038-แรงงาน-ลดกำลังการผลิต-พิษเศรษฐกิจ

โรงงานแห่”ลดเวลาทำงาน”เซ่นพิษเศรษฐกิจ ส่งออกวูบ คำสั่งซื้อลดฮวบ!

อัปเดตล่าสุด 9 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 864 Reads   

ภาคการผลิตเซ่นพิษเศรษฐกิจ ส่งออกวูบ นิคมอุตสาหกรรม โรงงานในพื้นที่ภาคเหนือ กลาง อิสานเจอปัญหาไม่น้อยหน้ากัน คำสั่งซื้อสินค้าหด แห่ลดกำลังการผลิต ลดเวลาทำงานจาก 6 วันเหลือ 4 วัน/สัปดาห์ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องประดับเริ่มออกอาการ ชี้อีกหลายโรงงานน่าห่วง ส.อ.ท.-สภาหอการค้าหวั่นกระทบถึงเอสเอ็มอี “หม่อมเต่า” สั่งเกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการสำรวจในพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งโรงงาน และนิคมอุตสาหกรรม พบว่าภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามานานทำให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ล่าสุดช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายโรงงานมีการประกาศหยุดเวลาทำงานเพิ่ม ลดกำลังการผลิต ปลดพนักงาน รวมทั้งปิดกิจการ จากก่อนหน้านี้โรงงานผลิตและขายส่งกระเป๋าเดินทางใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ประกาศหยุดกิจการ ขณะที่บริษัท ไทยซัมมิท แหลมฉบัง ออโตพาร์ท จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ประกาศให้มีการหยุดงานชั่วคราวบางส่วน ระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม ถึง 25 ธันวาคม 2562 โดยยังจ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับพนักงาน ในอัตราร้อยละ 75 ของค่าจ้างปกติ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 ล่าสุดบริษัท นิปปอนสตีล โพรเซสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือ NIPPON STEAL จากญี่ปุ่น ประกาศให้พนักงานหยุดงานชั่วคราว เนื่องจากความต้องการใช้วัตถุดิบของลูกค้าลดลงอย่างต่อเนื่องหลายเดือนที่ผ่านมา

เครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กฯลดผลิต

นายสมหวัง ถุงสุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์แรงงานด้านอุตสาหกรรมใน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีนิคมใหญ่อยู่ 2 แห่ง ได้แก่ นิคมบางปะอิน นิคมบ้านหว้า (ไฮเทค) ยังทรง ๆ ไม่มีการประกาศปิดกิจการ แต่ใช้วิธีปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจด้วยการลดกำลังการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ จากที่เคยผลิต 100% ลดเหลือ 70% ขณะเดียวกันก็ลดเวลาการทำงาน จากเดิม 6 วัน/สัปดาห์ เหลือ 4 วัน

โรงงานที่น่าเป็นห่วงมากสุดอยู่นิคมบ้านหว้า (ไฮเทค) โดยเฉพาะโรงงานผลิตกล้องถ่ายภาพ และเครื่องถ่ายเอกสาร รวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องประดับ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใม่ใช่ปัจจัย 4 ซึ่งใช้ในชีวิตประจำวัน จึงมีแนวโน้มจะกระทบก่อนอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม แต่ละโรงงานพยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด โดยเน้นขอความร่วมมือจากพนักงานให้มีการปรับตัวในการทำงานด้วย

ออร์เดอร์จีนหด-ลดเวลาทำงาน

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฎ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า โรงงานในโคราชที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายในประเทศถือว่ายังเป็นปกติ ไม่มีโรงงานใดมีปัญหาต้องเลิกจ้างหรือลดจำนวนแรงงาน แต่โรงงานที่ผลิตและส่งออกสินค้าไปต่างประเทศเริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะโรงงานที่ผลิตสินค้าไปประเทศจีนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก บางแห่งต้องลดวันทำงานของลูกจ้างลงจาก 6 วัน/สัปดาห์ เหลือ 4 วัน เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้าลดลง ต้องให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราว แต่โรงงานที่ผลิตและส่งไปสหรัฐอเมริกายังมีคำสั่งซื้อเป็นปกติ

ที่ผ่านมามีโรงงานปิดกิจการชั่วคราวไปแล้ว 3-4 ราย แต่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานถูกต้องครบถ้วน ภาพรวมยังพอไปได้ ไม่ถึงกับย่ำแย่ แต่ในอนาคตหากสถานการณ์ยังเป็นไปในลักษณะนี้ การส่งออกลดน้อยลงเรื่อย ๆ การจ้างงานก็จะน้อยลง รัฐบาลจึงต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นกว่านี้ นอกจากนี้จากปัจจุบันพึ่งพารายได้จากการส่งออก 70% และภายในประเทศ 30% ก็ต้องลดการส่งออกเหลือ 60% และเพิ่มในประเทศเป็น 40% ประชาชนจึงจะมีเงินใช้จ่าย คนระดับกลางลงมาชักหน้าไม่ถึงหลัง ที่สำคัญอยากให้รัฐบาลดูแลโรงงานที่มีปัญหา ใช้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาช่วยให้ธุรกิจดีขึ้น เพราะถ้าผู้ประกอบมีปัญหาต้องปิดกิจการ ลูกจ้างจะตกงานทั้งหมด

