ทุ่มปรับปรุงเส้นทางรถไฟ 200 กม. ใน 4 จังหวัด เชื่อม 3 ท่าเรือหนุนพื้นที่ EEC
วันที่ 11 มีนาคม 2562 ที่โรงแรมแกรนด์โฟร์วิงค์ ศรีนครินทร์ กรุงเทพมหานคร การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จัดการประชุมใหญ่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อสรุปผลการศึกษาโครงการงานศึกษาความเหมาะสมออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก – ฉะเชิงเทรา – ศรีราชา และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา – มาบตาพุด เพื่อชี้แจงสรุปผลการศึกษาโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน
โดยนำเสนอแนวเส้นทางโครงการ ครอบคลุมพื้นที่ศึกษา 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง โดยเชื่อมต่อพื้นที่อุตสาหกรรมหลักกับ 3 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะทางรวม 200 กม.
นอกจากนี้ ยังได้ออกแบบการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟ 5 แบบ ได้แก่ 1.สะพานรถไฟข้ามถนน 2.สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 3.สะพานกลับรถรูปตัวยู 4.ทางลอดทางรถไฟ 5.ทางบริการข้างทางรถไฟ ตลอดจนการออกแบบสะพานลอยคนและมอเตอร์ไซค์ข้าม เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและสัตว์เลี้ยงในการข้ามทางรถไฟ
ด้านสิ่งแวดล้อม มีมาตรการป้องกันและลดผลกระทบหลากหลายรูปแบบ อาทิ กำหนดให้มีการติดตั้งกำแพงกั้นเสียงชั่วคราวบริเวณพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีการฉีดพรมน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง บริเวณพื้นที่ก่อสร้างที่ถูกเปิดผิวหน้าดินและกองวัสดุก่อสร้าง เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองเป็นต้น
โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟช่วงหัวหมาก – ฉะเชิงเทรา – ศรีราชา และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา – มาบตาพุด ถือเป็นโครงการสำคัญ ที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ EEC และเสริมศักยภาพด้านการเดินทางและขนส่งให้กับพื้นที่จังหวัดข้างเคียง ประหยัดเวลาการเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงระยอง
โดยใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งคนและสินค้ารองรับผู้โดยสารปริมาณ 4 ล้านคน/ปี และรองรับการขนส่งสินค้าปริมาณ 40 ล้านตัน/ปี ในปีเปิดให้บริการ
ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ให้ความสำคัญกับกระบวนการการมีส่วนร่วมโดยได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นในทุกจังหวัดตามแนวเส้นทางโครงการ ได้แก่ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง เมื่อวันที่ 7 – 8 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา และจะจัดขึ้นอีก 2 ครั้งที่ จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ชลบุรี ในวันที่ 12 – 13 มีนาคม 2562 โดยภายหลังการประชุมครั้งนี้ รฟท.จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากผู้เข้าร่วมประชุม ไปพิจารณาประกอบในรายงานผลการศึกษา เพื่อเตรียมส่งมอบให้กับกระทรวงคมนาคมดำเนินการต่อไป