Brexit มีผล 31 ต.ค. นี้ อุตสาหกรรมญี่ปุ่นเตรียมรับมือผลกระทบต่อซัพพลายเชน

อัปเดตล่าสุด 17 ก.ย. 2562
  • Share :

ภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น แสดงความกังวลต่อทิศทางของ Brexit ซึ่งกำลังจะถึงเส้นตาย ในวันที่ 31 ตุลาคม 2019 นี้ ว่าสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ จะยอมรับร่างข้อตกลง Soft Brexit ของ Mr. Boris Johnson นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรหรือไม่ ซึ่งหลายบริษัทได้เดินหน้ามาตรการป้องกันความเสี่ยง ในขณะที่หลายบริษัทแสดงความเห็นว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงนัก

อุตสาหกรรมยานยนต์

Toyota พร้อมรับมือ Brexit ประกาศหยุดงานที่ Burnaston Plant เป็นการชั่วคราวในวันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป เนื่องจากเล็งเห็นการหยุดชะงักของซัพพลายเชนระหว่างอังกฤษ และสหภาพยุโรป เพื่อพิจารณาแนวทางหลังจากนั้น พร้อมประกาศหยุดงานต่อหากพบว่ามีการชะงักในการซัพพลายชิ้นส่วน

ในขณะเดียวกัน โฆษกบริษัท Honda ชี้แจงว่ายังไม่มีกำหนดหยุดงาน อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มสต็อกชิ้นส่วนยานยนต์เตรียมไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน และมีกำหนดปิดโรงงานในประเทศอังกฤษภายในปี 2021 

ส่วนค่ายอื่น ๆ มีทั้งที่ประกาศลดขนาดธุรกิจ และถอนตัวออกจากอังกฤษแล้ว เช่น Nissan Automotive ซึ่งประกาศยกเลิกแผนการผลิต X-TRAIL โมเดลใหม่ในอังกฤษ เมื่อวันที่ 4 กันยายาที่ผ่านมา

ทางด้านผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์นั้น Keihin Corporation ได้ประกาศปิดกิจการบริษัทสาขาอังกฤษในเดือนธันวาคม 2021 ส่วน Unipres Corporation ประกาศลดจำนวนโรงงานในประเทศอังกฤษ จาก 2 แห่ง เหลือ 1 แห่ง

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์

Panasonic ประกาศย้ายสำนักงานจากอังกฤษ ไปยังเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอแลนด์ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2018 ในขณะที่ Sony ก็ได้เตรียมย้ายสำนักงานยุโรปไปยังเนเธอแลนด์เช่นเดียวกัน

ในทางกลับกัน Hitachi อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมให้กับฐานการผลิตรถไฟในอังกฤษตอนเหนือ เนื่องจากเล็งเห็นว่าจะได้รับผลกระทบจาก Brexit เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่อังกฤษออกจาหสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง หรือ No-Deal Brexit แล้ว Hitachi คาดการณ์ว่าจะทำให้เกิดความปั่นป่วนไม่น้อย จึงปรับระบบการผลิตในอังกฤษ และอิตาลี ให้มีความยืดหยุ่น และผลิตสินค้าทดแทนกันได้ นอกจากนี้ ฐานการผลิตในอังกฤษ มีไว้เพื่อป้อนสินค้าเข้าสู่ประเทศอังกฤษเป็นหลัก จึงคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบในการส่งออกมากนัก

Ricoh เป็นอีกราย ที่ใช้อังกฤษเป็นฐานการผลิต และมีอัตราส่วนสินค้าส่งออกต่ำ จึงแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

อุตสาหกรรมวัสดุ

สำหรับอุตสาหกรรมวัสดุแล้ว ไม่ว่าอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปในรูปแบบใด ก็ย่อมเกิดปัญหาใหญ่ต่อซัพพลายเชนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกผลิตภัณฑ์เคมีไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งมีกฎหมาย REACH (Registration Evaluation and Authorization of Chemicals) ส่งผลให้ Mitsubishi Chemical, Mitsui Chemicals, และบริษัทอื่น ๆ ตัดสินใจเปลี่ยนซัพพลายเออร์จากอังกฤษ เป็นประเทศอื่นในยุโรปแทน โดยคาดว่า สินค้าที่จะได้รับผลกระทบสูงสุด คือเครื่องนุ่งหุ่ม และชิ้นส่วนยานยนต์ในตลาดเยอรมัน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิในอุตสาหกรรมเคมีหลายราย ยืนยันจะไม่ย้ายฐานการผลิต เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ต้นทุนสูง และมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก

ส่วนในอุตสาหกรรมเหล็กกล้านั้น คาดการณ์ว่าผลกระทบจาก Brexit จะมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นในด้านของความล่าช้าในการจัดส่ง และคาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อความต้องการเหล็กกล้าแต่อย่างใด

อุตสาหกรรมเครื่องจักร

DMG Mori รายงานว่า มีผู้สั่ง Machine Tools เพื่อรอรับ Brexit เพิ่มขึ้นจำนวนมาก และคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกไปจนกระทั่งรู้ผลลัพธ์ ในขณะที่ผู้ผลิต Machine Tools หลายรายแสดงความเห็นว่าเตรียมความพร้อมด้วยการสต็อกสินค้าเผื่อไว้ก็เพียงพอ

Yamazaki Mazak เป็นรายหนึ่งที่ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องเตรียมแผนการรับมือ Brexit เป็นพิเศษ และทำเพียงสต็อกชิ้นส่วนเพิ่มเติมเท่านั้น 

ทางด้าน NSK รายงานว่า ได้เตรียมพร้อมซัพพลายเชนให้สามารถซัพพลายต่อเนื่องได้ 1 เดือน เพื่อเตรียมความพร้อมต่อกรณีที่การโลจิสติกส์ติดขัด และ Komatsu เอง ก็เป็นอีกรายที่ไม่มีแผนจะปรับเปลี่ยนการผลิตแต่อย่างใด