ไทยยกเกาหลีใต้ ‘หุ้นส่วนเศรษฐกิจ’ ที่แนบแน่น ชวนปักหลักลงทุนในไทย พร้อมเชื่อมสู่อาเซียน
นายกรัฐมนตรี เทียบเชิญนักลงทุนเกาหลีใต้ เลือกไทยเป็นฐานขยายธุรกิจและการลงทุนสู่ประเทศ CLMV และ EEC สั่ง BOI อำนวยความสะดวกเต็มที่หวังดึงตั้งฐานลงทุนในไทยเพิ่มจากปัจจุบันที่มีกว่า 400 บริษัท พร้อมเชื่อมโยงนโยบาย Thailand 4.0 เข้ากับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนเติบโต ขณะเดียวกัน ยังตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าสองฝ่ายให้ได้ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2563
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษต้อนรับประธานาธิบดี มุน แช อิน (Moon Jae-in) คณะนักลงทุนชั้นนำจากสาธารณรัฐเกาหลี และไทยกว่า 600 คน ในโอกาสเดินทางเข้าร่วมงานสัมมนา “Thailand-Korea Business Forum” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และหอการค้าและอุตสาหกรรมสาธารณรัฐเกาหลี ระบุว่า การเดินทางเยือนไทยของประธานาธิบดี มุน แช อิน พร้อมคณะนักธุรกิจชั้นนำในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากกว่า 100 บริษัท เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่านักลงทุนเกาหลีให้ความสำคัญกับประเทศไทยในฐานะหุ้นส่วนเศรษฐกิจและการลงทุน ขณะเดียวกัน ประเทศไทยจะได้เชื่อมโยงนโยบายด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ให้สอดคล้องและเป็นรูปธรรมมากขึ้นกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy-NSP) ของเกาหลี ที่จะสร้างประโยชน์ร่วมกันในอนาคตกับทั้งประเทศไทย รวมถึงภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้นโยบาย New Southern Policy เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2561 เพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างเกาหลีและอาเซียน รวมถึงอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดมหาศาลด้วยประชากรรวมกันกว่า 2,026 ล้านคน (อาเซียนราว 660 ล้านคน และอินเดียราว 1,366 ล้านคน)
นอกจากนี้ เกาหลียังสามารถใช้พลังทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง ผสมผสานกับพลังด้านวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ในการสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดด ขณะที่ผู้ประกอบการทุกระดับ ตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่ไปจนถึงเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ มีเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมที่โดดเด่นซึ่งได้รับการยอมรับในระดับโลก ทำให้เกาหลีกลายเป็นเครื่องจักรสำคัญขับเคลื่อนภูมิภาคเอเชีย ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือและเป็นประตูสู่กลุ่ม CLMVT (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม และไทย) พร้อมขอให้มั่นใจว่าประเทศไทยยินดีต้อนรับการลงทุนจากนักลงทุนเกาหลี โดยได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อำนวยความสะดวกและดูแลนักลงทุนเกาหลีซึ่งปัจจุบันลงทุนในประเทศไทย จำนวนกว่า 400 บริษัท และปีนี้ต้องการให้นักลงทุนเกาหลีเข้ามาลงทุนมากขึ้นกว่านี้ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งสองประเทศไปด้วยกันท่าม กลางความอ่อนไหวของเศรษฐกิจโลก
ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าไทย-เกาหลี ทะลุ 20,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ภายในปี 2563
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์การค้าระหว่างไทยและเกาหลีขณะนี้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่ไทยได้ตั้งเป้าหมายอย่างท้าท้ายภายในปี 2563 มูลค่าการค้าจะต้องเพิ่มขึ้นให้ได้ถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจุบันอยู่ที่ 14,000-15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประเทศไทยมีจุดแข็งด้านเกษตรกรรมส่วนเกาหลีมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ก็จะเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกันได้มากขึ้น
“การเยือนไทยของประธานาธิบดีและคณะนักลงทุนเกาหลีในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันสำคัญยิ่งที่ประเทศไทยจะได้มีโอกาสเชื่อมโยงนโยบายด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของไทยให้สอดคล้องกับนโยบาย New Southern Policy ซึ่งนโยบายหลายอย่างตรงกับไทยทั้งสิ้น และทำอย่างไรให้นโยบายเหล่านี้มาขับเคลื่อนไปให้ได้ ทั้งกิจกรรมหลัก กิจกรรมย่อย เพื่อให้เกิดผลเร็วขึ้น ดังนั้นอะไรที่ตรงกัน ที่ต้องการเหมือนกัน และพร้อมสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ ก็ขอให้ดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่ออนาคตของทั้งสองประเทศในด้านการค้าและการลงทุน”
นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลไทยได้กำหนดนโยบาย Thailand 4.0 โดยมุ่งขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัล และสอดคล้องกับอุตสาหกรรมยุคที่ 4 จึงได้เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อเสริมความโดดเด่นด้าน Connectivity ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นระบบคมนาคมขนส่ง, พลังงาน, ท่าเรือ, สนามบิน และโครงข่ายดิจิทัล ควบคู่ไปกับการสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ที่เน้นการเจริญเติบโตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ เศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) ที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นพื้นฐาน, อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ , อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น เพื่อรองรับการพัฒนาของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และยังมีการเตรียมพื้นที่สำหรับรองรับงานด้านการวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรม ได้แก่ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand : EECd) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ตลอดจนการสร้างเมืองใหม่ที่เป็นเมืองอัจฉริยะ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งเดินหน้าพัฒนาบุคลากรที่มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีในสาขาใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนหรือมีอยู่น้อย เช่น อากาศยาน, หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติและด้านดิจิทัลขั้นสูง รวมถึงการยกระดับทักษะแรงงานครั้งใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิม ผ่านการส่งเสริมให้เกิดสถาบันฝึกอบรมเฉพาะทาง และดึงให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคคลากร เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงการลงทุนจากเกาหลีที่จะมาตั้งฐานธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้นโยบาย New Southern Policy เพื่อรองรับกับ EEC ที่มีความต้องการแรงงานอีกหลายแสนคน
“ประเทศไทยได้เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อเสริมความโดดเด่นด้าน ‘Connectivity’ ในทุกมิติ การสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการเร่งพัฒนาบุคลากรที่มี องค์ความรู้ในเทคโนโลยีใหม่ๆ ผมจึงขอเชิญชวนให้ท่านใช้จุดแข็งที่ท่านมีในการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในประเทศไทย โดยใช้ไทยเป็นฐานในการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านใน CLMV และอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้เป็นปีแห่งการลงทุนที่ท่านจะได้สิทธิประโยชน์พิเศษเพิ่มเติม”
ผู้นำเกาหลีชื่นชมศักยภาพประเทศไทย ยินดีสานสัมพันธ์และร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น
ด้าน นายมุน แจ อิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี กล่าวตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปัจจุบันมีศักยภาพในอุตสาหกรรมยานยนต์, เทคโนโลยี, นวัตกรรมทันสมัย, การผลิตยาและเภสัชกรรม, การท่องเที่ยว และการเป็นครัวของโลก และยังคงเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ EEC โดยหวังเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยและเกาหลีเพิ่มขึ้นจากปี 2561 มีมูลค่ารวม 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีประชาชนสองประเทศเดินทางไปมาหาสู่กันมากกว่า 2.3 ล้านคน มีแรงงานไทยในเกาหลี 80,000 คน และมีชาวเกาหลีทำงานในไทยกว่า 20,000 คน ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ให้ความสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไทยและประเทศอาเซียนภายใต้นโยบาย New Southern Policy เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือในด้านต่าง ๆ และพร้อมสนับสนุนไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตชั้นนำของเอเชีย
นายมุน แจ อิน กล่าวเพิ่มเติมว่า เกาหลีใต้พร้อมมีความร่วมมือกับไทยใน 3 ด้าน ได้แก่
1. เดินหน้าร่วมมือปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ร่วมกัน ซึ่งประเทศไทยกำหนดนโยบาย Thailand 4.0 เน้นผลักดัน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์สมัยใหม่, เศรษฐกิจฐานชีวภาพ และเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์สมัยใหม่ ซึ่งเกาหลีใต้สนใจร่วมมือกับไทยในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง และการผลิตรถยนต์อัตโนมัติ โดยเร็ว ๆ นี้จะมีการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นไอโอนิก (IONIG) ที่ได้รับความนิยมมากในเกาหลีใต้ในประเทศไทย
2. ร่วมกันเสริมสร้างระบบนิเวศให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยเติบโตขึ้นมาก ขณะที่เกาหลีใต้มีความเชี่ยวชาญสูงและมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นถึง 9 บริษัท (ยูนิคอร์นต้องมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งจะสามารถต่อยอดนโยบายผลักดันสตาร์ทอัพ ของไทยให้เพิ่มขึ้นได้ถึง 30%
3. การร่วมมือกันในเวทีการค้าโลกที่เสรีและเป็นธรรม เร่งหาข้อตกลงเศรษฐกิจภูมิภาค และร่วมมือการค้าภายใต้ระบบพหุภาคีที่โปร่งใส และเป็นธรรม
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี กล่าวปิดท้ายอย่างน่าประทับใจว่า “ผมได้ยินสุภาษิตไทยว่า เพื่อนแท้เหมือนทองคำ ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ประเทศไทยเป็นเพื่อนแท้ของเกาหลีที่ช่วยเหลือเราในยามยากลำบาก แม้ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มิตรภาพระหว่างทั้งสองประเทศจะยังคงมีคุณค่าและยั่งยืนเช่นเดียวกับทองคำ"
