MILL ปั๊มยอด "เหล็กเกรดพิเศษ" ป้อนลูกค้า EEC - จ่อลงทุนโรงถลุงเมียนมา
"มิลล์คอน สตีล" แก้เกมตลาดเหล็กซึม ปรับแผนรับออร์เดอร์เหล็กเกรดพิเศษ-เหล็กสั่งตัดลูกค้าโครงการ EEC ตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิต 800,000 ตัน/ปี พร้อมปรับสัดส่วนการส่งออกจาก 10 เป็น 20% จ่อโดดร่วมโครงการโรงถลุงเมียนมา
นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง รักษาการประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL เปิดเผยหลังจากเข้ารับตำแหน่งรักษาการแทนนายสิทธิชัย ลีสวัสตระกูล เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2561 ว่า ยังคงเดินหน้านโยบายเดิม
"แม้ว่าที่ผ่านมามิลล์คอนฯจะเจอวิกฤตหลายเรื่องของผู้ร่วมลงทุนอย่างโกเบ สตีล และกรณีของนายสิทธิชัยต้องยอมรับว่ามันเป็นอุบัติเหตุในชีวิตเท่านั้นเอง แต่เมื่อมีการชี้แจงทั้งหมดไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อการทำงานและความเชื่อมั่นของนักลงทุนคู่ค้าแต่อย่างใด"
สำหรับนโยบายขณะนี้บริษัทได้เพิ่มการผลิตและจำหน่ายเหล็กเกรดพิเศษ และเหล็กเส้นเกรดชนิดที่สูงกว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อจำหน่ายตรงให้กับลูกค้าที่มีคำสั่งซื้อ โดยเหล็กชนิดนี้จะถูกนำไปใช้ในโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐ เพราะมีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างจากเหล็กตาม มอก. ซึ่งในการผลิตทุกครั้งจะต้องขออนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
ก่อนหน้านี้บริษัทได้ทำตลาดเหล็กเกรดพิเศษมาระยะหนึ่งแล้ว โดยบริษัทลูก โคเบลโก้ มิลล์คอน สตีล จำกัด (KMS) ซึ่งร่วมทุนกับโกเบ สตีล ประเทศญี่ปุ่น ได้ผลิตเหล็กเกรดพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยในช่วงไตรมาส 2/61 มีการผลิต 7,000 ตัน/เดือน คิดเป็นสัดส่วน 25% ของกำลังการผลิตทั้งหมด 30,000 ตัน/เดือน ซึ่งในอนาคตจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 40% หรือ 15,000 ตัน/เดือน เพื่อป้อนให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนหรือพาร์ตเมกเกอร์ ลดการนำเข้าแต่ละปีที่สูงถึง 500,000 ตัน/ปี
"การทำตลาดเหล็กเกรดพิเศษเป็นผลจากสถานการณ์เหล็กเส้นในประเทศที่ล้นตลาด ส่งผลให้ราคาลดลงจาก 22 บาท/กก. อยู่ที่ 18-19 บาท/กก. บวกกับสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐในการขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งแม้จะไม่กระทบต่อเหล็กเส้นมากนัก แต่อุตสาหกรรมเหล็กโดยรวมอยู่ในภาวะที่ต้องเร่งปรับตัว โดยหากสามารถผลิตเหล็กพิเศษได้สัดส่วน 70-80% จะช่วยให้ได้ราคา 40-50 บาท/กก." อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2563 ปัจจัยบวกจากความต้องการใช้เหล็กเส้นในประเทศจะมีมากขึ้นจากโครงการรัฐ โดยเฉพาะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีส่วนทำให้ปริมาณการใช้เหล็กเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เดือนธันวาคม จนถึงปี 2562 คาดว่าจะมีความต้องการสูงถึงหลักล้านตัน ขณะที่ไทยมีการบริโภคอยู่ที่ 3 ล้านตัน
ดังนั้น ในปีหน้าจะทยอยเพิ่มกำลังการผลิตทั้ง 2 โรงงาน ทั้งที่ระยอง และพระราม 2 เป็น 800,000 ตัน/ปี จาก 600,000 ตัน/ปี เป็นส่วนที่โรงงานพระราม 2 ผลิตได้ 250,000 ตัน/ปี และโรงงานที่ระยองอีก 350,000 ตัน/ปี
ขณะเดียวกัน บริษัทเตรียมงบประมาณ 72 ล้านบาท ลงทุนพัฒนาปรับปรุงโรงงาน 2 แห่งในส่วนเครื่องให้ความร้อนโดยการเหนี่ยวนำเพื่อเพิ่มสเกลเนื้อเหล็ก การติดตั้งโซลาร์รูฟช่วยประหยัดพลังงาน 6 ล้านบาท/ปี โดยให้บริษัท ไอเจน เอนจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ติดตั้งและปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานจากก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เป็นก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) เป็นผู้ลงทุน ส่วนช่องทางการจำหน่ายในประเทศหลังจากที่เข้าไปร่วมลงทุนกับบริษัท บิลค์ เอเชีย จำกัด เพื่อขายเหล็กผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัดได้มากขึ้น
พร้อมกันนี้บริษัทได้เพิ่มสัดส่วนการส่งออกเหล็กจาก 10% เป็น 15-20% ทั้งยังพยายามหาตลาดใหม่ โดยมุ่งไปที่ตลาดกลุ่มประเทศโอเชียเนีย (ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี) ขณะเดียวกันได้ศึกษาตลาดยุโรปรวมถึงกลุ่มเอเชีย เพื่อส่งออกเหล็กเส้นไปเช่นกัน และยังมีส่วนที่ส่งบิลเลตออกไปยังอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เพิ่มเติม
ส่วนแผนการขยายการลงทุนในต่างประเทศนั้น นายประวิทย์มองว่า การที่รัฐบาลเมียนมามีนโยบายสร้างโรงถลุงเหล็ก โรงรีดเหล็กแผ่นและเหล็กเส้นที่มิงกุน มัณฑะเลย์ เพื่อผลิตขายในประเทศและส่งออก ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเมียนมาอยู่ระหว่างศึกษาเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุน หากได้ข้อสรุปและเปิดให้นักลงทุนเข้าไปร่วม ทางบริษัทสนใจเข้าไปลงทุนทันที เพราะได้ศึกษาโครงการนี้มานานกว่า 1 ปีแล้ว และแม้ว่าที่ผ่านมาโครงการลงทุนโรงงานท่อเหล็กในเขตเศรษฐกิจพิเศษนิคมอุตสาหกรรมติลาวา ประเทศเมียนมา เมื่อปี 2559 ยังมียอดขายไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ 800-900 ล้านบาท กำลังการผลิต 2,000-3,000 ตัน/เดือน จากปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม บริษัทชะลอแผนการลงทุนอินโดนีเชีย เนื่องจากศึกษาแล้วพบว่าเป็นเกาะมีต้นทุนการขนส่งสูงเกินไป