อว. สวทช. จับมือ บ.สกุลฎ์ซีฯ และ CWT ร่วมทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่อยานพาหนะสมัยใหม่แบบครบวงจร

อัปเดตล่าสุด 12 มิ.ย. 2562
  • Share :
  • 667 Reads   

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด กลุ่มบริษัท โชคนำชัย และบริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จัดพิธีลงนามการร่วมทุนในกิจการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อก้าวสู่การผลิตยานพาหนะสมัยใหม่แบบครบวงจร (Modern Transportation) โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. คุณนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทโชคนำชัย กรรมการผู้จัดการ คุณวีรพลน์ เตชะผาสุกสันติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด และคุณวีระพล ไชยธีรัตต์ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนาม เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมผลิตยานพาหนะสมัยใหม่แบบครบวงจรตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เสริมศักยภาพผู้ประกอบการ ลดการนำเข้า สร้างรายได้ เพิ่มความเข้มแข็ง ยกระดับประเทศสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช. เป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างคุณค่าของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศผ่านกลไกการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ เสริมสร้างศักยภาพ ยกระดับผู้ประกอบการและนักลงทุน ร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในการขับเคลื่อนต่อยอดการใช้ผลงานวิจัยและนวัตกรรม สร้างการเชื่อมโยงให้ภาคความต้องการเข้าถึงผลงานวิจัยเกิดเป็นธุรกิจเทคโนโลยีที่มีมูลค่าได้สะดวกมากขึ้น ซึ่ง “กลไกการร่วมลงทุน” เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งกำหนดการวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) โดย สวทช. ร่วมมือเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด 

สำหรับการร่วมลงทุนในบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศ โดยทีมงานคนไทยสร้างโรงงานผลิตเรือและรถโดยสารขนาดเล็กจากอลูมิเนียมในระดับอุตสาหกรรมขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ยังตอบโจทย์การเพิ่มความเข้มแข็งของประเทศ เปลี่ยนจากผู้นำเข้าเป็นผู้พัฒนาเพื่อใช้เอง ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเรือในปัจจุบันเป็นการนำเข้า หรือประกอบโดยอู่ต่อเรือที่ต้องใช้เวลาในการผลิตค่อนข้างนาน ต้นทุนสูง และในส่วนของรถโดยสารขนาดเล็กก็เป็นการนำเข้าเช่นกัน อีกทั้งยังไม่มีผู้ผลิตในประเทศอีกด้วย นอกเหนือจากที่ สวทช. ได้ให้บริการสนับสนุนบริษัทฯ ทั้งในด้านการออกแบบโครงสร้าง และวิเคราะห์ทดสอบความแข็งแรงของรถบัสและเรืออลูมีเนียม รวมทั้งการตรวจสอบคุณสมบัติเรืออลูมีเนียมรุ่น F190 เพื่อขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยแล้ว การร่วมลงทุนในครั้งนี้เป็นการผลักดันงานวิจัย และพัฒนาจากนักวิจัยไปสู่ภาคเอกชนต่อยอดผลิตภัณฑ์ยกระดับประเทศให้เป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม สร้างอุตสาหกรรมยานพาหนะให้เป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย วทน. สร้างรายได้ลดการนำเข้าอย่างยั่งยืนต่อไป

นายนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย ประธานกลุ่มบริษัท โชคนำชัย และบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวว่า กลุ่มบริษัทฯ เราเป็นผู้ผลิตแม่พิมพ์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็น Top5 Asia ที่ทำแม่พิมพ์สำหรับผลิตตัวถังรถยนต์ได้ทุกชิ้นส่วน ส่งตรงบริษัทชั้นนำมากมายทั่วโลก ประสบการณ์ยาวนานกว่า 40 ปี และมีผลงานการค้นคว้าวิจัยด้านเทคโนโลยีที่บริษัทได้คิดค้นขึ้น ทางด้าน Advanced Material  และเทคโนโลยีการขึ้นรูป  นับเป็นองค์ความรู้สำคัญต่อการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีคุณภาพที่สูงขึ้น จนทัดเทียมกับระดับสากล สามารถต่อยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจไทย จนนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคม และเพื่อการต่อยอดนวัตกรรมให้มีคุณภาพมากขึ้น และการร่วมมือกับ สวทช. ในครั้งนี้ จะนำองค์ความรู้ที่สำคัญต่อการพัฒนาของบริษัท ต่อยอดองค์ความรู้ด้านการผลิตเรืออลูมิเนียม โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการคำนวณทางพลศาสตร์ของไหล หรือ CFD (Computational Fluid Dynamics) ช่วยในการจำลองสภาวะการใช้งานและศึกษาความสัมพันธ์ ตลอดจนผลกระทบจากการไหลของน้ำที่มีต่อโครงสร้างเรือ ที่สำคัญ สวทช. ยังช่วยวิจัยเรื่องความแข็งแรงของโครงสร้างรถโดยสารตัวถังอลูมิเนียม ซึ่งผลดังกล่าวสามารถนำมาใช้ลดน้ำหนักของโครงสร้างให้มีน้ำหนักเบายิ่งขึ้น และมีความแข็งแรงตามมาตรฐานสากล ซึ่งความรู้ตัวนี้จะช่วยในการลดน้ำหนักและต้นทุนผลิต  อีกทั้งเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในรถโดยสารไฟฟ้าในอนาคต  สร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมของประเทศได้โดยตรง

ขณะที่ นายวีรพลน์ เตชะผาสุขสันติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวว่า การร่วมมือกับ สวทช. ครั้งนี้ นอกเหนือจากการพัฒนางานนวัตกรรมช่วงแรกอย่างรถไฟฟ้าโดยสาร เรืออลูมิเนียมที่มีความปลอดภัยสูงแล้ว ยังมีโครงการที่จะเตรียมทำต่ออีกหลายโครงการ อาทิ โครงการพัฒนาเรืออัจฉริยะ เรือ unman เรือไฟฟ้า การนำใช้ระบบอัจฉริยะต่างๆ เพื่อความปลอดภัย การใช้ Digital IoT technology สำหรับเชื่อมต่อสิ่งต่างๆ รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรม และการใช้งานเพื่อรองรับ AI ต่อไป 


จากการที่กลุ่มบริษัทของเราพัฒนาจนมี Technology และ Knowhow การขึ้นรูปโลหะชั้นสูง จนเป็นที่ยอมรับจากหลายค่ายรถชั้นนำ รวมถึงผันตัวเองมาพัฒนาการออกแบบกระบวนการผลิต จนสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนสูงได้ด้วยตัวเองทั้งหมด เช่น เรือ และ รถโดยสาร เป็นต้น และยังสามารถนำไปผลิต และประกอบตามมาตรฐานสากล และวางขายในเชิงพาณิชย์ ภายใต้แบรนด์ไทยได้นั้น ยังคงมองถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป โดยการร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยหลักของประเทศ อย่าง สวทช. คือเพื่ออาศัยผู้ชำนาญการสร้างระบบจัดองค์ความรู้ระดับสูงที่ได้พัฒนาขึ้นมา ให้อยู่ในรูปแบบที่เป็นสากล สามารถถ่ายทอดและพัฒนาต่อเนื่องอย่างเป็นรูปแบบได้ อีกทั้งยังสามารถนำเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาโดยคนไทยและนักวิจัยเข้ามาใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกด้วย

ด้าน นายวีระพล ไชยธีรัตต์ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT กล่าวว่า SAKUN C ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ CWT การร่วมมือกันในครั้งนี้จะส่งผลให้ CWT มีความแข็งแกร่งขึ้นเป็นอย่างมาก และจะได้มีนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยในการผลิตยานพาหนะสมัยใหม่ และจะเป็นการช่วยสนับสนุนการดำเนินงานในอนาคตให้มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป โดยการร่วมมือกันในครั้งนี้จะสร้างผลประโยชน์ให้กับวงการเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมไทยเป็นอย่างมาก รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตนวัตกรรม และพัฒนากระบวนการผลิตโดยระบบ Automation ทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงร่วมกันวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบ ยานยนต์สมัยใหม่ โดยใช้โครงสร้างน้ำหนักเบา และขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ตอบรับยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มตัว นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือกันพัฒนาทักษะบุคลากรด้านการวิจัย ด้านการพัฒนา และด้านการบริหารองค์ความรู้ รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนบุคลากรในองค์กร เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีไทยต่อไป