รับเหมาจีนยึดหัวหาดไฮสปีดสายอีสาน หั่นค่าระบบ-แท็กทีมรายกลางดัมพ์ราคาแข่งบิ๊กเนม

อัปเดตล่าสุด 9 พ.ค. 2562
  • Share :
  • 1,604 Reads   

สนามประมูลรถไฟไทย-จีน “กทม.-โคราช”เดือด งานโยธา 1.2 แสนล้าน แบ่งสร้าง 14 สัญญา จับตารับเหมาจีนผนึกรายกลาง ปาดหน้าขาใหญ่ ดัมพ์ราคา 13-20% ปักหมุดพื้นที่ “ดอนเมือง-นวนคร-บ้านโพ” คมนาคมเจรจาค่าระบบเหลือ 50,600 ล้านบาท หลังจีนหั่นค่าขบวนรถรุ่นใหม่ จาก 1,200 ล้าน/คัน เหลือ 1,166 ล้าน/คัน พร้อมรื้อรูปแบบก่อสร้างบางพื้นที่จากหินโรยทางเป็นคอนกรีต หวั่นเงินลงทุนเกินกรอบ 1.79 แสนล้าน

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน เฉพาะงานก่อสร้างแบ่ง 14 สัญญา วงเงิน 120,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้หมดทั้งโครงการภายในเดือน ก.ย.-ต.ค.2562 นี้ ตามแผนจะเสร็จในปี 2565 ขยับจากเดิมปี 2564

รับเหมาจีนผนึกรายกลาง

ขณะนี้กำลังก่อสร้างสัญญาแรกช่วงสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ซึ่งกรมทางหลวงเป็นผู้ก่อสร้าง มีความคืบหน้า 48% มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.นี้ จากนั้นเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมาได้แจ้งเริ่มงานสัญญา 2 ระยะทาง 11 กม. ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก เซ็นสัญญาไปแล้วมีบริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง วงเงิน 3,115 ล้านบาท

นอกจากนี้กำลังรออนุมัติผลประมูล 2 สัญญา ได้แก่ ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. ราคากลาง 13,293 ล้านบาท มีกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ไชน่าสเตทคอนสตรัคชัน เอ็นยิเนียริง คอร์ปอเรชัน จำกัด, บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริง (1964) จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 11,525 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 1,768 ล้านบาทหรือ 13.30%

ส่วนสัญญาช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. ราคากลาง 10,917 ล้านบาท มีกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ซิโนไฮโดร จำกัด บริษัท สหการวิศวกร จำกัด และบริษัท ทิพากร จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 8,626 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 2,291 ล้านบาทหรือ 20.98%

จับตายื่น 3 สัญญา 14 พ.ค.นี้


“วันที่ 14 พ.ค.นี้ จะเปิดยื่นซอง 3 สัญญา รวมระยะทาง 99.26 กม. วงเงินรวม 33,958 ล้านบาท มีช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บ้านม้า ระยะทาง 30.21 กม. เงินลงทุน 11,063 ล้านบาท, ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. เงินลงทุน 11,655 ล้านบาท และช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. เงินลงทุน 11,240 ล้านบาท 


ขณะนี้กำลังขายซองทีโออาร์ถึงวันที่ 13 พ.ค. คาดว่าจะได้ผู้รับเหมาก่อสร้างในเดือนมิ.ย.เริ่มงานก่อสร้างก.ค.นี้” แหล่งข่าวกล่าวและว่าอีก 7 สัญญาที่เหลืออยู่ระหว่างปรับรายละเอียดและจัดทำราคากลางร่วมกับจีน จะประกาศทีโออาร์ พ.ค. และยื่นซองประมูลก่อน 6 สัญญาประมาณเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ ค่าก่อสร้างเฉลี่ยสัญญาละ 10,000 กว่าล้านบาท ได้แก่ 


1.อุโมงค์ช่วงมวกเหล็ก-ลำตะคอง 2.ช่วงบ้านบันไดม้า-ลำตะคอง 3.ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา 4.งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 5.ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว และ 6.ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ส่วนช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง รอความชัดเจนของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่กลุ่มซี.พี.และพันธมิตรเป็นผู้ชนะประมูลก่อสร้างโครงการ เนื่องจากมีพื้นที่ทับซ้อนกัน

งานระบบลดเหลือ 5.06 หมื่นล้าน


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมาถึงผลการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 25-27 เม.ย.2562 ณ กรุงปักกิ่งประเทศจีนให้ ครม.รับทราบ หลังจากมีการเจรจาหารือข้อตกลงโครงการความร่วมมือ


ด้านรถไฟระหว่างไทย-จีนเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในร่างสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร


ล่าสุด กรอบวงเงินเพิ่มขึ้นจาก ครม.อนุมัติ 38,588 ล้านบาท เนื่องจากมีการนำวงเงินในส่วนของเครื่องจักรกลบำรุงทางวงเงิน 7,000 ล้านบาท จากเดิมรวมอยู่ในงานโยธามารวมไวัในสัญญา 2.3 ด้วย รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนรถไฟความเร็วสูง เป็นรถรุ่นใหม่ “ฟู่ซิ่งเฮ่า” มีเทคโนโลยีทันสมัยขึ้น และปรับการก่อสร้างโครงสร้างทางรถไฟแบบไม่ใช่หินโรยทางจึงทำให้ต้นทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้น ทำให้กรอบวงเงินเพิ่มเป็น 51,000 ล้านบาท ซึ่งฝ่ายไทยตั้งเป้าจะเจรจาจีนให้ลดราคาลงมาอยู่ที่ประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่สามารถเจรจาลดกรอบวงเงินเหลือ 50,600 ล้านบาท รวมทั้งการพิจารณาเงื่อนไขในข้อสัญญาทั้ง 21 ข้อ โดยมี 3 ข้อที่ขอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. พิจารณาเงื่อนไขสัญญา


นอกจากนี้ยังมีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOC) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟ ระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ เพื่อผลักดันไปสู่การเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟ ทั้ง 3 ประเทศ โดยมีขนาดทางรถไฟ 1 เมตร และขนาด 1.435 เมตรอีกด้วย

จีนหั่นค่าขบวนรถให้ 200 ล้าน

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับวงเงินที่จีนปรับลดให้ฝ่ายไทยในสัญญาที่ 2.3 จำนวน 400 ล้านบาท แยกเป็นในส่วนของตัวรถจำนวน 6 ขบวน ๆ ละ 8 ตู้ รวม 48 ตู้ ที่จีนยอมลดราคาให้ 200 ล้านบาท จาก 7,200 ล้านบาท เหลือ 7,000 ล้านบาท หรือจากขบวนละ 1,200 ล้านบาท เหลือ 1,166.66 ล้านบาท อีก 200 ล้านบาท เป็นค่างานในส่วนอื่น ๆ


ทั้งนี้วงเงินที่เกินจากที่ครม.อนุมัติไว้จาก 38,588 ล้านบาท เป็น 50,600 ล้านบาท จะรายงานให้ ครม.รับทราบถึงข้อเท็จจริงว่าเพิ่มขึ้นจากสาเหตุอะไร และมั่นใจว่าจะไม่ทำให้วงเงินลงทุนทั้งโครงการเพิ่มขึ้น เนื่องจากการประมูลงานโยธายังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งจากผลการประมูลที่ผ่านมามีการแข่งขันสูง น่าจะทำให้เงินลงทุนทั้งโครงการอยู่ในกรอบ แต่หากว่าเกินจะขอ ครม.ขยายกรอบวงเงินเพิ่มต่อไป