ค้าปลีกไซซ์เล็ก เปิดศึกรอบใหม่ ปั้น “ฟู้ด เดสทิเนชั่น” ดึงลูกค้า
จากข้อจำกัดด้านกฎหมายผังเมืองและพื้นที่ขนาดใหญ่ที่หายากขึ้น ทำให้ผู้เล่นสโตร์ขนาดใหญ่ต้องปรับตัวและเพิ่มน้ำหนักมาที่สาขาไซซ์เล็กมากขึ้น
ขณะที่ร้านสะดวกซื้อรายหลัก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเซเว่นอีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท ลอว์สัน ที่ไล่บี้กันอย่างหนัก ต่างก็พยายามหาจุดขายใหม่ ทั้งการพัฒนารูปแบบร้านให้ทันสมัย เพิ่มบริการหลากหลาย รวมถึงเติมสินค้าใหม่ ๆ ในกลุ่มอาหารพร้อมทาน ที่ทุกค่ายพร้อมใจกันลงมาแข่ง
สำหรับเซเว่นอีเลฟเว่นเจ้าตลาดร้านสะดวกซื้อที่มี 11,299 สาขาทั่วประเทศ และปีนี้จะเปิดอีก 700 สาขา ซึ่งนอกจากมิติการขยายสาขาแล้ว เซเว่นฯ ยังเดินหน้าพัฒนารูปแบบร้านให้ทันสมัยด้วยการเติมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามา ล่าสุดผุดโมเดลใหม่ สาขาพลัม คอนโด แจ้งวัฒนะ ซอย 1 ด้วยการมิกซ์ส่วนผสมของร้านใหม่ด้วยการยกร้านซีพีเฟรชมาร์ทมาไว้ในเซเว่นฯ ที่มีทั้งผักสด ผลไม้ ไข่ไก่ เนื้อสัตว์แช่เย็นสำหรับประกอบอาหารแบบจัดเต็ม
อีกทั้งมีพื้นที่สำหรับจิบกาแฟและรับประทานอาหาร โดยเสิร์ฟกาแฟแบรนด์ “คัดสรร” ที่มีทั้งเครื่องดื่มร้อน เย็น และเบเกอรี่อบสด รวมถึงร้านขายยาเอ็กซ์ตร้า บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส และ 24 ช็อปปิ้ง เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์คนเมือง
จากก่อนหน้านี้ก็ทยอยเปิดโมเดลใหม่ ๆ ต่อเนื่อง ทั้งแฟลกชิปสโตร์ (flagship store) สาขาแรกที่สาธิตพีไอเอ็มเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน ชูจุดเด่นด้านเทคโนโลยี
และต้นปีที่ผ่านมาได้เปิด “เซเว่นอีเลฟเว่น ธาราพัทยา” แลนด์มาร์กแห่งพัทยาใต้ ซึ่งถือเป็นแฟลกชิปสโตร์ของภาคตะวันออก เพราะจัดเต็มด้วยดีไซน์ ฟังก์ชั่น และนวัตกรรมล้ำ ๆ
ที่สำคัญในทุกไตรมาส เซเว่นฯ ก็พยายามเติมเมนูอาหารสดและร้านกาแฟของ “ออลล์ คาเฟ่” เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะรายได้จากส่วนนี้โตขึ้นเรื่อย ๆ
โดยจากรายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ที่ผ่านมา พบว่าเซเว่นฯ มีรายได้จากสินค้ากลุ่มอาหารสูงกว่าสินค้าอุปโภค โดยสัดส่วนรายได้จากอาหารและเครื่องดื่มมากถึง 70% ขณะที่สินค้าอุปโภคมีตัวเลขเพียง 29%
ฟาก แฟมิลี่มาร์ท แม้จำนวนสาขาจะไล่หลังอยู่ แต่เดินหน้าตอกย้ำจุดขายด้านอาหารพร้อมทาน โดย “ฤดี เอื้อจงประสิทธิ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท จำกัด บอกว่า ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องการรับประทานอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะคุณภาพและรูปแบบการนำเสนอ ด้วยแนวโน้มที่เกิดขึ้นบริษัทจึงเดินหน้าด้วยแนวคิดของการเป็น “Food Destination” โดยเปิดตัวเมนูอาหารใหม่ ๆ ต่อเนื่อง เช่น ชานมไข่มุก บัวลอยไข่เค็ม บะหมี่หมูสับซอสไข่เค็ม เป็นต้น อีกทั้งได้ปรับเมนูโอเด้งใหม่ ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะที่แฟมิลี่มาร์ท เพื่อสร้างความแตกต่างให้แก่ร้าน โดยจะทยอยขยายหม้อโอเด้งให้ครอบคลุมพื้นที่ขายกว่า 630 สาขาทั่วประเทศ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ซึ่งคาดว่าฮานะโอเด้งจะช่วยผลักดันยอดขายกลุ่มอาหารพร้อมทานปีนี้ให้โตขึ้น 20%
