“โตชิบา” โอนทีวีให้ “สกายเวิร์ท” จุดเริ่มต้น…ไพรซ์วอร์รอบใหม่

อัปเดตล่าสุด 9 พ.ค. 2562
  • Share :

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดกระแสฮือฮาในวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยอีกครั้ง

เมื่อแฟนเพจ “โตชิบา ไทยแลนด์” ได้เผยแพร่ประกาศลงวันที่ 28 มี.ค. 2562 เรื่องหยุดเป็นผู้แทนจำหน่ายและให้บริการต่าง ๆ อาทิ ตรวจเช็ก ซ่อมแซมและจำหน่ายอะไหล่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทีวี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา พร้อมแจ้งว่า บริษัท สกายเวิร์ท (ไทยแลนด์) จำกัด ที่เป็นผู้แทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการแทน จะรับหน้าที่ดูแลการจัดจำหน่าย รวมถึงบริการหลังการขายต่อไปแทน

เพียงไม่กี่นาทีต่อมา โพสต์ดังนี้กลายเป็นกระแสโด่งดังในโลกโซเชียลหลังชาวเน็ต รวมถึงออนไลน์และออฟไลน์นำประกาศนี้ไปเผยแพร่ ทำให้ผู้ใช้จำนวนมากเข้าไปสอบถามรายละเอียดและแสดงความกังวลต่อสถานะของแบรนด์โตชิบาในประเทศไทย


แม้แอดมินของเพจจะพยายามตอบข้อสงสัยและยืนยันว่า บริษัทยังคงทำตลาดสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอื่น ๆ อยู่ แต่ดูเหมือนจะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ส่งผลให้ต้องลบโพสต์นี้หลังประกาศเพียงไม่กี่ชั่วโมง

การประกาศหยุดเป็นผู้แทนจำหน่ายและให้บริการหลังการขายสำหรับสินค้าโทรทัศน์ของ “โตชิบา ไทยแลนด์” นี้ นับเป็นควันหลงล่าสุดของแผนปรับโครงสร้างที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่ง “โตชิบา คอร์ป” บริษัทแม่ในญี่ปุ่น หันโฟกัสตลาดลูกค้าองค์กรด้วยธุรกิจอย่างโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานและโซลูชันไอที จึงทยอยขายธุรกิจอื่น ๆ ออกไปให้กับผู้ประกอบการ-กองทุนต่าง ๆ ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เซ็นเซอร์รับภาพ ชิปหน่วยความจำคอมพิวเตอร์ ซึ่งธุรกิจสินค้าภาพและเสียงเป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน


อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีจุดที่ต้องจับตามองหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการที่ “สกายเวิร์ท” ผู้ผลิตทีวีและเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติจีน อายุ 30 ปี ซึ่งมีฐานผลิตในเสิ่นเจิ้น กว่างโจว มองโกเลีย และส่งทีวีแบรนด์สกายเวิร์ท และคูกา (Coocaa) ขายในหลายตลาดทั่วโลกรวมถึงไทย มีชื่อเป็นผู้แทนจำหน่ายและให้บริการหลังการขายอย่างเป็นทางการ


ทั้งที่ปัจจุบันธุรกิจ “สินค้าภาพและเสียง” ของโตชิบา อยู่ในมือ “ไฮเซนส์” (Hisense) ผู้ผลิตทีวีรายใหญ่ของแดนมังกร หลังให้ “ไฮเซนส์ อิเล็กทริก” (Hisense Electric) บริษัทย่อยในเครือซื้อหุ้น 95% ของ “โตชิบา วิชวล โซลูชัน คอร์ป” (Toshiba Visual Solutions Corp.) บริษัทวิจัย พัฒนา ผลิต และจัดจำหน่ายสินค้าภาพและเสียงของโตชิบาไปในมูลค่าประมาณ 114 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปลายปี 2560


ดีลนี้ทำให้ไฮเซนส์ได้โรงงานในญี่ปุ่น 2 แห่ง หน่วยงานขายและบริการหลังการขาย โนว์ฮาว-เทคโนโลยีและสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสิทธิใช้แบรนด์โตชิบาทำตลาดทีวีในหลายภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นระยะเวลานานถึง 40 ปี


ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นผลจากดีลระหว่างสกายเวิร์ทและโตชิบา เมื่อปลายปี 2558 ที่โตชิบาได้ขาย “พีที โตชิบา คอนซูเมอร์ โปรดักส์ อินโดนีเซีย” (PT Toshiba Consumer Products Indonesia) ฐานผลิตทีวีและเครื่องซักผ้า 2 ถังของโตชิบา ในประเทศอินโดนีเซีย พร้อมสิทธิใช้แบรนด์โตชิบา


ในภูมิภาคเอเชีย ยกเว้นประเทศจีนให้กับสกายเวิร์ท โดยไม่เปิดเผยระยะเวลาของสัญญา โดยที่ผ่านมาโตชิบาได้ให้สิทธิใช้ชื่อแบรนด์ในสินค้าทีวีกับหลายบริษัททั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น คอมปาล (Compal), เซมพ์ (Semp), ทีซีแอล (TCL), เอลาลาบี (Elaraby) และเวสเทล (Vestel) เป็นต้น


“การแข่งขันดุเดือดในตลาดทีวีทำให้ที่ผ่านมาหลายแบรนด์ปรับโมเดลธุรกิจหันมาหารายได้จากค่าไลเซนส์การใช้ชื่อแบรนด์แทน เช่น พานาโซนิค ที่ให้สิทธิบริษัทฟูไน (Funai) ใช้ชื่อแบรนด์ซันโย ทำตลาดทีวีในสหรัฐ ส่วนชาร์ปให้สิทธิใช้ชื่อแบรนด์ในตลาดทีวีสหรัฐกับไฮเซนส์”


อีกหนึ่งจุดคือความเปลี่ยนแปลงด้านทิศทางการทำตลาดของทีวีแบรนด์โตชิบา หลังจากเปลี่ยนเจ้าของเป็นกลุ่มทุนจากจีน ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องศักยภาพการผลิตจำนวนมาก ช่วยให้ได้ต้นทุนสินค้าต่ำกว่าคู่แข่งแบรนด์เกาหลี-ญี่ปุ่น โดยแหล่งข่าวอีกรายให้ความเห็นว่า มีโอกาสที่จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงด้านราคาและกลยุทธ์การตลาด


แต่ช่วง 1-2 เดือนนี้อาจยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนนัก เนื่องจากดีลเลอร์ยังมีสินค้าเก่าค้างสต็อกอยู่ และต้องใช้เวลาระบายให้หมดก่อน


อีกทั้งตลาดทีวีมีการแข่งขันเรื่องราคามาโดยตลอด จึงอาจจะทำให้เห็นความแตกต่างของราคาได้ยาก นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามราคาที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น