ปั้นแผนกำจัดขยะครบวงจร คาดอีก 12 ปี ‘EEC ไร้ขยะสะสม’

อัปเดตล่าสุด 15 ธ.ค. 2562
  • Share :
  • 1,248 Reads   

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เห็นชอบแผนกำจัดขยะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผุดโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะเพิ่มอีก 6 แห่ง และศูนย์กำจัดขยะแปลงเป็นไฟฟ้าต้นแบบ 1 แห่ง ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะได้ 120 เมกะวัตต์ มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมทำแผนให้เสร็จภายใน 1-2 เดือน ด้านเลขาฯ EEC มั่นใจภายใน 12 ปี ขยะสะสมเกือบ 6 ล้านตัน ในพื้นที่ EEC จะถูกกำจัดทั้งหมด   

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่อย่างการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) การพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบพาพุด ระยะที่ 3 รวมถึงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เมืองการบินภาคตะวันออก และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้ในปี 2563 การขับเคลื่อนของ EEC จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างประโยชน์ให้กับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งการดูแลเรื่องเมือง และสิ่งแวดล้อม มากขึ้นด้วย  


ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 จึงได้เห็นชอบกรอบแนวทางการจัดการขยะในพื้นที่ EEC หลังพบปริมาณขยะสะสมมากถึง 6 ล้านตัน และคาดว่าในอนาคต หรือปี 2580 EEC จะมีขยะเพิ่มเป็น 6,800 ตันต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 4,200 ตันต่อวัน โดยราว 60% ของขยะทั้งหมด ใช้วิธีฝังกลบ นอกจากขยะไม่ย่อยสลายแล้ว ยังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งต้องหาพื้นที่เพิ่ม เพื่อรับรองปริมาณขยะที่สูงถึง 1.66 ไร่ต่อวัน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า เพื่อให้การบริหารจัดการขยะในพื้นที่ EEC มีประสิทธิภาพและยั่งยืน กพอ.จึงอนุมัติกรอบแนวทางขยายผลต้นแบบการจัดการขยะของจังหวัดระยองสู่พื้นที่อื่น ๆ ให้ครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เพิ่มอีก 6 แห่ง และตั้งศูนย์กำจัดขยะแปลงเป็นไฟฟ้าต้นแบบ 1 แห่ง จะสามารถกำจัดขยะมูลฝอยทั้งรายวันและขยะสะสมรวม 6,000 ตันต่อวัน และผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะได้ประมาณ 120 เมกะวัตต์ ทำให้คาดว่าภายใน 12 ปีจากนี้ จะกำจัดขยะที่เกิดขึ้นใหม่ทุกวันและกำจัดขยะสะสมกว่า 5.57 ล้านตัน ใน EEC ให้หมดไปได้ เบื้องต้นจะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนโครงการดังกล่าว และจะคุ้มค่าต่อการลงทุน

ทั้งนี้ กพอ. มอบหมายให้ สกพอ. ประสานจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ EEC ต้นแบบการกำจัดขยะอย่างยั่งยืน ทั้งขยะบก บนเกาะ และในทะเล ให้เสร็จภายใน 3 เดือน โดยให้กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เข้าร่วมศึกษา รวมทั้งให้จังหวัดในพื้นที่ EEC เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการจัดตั้งโรงงานขยะและโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ และให้กระทรวงพลังงานพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ EEC โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมทำแผนให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือน 

“ปัจจุบันระยองมีความสามารถกำจัดขยะอยู่แล้ว จึงจะนำโมเดลของระยองขยายไปสู่พื้นที่อื่นในจังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทรา  โดยเมื่อรวมกันแล้วจะกำจัดขยะสะสมได้ถึงวันละ 6,000 ตัน ด้วยการนำมาเผาเป็นไฟฟ้าทั้งหมด แต่ที่ชลบุรีและฉะเชิงเทราจะเปิดให้เอกชนที่มีความสามารถเข้ามาแข่งขันทำโรงกำจัดขยะ เพราะโรงต้นแบบที่ระยองพิสูจน์แล้วว่าจะได้ผลตอบแทนการลงทุนถึง 8-9% ระหว่างนี้จึงขอศึกษาโมเดลและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ชัดเจนก่อน ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะนั้น ทางกระทรวงพลังงาน ระบุว่าสามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบส่ง (Grid) ได้ ซึ่งรัฐบาลจะต้องได้ประโยชน์จากการขายไฟฟ้าด้วย ไม่ใช่แค่ประโยชน์ของเอกชน ส่วนการลงทุนโรงต้นแบบกำจัดขยะขนาด 500 ตันต่อวัน ใช้งบลงทุนราว 2,000 ล้านบาท หากดำเนินการตามแผน 6,000 ตัน จะใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท”

ขณะเดียวกัน ที่ประชุม กพอ. ยังได้เห็นชอบแผนการยกระดับบริการสาธารณสุขในพื้นที่ EEC โดยมีหลักการ 3 ด้าน 14 โครงการ ได้แก่

1. จัดทำข้อมูลชุดเดียวกัน สำหรับพัฒนาระบบข้อมูลให้ครอบคลุมในพื้นที่ จำนวน 3 โครงการ อาทิ โครงการบริหารบริหารข้อมูลประชากรใน EEC ด้วยบิ๊กดาต้า, ระบบประกันสุขภาพ และโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น   

2. รัฐและเอกชนร่วมทุน เป็นการลงทุนระหว่างกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคเอกชนในพื้นที่ โดยจัดทำการบริการในโรงพยาบาลให้คล่องตัว เพื่อความสะดวกของประชาชน จำนวน 6 โครงการ อาทิ ยกระดับบริหารการแพทย์ฉุกเฉิน แพทย์ปฐมภูมิ เป็นต้น      

3. เครือข่ายเดียว ระบบเดียว บริการรัฐแนวใหม่อาศัยการทำงานบนความร่วมมือของเครือข่ายภาครัฐสังกัดต่าง ๆ อปท. และเอกชน โดยใช้ทรัพยากรบุคคลและทรัพยากรอื่นร่วมกัน จำนวน 5 โครงการ อาทิ โครงการโรงเรียนแพทย์เครือข่าย เป็นต้น

 

อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  : www.eeco.or.th