ส่วน ลอว์สัน ก็ชูบริการร้านอาหารปรุงสด เครื่องดื่มชงสด และที่นั่งสำหรับบริการลูกค้า รวมถึงทยอยเพิ่มสินค้าที่หมุนเวียนกันตามซีซันนอล เช่น เค้กเนื้อนิ่ม ไส้ครีมนมโอซาก้า ซอฟต์เสิร์ฟ มันม่วง เป็นต้น รวมถึงทยอยเพิ่มบริการใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากร้านสะดวกซื้ออื่น ๆ เช่น ซักรีดเสื้อผ้า เครื่องถ่ายเอกสาร เป็นต้น อีกทั้งรุกขยายสาขาตามสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน อาคารสำนักงาน และล่าสุดจับมือวีจีไอเตรียมขยาย 30 สาขาบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส
ขณะที่กลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตก็ไม่หยุดความพยายาม โดยลุยขยายโมเดลไซซ์เล็กเช่นกัน เนื่องจากพฤติกรรมคนเปลี่ยน เน้นความสะดวกมากขึ้น ล่าสุด “เทสโก้ โลตัส” ประกาศพร้อมลุยโมเดลไซซ์เล็กด้วยการขยาย “เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส” อีก 750 สาขา พร้อมเขย่าพอร์ตสินค้าใหม่ด้วยการเติมกลุ่มอาหารพร้อมทานมากขึ้น
“สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย” ประธานกรรมการบริหารเทสโก้ ระบุว่า ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในไทยแข่งขันค่อนข้างสูง เนื่องจากผู้เล่นแต่ละรายก็พยายามปรับตัวให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนเร็วขึ้น โดยเฉพาะพฤติกรรม
ผู้บริโภคยุคใหม่ที่เน้นความสะดวกสบายมากขึ้น ล่าสุดเตรียมเปิดเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรสอีก 750 สาขา ภายใน 3 ปีจากนี้ ชูจุดขายด้านความสะดวกสบาย พร้อมแม็กเนตใหม่ ๆ โดยเฉพาะเมนูอาหารพร้อมทาน สแน็กอีก 200-300 รายการ เพิ่มมุมนั่งรับประทานอาหาร ไอศกรีม บริการส่งวัสดุจากไปรษณีย์ไทยตลอด 24 ชม. และร้านกาแฟ “เทสโก้ คอฟฟี่” วางราคาแก้วละ 25-30 บาท เพื่อตอบโจทย์คนเมืองมากขึ้น
เช่นเดียวกับบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร “บิ๊กซี” ก็จะใช้งบฯไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทในการขยายสาขาบิ๊กซีทุกรูปแบบ โดยไตรมาสแรกที่ผ่านมาได้เปิดสาขาไซซ์เล็ก “มินิบิ๊กซี” ไป 27 สาขา ทำให้ไตรมาสแรกนี้มีมินิบิ๊กซีรวม 797 สาขา
ด้านกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต “อธิพล ตีระสงกรานต์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด ผู้บริหารซูเปอร์มาร์เก็ตฟู้ดแลนด์ ให้มุมมองว่า ปัจจุบันผู้บริโภคทั้งกลุ่มครอบครัว วัยทำงาน ทำอาหารทานเองน้อยลง และนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น จากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนต้องการความสะดวกมากขึ้น สะท้อนจากความนิยม
แอปสั่ง-ส่งอาหารแบรนด์ต่าง ๆ ส่งผลให้ยอดขายของบริษัทในปีที่ผ่านมาทรงตัว และเพื่อรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น ปีนี้บริษัทได้เพิ่มพื้นที่ในโซนอาหารพร้อมทาน และอาหารแช่แข็งมากขึ้น จากเดิมที่เน้นขายวัตถุดิบผักสด-ผลไม้เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
เรียกว่าสมรภูมิการแข่งขันค้าปลีกไซซ์เล็กขณะนี้ถูกรุกหนักจากทุกทิศทุกทาง เพราะไม่ได้แข่งขันเพื่อแย่งชิงกำลังซื้อเท่านั้น แต่ต้องชิงความสนใจของผู้บริโภคให้ได้ นั่นคือ ทำเลต้องเข้าถึง สินค้าต้องตรงใจ บริการต้องพร้อมตอบทุกโจทย์ ทุกความต้องการของผู้บริโภคให้ได้