ย้ำไทยมีสภาพแวดล้อมที่ดีในการลงทุน และสิทธิประโยชน์ที่ยอดเยี่ยม
ด้าน นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมและสิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนเกาหลีที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย และกำลังให้ความสนใจการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยมี 8 ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่
1. ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย รวมทั้งยังเป็นใจกลางการร่วมมือของกลุ่มประเทศ CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย) ซึ่ง CLMVT มีการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงที่ 8.2% ในปีที่ผ่านมา
2. ไทยมีการเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนกับหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน และยังมีการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าสูง ซึ่งภายในปี 2565 จะมีการลงทุนกว่า 64,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาระบบคมนาคม และการรองรับการลงทุนต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาโครงการ EEC ครอบคลุม 3 จังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งจะมีโครงการต่าง ๆ เกิดขึ้นภายในปี 2568 อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2566 ส่วนศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างการบินไทยและแอร์บัส คาดว่าจะเปิดให้บริการประมาณปี 2565 และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ในปี 2568 นอกจากนี้ ยังมีนิคมอุตสาหกรรม 57 แห่ง ในพื้นที่ 16 จังหวัด และสวนอุตสาหกรรม 25 แห่ง ใน 10 จังหวัด ที่พร้อมรองรับนักลงทุน
3. ไทยมีห่วงโซ่การผลิตที่ดี สามารถเชื่อมโยงห่วงโซ่อุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่, ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฐานชีวภาพ ซึ่งสร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงเอสเอ็มอี
4. ไทยมีตลาดในประเทศค่อนข้างใหญ่และกำลังซื้อมาก และยังมีการเติบโตของการใช้งานด้านดิจิทัลมากขึ้น โดยข้อมูลในปี 2561 พบว่ามีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากถึง 47 ล้านคน มีการใช้งานโทรศัพท์มือถือ 83.6 ล้านคน มีมูลค่าอี-เพย์เมนท์ 3.09 ล้านล้านบาท เป็นต้น ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของนักธุรกิจเกาหลี
5. ไทยมีสตาร์ทอัพที่แข็งแรง รวมถึงเอกชนที่พร้อมจะพัฒนาและลงทุนสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพด้วย
6. ไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
7. การพัฒนาคนที่มีทักษะตรงตามความต้องการของสายงาน
8. สมาร์ทวีซ่า เพื่อรองรับคนที่จะเข้ามาอยู่และทำงานในประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนของรัฐบาลไทยที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ BOI ถือเป็นหน้าด่านของการส่งเสริมการลงทุนและช่วยเหลือนักลงทุนในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุน โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการแก้กฎหมายการลงทุนเพื่อให้เอื้อต่อการดึงดูดการลงทุนมากขึ้น เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มขึ้นแก่การลงทุนที่มุ่งเน้นเรื่องการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อกระตุ้นให้การวิจัยและพัฒนามากขึ้นในประเทศ และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการสนับสนุนสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในบางพื้นที่ เช่น พื้นที่ EEC และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน นอกจากนี้ ในปีนี้รัฐบาลยังกำหนดให้เป็นปีแห่งการลงทุน (Thailand Investment Year) ซึ่ง BOI ได้ออกแพคเกจสนับสนุนการลงทุนให้แก่ธุรกิจหรือกิจกรรมที่มีการลงทุนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ในสาขาที่กำหนด นอกจากได้รับการสนับสนุนตามแพคเกจมาตรฐาน ยังได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% อีก 3 ปี แต่ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2562 ส่วนนโยบายสมาร์ทวีซ่าที่ออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ก็เพื่อดึงดูดการลงทุนและผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรม สามารถทำงานในไทยได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน ตลอดจนการมี One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ แก่นักลงทุน
“การจัดงานในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีในการแนะนำนโยบายด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ตลอดจนความพร้อมของปัจจัยต่าง ๆ ที่จะรองรับการลงทุนและโอกาสในการทำธุรกิจในไทย และเชื่อว่าจะช่วยให้ภาคเอกชนของเกาหลีมองเห็นศักยภาพและความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจของภูมิภาค และเป็นฐานการลงทุนที่ดีสำหรับนักลงทุน”
อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : www.eeco.or.th