โคราชจ่อปิดกิจการเพิ่ม

ขณะที่นายเกษมสันต์ เครือเจริญ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์แรงงานจังหวัดนครราชสีมายังปกติไม่ถือว่ารุนแรง แม้จะมีผู้ประกอบการที่ใช้มาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ให้พนักงานหยุดงาน แต่มีเพียงรายเดียวและเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ หรือออโต้พาร์ท มีลูกจ้าง 102 คน สาเหตุมาจากคำสั่งซื้อลดลง จึงขอให้พนักงานหยุดทำงาน 7 วัน หลังจาก 7 วันก็ดำเนินกิจการตามปกติ และผู้ประกอบการทำตามเงื่อนไขของกฎหมายแรงงานถูกต้อง จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง 75% ของค่าแรงรายวัน ก่อนหน้านี้ก็มีโรงงานแปรรูปแป้งมันสำปะหลังที่ใช้มาตรา 75 เช่นกัน เนื่องจากขาดแคลนมันสำปะหลังเข้าโรงงานจากที่เกิดโรคใบด่าง ต้องหยุดกิจการชั่วคราว 1 เดือน แต่จ่ายค่าจ้าง 75% ให้ลูกจ้างเช่นกัน

แต่ยังมีอีก 2 รายที่น่าเป็นห่วงและแนวโน้มจะปิดกิจการ เนื่องจากคำสั่งซื้อลดลง โดยนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย เร่งขายเครื่องจักรต่อให้กับโรงงานอื่น พร้อมทั้งหางานใหม่ให้ลูกจ้าง ภาคราชการก็เข้าไปดูแล และเยียวยาลูกจ้างที่เดือดร้อน

ส่งออกวูบพ่นพิษ SMEs แม่กลอง

ส่วนใน จ.สมุทรสงคราม นายวีระนิจ เหลืองรัตนเจริญ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า แม้ภาคอุตสาหกรรมไทยขาดแคลนแรงงานไทย ต้องจ้างแรงงานต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตฯ SMEs ที่ต้องผลิตออร์เดอร์ส่งโรงงานขนาดใหญ่ทั้งหมด เมื่อบริษัทใหญ่ออร์เดอร์น้อยลง ทำให้บริษัท SMEs มีปัญหาตามไปด้วย เวลานี้ภาคการผลิตใน จ.สมุทรสงคราม ออร์เดอร์ลดลงกว่า 50% หลายโรงงานจึงลดกำลังการผลิตเหลือเพียง 60% หรือต่ำกว่านั้น และมีแนวโน้มจะลดลงอีก

ส.อ.ท.ห่วงธุรกิจรายเล็ก

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า การปิดกิจการเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ซึ่งน่าเป็นห่วงรายเล็กที่สายป่านสั้นจะกระทบ ขณะเดียวกันภาพรวมภายในประเทศเองก็ยังไม่เห็นการลงทุนใหม่ ๆ ส่วนใหญ่เป็นการใช้ช่วงจังหวะค่าเงินบาทแข็ง นำเข้าเครื่องจักรเพื่อมาปรับปรุงเทคโนโลยีลดต้นทุนมากกว่า เป็นการปรับตัวที่ผู้ประกอบการทุกอุตสาหกรรมต้องทำเพื่อให้อยู่รอด

นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในทำนองเดียวกันว่า การลดเวลาทำงานและลดการจ้างงานเป็นผลจากตัวเลขการส่งออกที่ลดลงและอุตสาหกรรมบางส่วนปรับตัวหันมาใช้ AI แทนแรงงานคน ซึ่งในอนาคตภาครัฐและเอกชนควรตั้งรับประเด็นนี้ให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เรื่องนี้สหรัฐให้ข้อสังเกตว่า รัฐบาลสหรัฐเคยเผชิญมาแล้วและตั้งรับไม่ทัน ดังนั้นไทยควรหันมามองเรื่องการรีเทรนนิ่งบุคลากรเพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนอุตสาหกรรม 4.0

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะเสนอตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐและเอกชนเกี่ยวกับเรื่องนี้

หม่อมเต่าสั่งจับตาสถานการณ์

ด้านนายอภิญญา สุจริตตานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัญหาการว่างงานขณะนี้ไม่รุนแรง และน่ากังวล และที่ผ่านมา รมว.แรงงาน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์การว่างงาน ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกาะติดสถานการณ์และหาแนวทางการช่วยเหลือภาคแรงงานโดยเร็ว

สถานการณ์การจ้างงาน รายงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ภาวะการทำงานของประชากรที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.42 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 37.78 ล้านคน เป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม ภาคการผลิต ภาคบริการ และการค้า ผู้ว่างงานมีจำนวน 3.77 แสนคน หรือร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม เทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน จำนวนผู้ว่างงานลดลง 3.4 หมื่นคน