ร่างแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ให้ “JBIC-JICA” ศึกษาแล้วเสร็จใน 6 เดือน

อัปเดตล่าสุด 7 ก.ค. 2562
  • Share :
  • 459 Reads   

“คณิศ” ดึง JBIC-JICA ศึกษา เมืองอัจฉริยะใน EEC กันพื้นที่สีเขียว 30% คล้ายโมเดลเมืองอัจฉริยะของนิคมอมตะ-โยโกฮามา ด้าน BOI เตรียมอัดสิทธิประโยชน์ครอบคลุม 7 Smart ลุยโรดโชว์ครึ่งปีหลัง 4 ประเทศ หลังอานิสงส์เทรดวอร์ดันย้ายฐานมาไทย

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 7/2562 ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า สกพอ.เตรียมที่จะร่างแผนเมืองอัจฉริยะ (smart city)ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) หลังจากที่ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) กับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ได้ร่วมกันศึกษาเมืองอัจฉริยะ คาดว่าจะสรุปผลการศึกษาของ 2 หน่วยงาน และจัดทำแผนภายในไตรมาส 3/2562 และแผนจะต้องเสร็จสมบูรณ์ภายใน 6 เดือน

ทั้งนี้ แผนเมืองอัจฉริยะจะระบุคุณสมบัติผู้พัฒนาเมือง, ประเภทกิจการ, พื้นที่ตั้งของการสร้างเมือง, รูปแบบการจัดสรรเมือง, การควบคุมดูแล, การบริหารจัดการเมือง โดยเมืองอัจฉริยะจะต้องครอบคลุม 7 ด้านอัจฉริยะ (7 smart) ประกอบด้วย 1) ด้านคมนาคมขนส่ง (smart mobility) 2) ด้านการศึกษาและความเท่าเทียมกันในสังคม (smart people) 3) ด้านความปลอดภัย (smart living) 4) ด้านความสะดวกในการทำธุรกิจ (smart economy) 5) ด้านบริการจากภาครัฐ (smart governance) 6) ด้านพลังงาน (smart energy) และ 7) ด้านสิ่งแวดล้อม (smart environment)

“smart city ของ EEC จะเหมือนกับที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะกับโยโกฮามา โดยต่อไปนี้การสร้างบ้านจัดสรร-อาคารพาณิชย์ต่าง ๆ จะต้องจัดสรรเป็นเมืองอัจฉริยะเท่านั้น” นายคณิศกล่าว

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กำหนดว่า smart city ต้องประกอบด้วย 6 ด้านอัจฉริยะ (6 smart) โดย BOI จะให้การส่งเสริม 2 ประเภทกิจการ คือ

  • กิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ ซึ่งต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่รองรับระบบอัจฉริยะ เช่น fiber optic, public WiFi, การบริหารจัดการข้อมูล (open data platform) และต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะพื้นฐานทั้ง 6 ด้าน
  • การส่งเสริมผู้ที่จะมาพัฒนาระบบอัจฉริยะในด้านต่าง ๆ โดยต้องพัฒนา ติดตั้ง และให้บริการระบบเมืองอัจฉริยะที่เหมาะสมอย่างน้อย 1 ด้าน จาก 6 ด้าน โดยทั้ง 2 ประเภทกิจการนี้จะได้รับ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี (มูลค่ายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 100% ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)

ส่วนแผนการโรดโชว์ครึ่งปีหลังของ สกพอ. เพื่อชักจูงนักลงทุนในเดือนกรกฎาคมนี้ เตรียมเดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ JBIC และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศจีน (CDB) กับ EEC และอีก 1 ฉบับจะมี MOU ที่ต้องเซ็นกับเกรเตอร์เบียแอเรีย เป็น 2 MOU ยังไม่ได้กำหนดวันที่ชัดเจน “ตอนนี้ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กำหนดวันและความพร้อมอีกครั้ง”

อย่างไรก็ตาม สกพอ.ยังคงมุ่งไปที่จีน ซึ่งจะต้องเน้นย้ำการเดินทางโรดโชว์ซ้ำอีกหลายครั้ง เนื่องจากจีนได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ากับทางสหรัฐ การเดินทางไปจีบนักลงทุนจังหวะนี้เป็นจังหวะที่จีนส่งสัญญาณจะย้ายฐานการลงทุนมาไทย “เมื่อจีนกำลังอยากย้ายฐานผลิต-ลงทุน เวลาต่อรองเงื่อนไขจึงง่ายกว่าตอนไปจีบเขา” ส่วนญี่ปุ่นก็ต้องสานต่อความร่วมมือกัน การไปโรดโชว์จำเป็นต้องให้หลายเรื่องต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็จำเป็นต้องมีกลยุทธ์การชักจูงนักลงทุนจากต่างประเทศให้เหนือกว่าคู่แข่งอย่างเวียดนาม ด้วยเวียดนามได้เร่งพัฒนาประเทศเพื่อดึงนักลงทุนเช่นกัน ดังนั้น ขณะนี้จึงเห็นกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลไปลงทุนที่เวียดนามมากขึ้น แม้ว่าสิทธิประโยชน์ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเวียดนามจะสู้ไทยไม่ได้ก็ตาม “แต่เวียดนามกลับเหนือกว่าในเรื่องของอัตราค่าจ้างแรงงาน” รวมถึงการเดินทางไปโรดโชว์ยุโรปอย่าง “ฝรั่งเศส” ก็ต้องไป เพราะลูกค้าอยู่ที่นั่นคือ อุตสาหกรรมการบิน ส่วนเยอรมนีเป็นกลุ่มนักลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงและมีศักยภาพมาก

“เมื่อเวียดนามดึงอุตสาหกรรมดิจิทัลไปได้ เราจะทำอย่างไรให้ดึงกลุ่มนี้มาลงที่ไทย แต่เวียดนามเป้าคือดึงอุตสาหกรรมดิจิทัลแต่ยังไม่ใช่เทคโนโลยีขั้นสูงเหมือนกับไทย ดังนั้น เวียดนามจึงยังสู้ไทยไม่ได้ แต่เราอย่าชะล่าใจ ไทยจะทำงานเชิงรับไม่ได้แล้ว” นายคณิศกล่าว