโฟนยังคงผันผวน ทั้งราคาหุ้นที่ไม่แน่นอน ราคาเครื่องที่พุ่งสูงเกินความพึงพอใจของผู้บริโภค สมรรถภาพของตัวเครื่องที่มาถึงจุดอิ่มตัว ความต้องการสมาร์ทโฟนที่มีอายุการใช้งานยาวนานมากขึ้น และความต้องการเปลี่ยนเครื่องใหม่ที่ลดลงตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีการปรับยอดคาดการณ์ผลกำไรของ Apple ให้ต่ำลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นอย่างยิ่ง

และเมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา Apple ได้ประกาศปรับลดยอดคาดการณ์ผลประกอบการลง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการวางจำหน่าย iPhone ส่งผลให้เกิดความสั่นสะเทือนในภาคอุตสาหกรรมว่า Apple กำลังจะเข้าสู่ขาลง และจะมีอนาคตที่ย่ำแย่กว่านี้หรือไม่

ถัดมาในวันที่ 29 เดือนเดียวกัน Apple เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 4 ปี 2018 ยอดขายรวมทั้งหมดของบริษัท ปิดที่ 84,310 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากไตรมาสก่อน 4.5% ซึ่งเป็นการลดลงของผลกำไรครั้งใหญ่ที่สุดของบริษัท ซึ่งเป็นผลจากยอดขาย iPhone ที่ลดลงเป็นอย่างมาก

Mr. Tim Cook CEO บริษัท Apple กล่าวว่า "ยอดขายที่ลดลงนี้ เป็นผลกระทบจากสงครามการค้าจีน - สหรัฐ และแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ผู้ซื้อ iPhone รุ่นก่อนหน้าสามารถใช้เครื่องเดิมต่อได้นานขึ้นกว่าเดิม"

รายงานจาก International Data Corporation (IDC) สำนักวิเคราะห์ค่ายสหรัฐฯ ระบุว่า ในปี 2018 Samsung มีส่วนแบ่งในตลาดสมาร์ทโฟนอยู่ที่ 20.8% ซึ่งมากเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วย Apple ที่ 14.9% และ Huawei ที่ 14.7% ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 2 บริษัทนี้ มีจำนวนยอดขายสมาร์ทโฟนต่างกันเพียง 2.8 ล้านเครื่องเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากนับเพียงไตรมาสสุดท้าย พบว่า Apple ทำยอดได้ลดลงจากปี 2017 11.5% ในขณะที่ Huswei ทำยอดได้มากขึ้น 43.9%

ส่วนยอดจัดส่งสมาร์ทโฟนทั่วโลกนั้น ในปี 2018 มียอดรวมทั้งหมดอยู่ที่ 1,449 ล้านเครื่อง ลดลงจากปี 2017 4.1% และเป็นการลดลงต่อเนื่องนับเป็นปีที่ 2 ซึ่งผู้เกี่ยวข้องในแวดวงเซมิคอนดัคเตอร์ กล่าวแสดงความเห็นว่า “เป็นเพราะสมาร์ทโฟนของ Apple มีราคาสูง แต่ไร้ความแปลกใหม่”

โดยทั่วไปแล้ว สมาร์ทโฟนจะออกโมเดลใหม่ 1 ปี ส่วน iPhone ของ Apple จะออกรุ่นใหม่ทุก 2 ปี อีกทั้งยังมีจำนวนรุ่นน้อย ทำให้สามารถผลิตจำนวนมากเพื่อลดต้นทุนการผลิตได้ อย่างไรก็ตาม การที่มีจำนวนรุ่นน้อยและเน้นผลิตจำนวนมาก ส่งผลให้การแก้ไขส่วนต่าง ๆ ระหว่างการผลิต และการเพิ่มฟังก์ชันใหม่นั้นทำได้ยาก เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันกับสมาร์ทโฟนค่ายอื่นที่นับวันจะทำได้ยากขึ้น

 


 

ในทางกลับกัน Huawei มีข้อได้เปรียบในจุดนี้ จากการออกสมาร์ทโฟนโมเดลใหม่ทุกปี หรือครึ่งปี ทำให้สามารถแก้ไขข้อผิดพลาดในรุ่นก่อน และเพิ่มฟังก์ชันใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อออกมาชนกับ iPhone ที่มีการพัฒนาที่ล่าช้ากว่าแล้ว จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถดึงดูดลูกค้าได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ Apple ยังมีปัญหาอีกข้อหนึ่ง คือ “ราคา” ด้วยภาพลักษณ์ของแบรนด์ ทำให้ทางบริษัทไม่อาจเจาะตลาดสมาร์ทโฟนราคาถูกได้ อีกทั้งด้วยยอดผลิตที่ลดลงในช่วงหลัง ยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตต่อเครื่องสูงขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลายรายต่างกำลังจับตามอง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายอดขาย iPhone จะไม่สู้ดีนัก แต่ธุรกิจอื่นของบริษัทกลับสามารถทำกำไรได้มากกว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะธุรกิจบริการด้านดนตรี ซึ่งทำยอดได้สูงถึง 1.08 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 19.1%