สศอ. ชี้ทุกพรรคชูนโยบายทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่อนาคต

อัปเดตล่าสุด 18 เม.ย. 2562
  • Share :
  • 509 Reads   

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยผลการวิเคราะห์นโยบายพรรคการเมืองหลัก พบว่า แทบทุกพรรคให้ความสำคัญด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอนาคตที่มีศักยภาพ (S-curve) โดยนโยบายส่วนใหญ่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ยกระดับฝีมือแรงงาน สร้างอุตสาหกรรมสีเขียว และปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งเชื่อว่าทุกภาคส่วนจะสามารถเดินหน้าทำงานเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศได้ทันที

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา สศอ. ได้ติดตามการแถลงนโยบายของพรรคการเมือง ทั้งพรรคใหญ่ และพรรคเล็ก ซึ่งทุกพรรคมีแนวนโยบายที่ดีแตกต่างกันไป โดยมีอุดมการณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมถือเป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งที่จะผลักดันให้นโยบายเหล่านี้บรรลุผลสำเร็จ  ดังนั้น มุมมองและทิศทางนโยบายเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของพรรคการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคตจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

สศอ. ได้วิเคราะห์เชิงนโยบายเบื้องต้น พบว่า พรรคการเมืองหลักส่วนใหญ่มีพื้นฐานแนวคิดด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่มีความคล้ายคลึงกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกับยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของภาคเอกชน ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุน ทั้งภายในและภายนอกประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้พัฒนาสินค้าและบริการ โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ เช่น Big Data  ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นต้น  การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น  การปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่จำเป็น  การปฏิรูปบทบาทภาครัฐให้เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน และการพัฒนาทักษะกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ หรือระบบการศึกษาทวิภาคี  ซึ่งสามารถสรุปนโยบายที่น่าสนใจของพรรคการเมืองหลักเรียงตามลำดับตัวอักษรชื่อพรรค ได้ดังนี้

พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศนโยบายแก้จน สร้างคน สร้างชาติ ผ่านโครงการประกันรายได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของพรรค โดยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ เช่น รถไฟความเร็วสูง

พรรคพลังประชารัฐ ชูนโยบาย 7 เศรษฐกิจประชารัฐ  เน้นการต่อยอดนโยบายรัฐบาลเดิม เช่น มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และนวัตกรรมอุตสาหกรรมสีเขียว  ยกระดับเอสเอ็มอี  ปฎิรูประบบราชการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง  พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟทางคู่  

พรรคเพื่อไทย เน้นการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายของประชาชนในประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ การนำเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมมาใช้สร้างความเข้มแข็งของภาคอุตสาหกรรม  การส่งเสริมสินค้า Made in Thailand

พรรคภูมิใจไทย ให้ความสำคัญกับพืชเศรษฐกิจใหม่ อย่าง กัญชา โดยเน้นนโยบายการปลูกเสรี เพื่อการแพทย์ทางเลือก นอกจากนี้มีนโยบายการลงทุนแบบกระจายทุกพื้นที่ทั่วไทย การปฏิรูปการทำงานภาครัฐ โดยเฉพาะระบบการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการชี้นำประเทศ

พรรคอนาคตใหม่ เน้นการสร้างเศรษฐกิจของประเทศด้วยอุตสาหกรรมรถไฟ โดยมีนโยบายผลักดันการขนส่งแบบ Hyperloop และให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ รวมทั้งมีการส่งเสริมการใช้ Open Data เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างงาน และสร้างธุรกิจ

นอกจากพรรคหลักที่ได้คะแนนเสียงจำนวนมากแล้ว ยังมีพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีนโยบายผลักดันภาคอุตสาหกรรมที่น่าสนใจเช่นกัน เช่น นโยบายพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของพรรคเสรีรวมไทย นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรของพรรคชาติพัฒนา ซึ่งจะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้สู่ระดับท้องถิ่นมากขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะมีการวิเคราะห์สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อประเมินการจัดสรรงบประมาณสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เกิดผลเชิงบวกสูงสุดต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภายใต้บริบทต่าง ๆ ที่เป็นกระแสอยู่ในปัจจุบันและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ แม้พรรคส่วนใหญ่จะมีประเด็นนโยบายที่ใกล้เคียงกัน ยกตัวอย่างเช่น นโยบายด้านค่าแรง ซึ่งเกือบทุกพรรคให้ความสำคัญกับนโยบายดังกล่าว เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่และปากท้องของประชาชน แต่ในความคล้ายกันเชิงนโยบาย ก็ยังมีความแตกต่างกันบ้างในแง่ของวิธีการ เช่น บางพรรคเลือกใช้วิธีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่บางพรรคอาศัยวิธีการประกันรายได้ บางพรรคใช้นโยบายโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) หรือ การสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า  อย่างไรก็ตาม จุดหนึ่งที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับนโยบายค่าแรง คือ การผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill) ของบรรดาพรรคหลัก ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ในอนาคตทิศทางแรงงานภาคอุตสาหกรรมจะมีการยกระดับทักษะ (Up skill) และการเสริมทักษะ(Re-skill) มากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการยกระดับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่อไป