“กสทช.-ดีอี” เร่งดัน 5G เต็มสูบ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ 2.3 ล้านล้าน

อัปเดตล่าสุด 12 เม.ย. 2562
  • Share :

ขานรับนโยบายรัฐบาลที่ปักธงให้ไทยมี 5G ใช้ในปี 2563 เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” ย้ำชัด ๆ อีกครั้งบนเวที “5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน” ว่า ประเทศไทยวางแผนเปิดบริการ 5G เชิงพาณิชย์ปีหน้า โดย กสทช.อยู่ระหว่างออกแบบการประมูลคลื่น 5G ให้เหมาะสม

โดยจะแตกต่างจากการประมูล 3G และ 4G ที่ผ่านมา เพราะจำเป็นต้องมีการใช้คลื่นความถี่หลายย่านเพื่อให้บริการที่จะรองรับปริมาณข้อมูลบนโครงข่ายที่เร็วขึ้นกว่า 4G 10-100 เท่า มีความหน่วงต่ำ ตอบสนองได้รวดเร็วขึ้น ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาล

โดย กสทช. จะทบทวนมูลค่าคลื่น ราคาเริ่มต้น งวดการชำระเงินค่าประมูล และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการลงทุน รวมถึงการจัดการประมูลแบบหลายย่านคลื่นพร้อมกัน (multiband) และเปลี่ยนรูปแบบอนุญาตให้มีทั้งใบอนุญาตแบบให้บริการทั่วประเทศ (nationwide) และใบอนุญาตที่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่กำหนด (specific area) เช่นในพื้นที่ EEC

พร้อมกับวางแผนในการจัดสรรคลื่นความถี่รองรับ 5G โดยในปีนี้จะจัดประมูลคลื่น 700 MHz ส่วนคลื่น 2600 MHz จะอยู่ในช่วงปลายปี 2562 หรือต้นปี 2563 ซึ่งจะประมูลแบบมัลติแบนด์กับคลื่น 26 และ 28 GHz ส่วนคลื่น 3500 MHz เป็นย่านที่ บมจ.ไทยคมใช้งานอยู่ จึงต้องหารือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เนื่องจากเกี่ยวข้องกับสัมปทานดาวเทียมที่จะสิ้นสุดในปี 2564 ทั้งยังไม่ได้มีการเริ่มทำรายงานการเรียกคืนคลื่น จึงต้องใช้เวลาอีกระยะ แต่น่าจะทันนำออกประมูลในปี 2563

“ที่สำคัญตอนนี้คือการเริ่มทดลองทดสอบเพื่อหา use case ที่จะใช้งาน 5G ได้อย่างเหมาะสม เพื่อเตรียมพร้อมไว้ก่อน เมื่อสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) มีการประกาศมาตรฐาน 5G ในปีหน้าก็จะได้พร้อมก้าวสู่การให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ได้ทันที เพราะหากไทยเปิด 5G ช้าจะสูญเสียโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 2.3 ล้านล้านบาท”

ด้าน “พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” รัฐมนตรีดีอี กล่าวว่า การขับเคลื่อน 5G เป็นเรื่องที่สำคัญที่ทุกฝ่ายจะก้าวไปด้วยกัน เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นำอาเซียนให้ได้ ซึ่งเป็นความท้าทายมาก โดย 5G จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้ในหลายอุตสาหกรรม ทั้งการแพทย์ สาธารณสุข ระบบขนส่งอัจฉริยะ

ดังนั้นจึงได้ร่วมกับทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาพื้นที่ทดลองทดสอบ 5G โดยเฉพาะการตั้งศูนย์ทดสอบ 5G ในมหาวิทยาลัยเกษตรฯ วิทยาเขตศรีราชา เพื่อเตรียมขยายผลต่อพื้นที่ EEC ซึ่งได้ดึงหลายหน่วยงานเข้าร่วมทดสอบด้วย อาทิ ท่าเรือแหลมฉบัง ไปรษณีย์ไทย โรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา โรงพยาบาลระยอง มหาวิทยาลัยมหิดล โรงงานผลิตรถยนต์ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) และ บมจ.แสนสิริ