"มิตซูบิชิ" ฟันธง ปลั๊ก-อินไฮบริด แมตช์กับเมืองไทยที่สุด

อัปเดตล่าสุด 7 ก.พ. 2562
  • Share :
  • 404 Reads   

ตั้งโต๊ะแถลงผลประกอบการและความสำเร็จในปี 2561 ที่ผ่านมา ภายใต้การดูแลของ "โมริคาซุ ชกกิ" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ที่จบลงอย่างสวยหรู สร้างรอยยิ้มกันถ้วนหน้า ทั้งบริษัทแม่ ผู้แทนจำหน่าย และบรรดาพนักงาน บนความสำเร็จทะลุเป้าหมาย ด้วยอัตราเติบโต ถึง 21.3% และย้ำว่า ปี 2562  มิตซูบิชิยังพร้อมเดินหน้าต่อยอดความสำเร็จ และขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ "กุญแจ" ที่จะไขไปสู่อีกก้าวของเป้าหมาย เฉียด "แสน" คัน 

กระแสตอบรับดีขายทะลุเป้า

สำหรับในปี 2561 ที่ผ่านมานั้นเป็นปีแห่งความสำเร็จ และประเทศไทยกลับมามียอดขายรถยนต์เกินกว่า 1 ล้านคัน เป็นครั้งที่ 3 นับจากเมื่อปี 2555 ที่มียอดขายสูงสุดถึง 1,436,337 คัน ในช่วงที่มีการประกาศใช้นโยบายรถยนต์คันแรก หลังจากที่ประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ และปี 2556 ที่ยอดขายจบที่ 1,330,671 คัน และหลังจากนั้น ตลาดก็มียอดขายลดลงมา 4 ปีอย่างต่อเนื่อง ในปีที่ผ่านมายอดขายกลับกระเตื้องขึ้นไป ทำได้ 1,041,739 คัน โต 19.5% มิตซูบิชิเรากลับมีการเติบโตสูงกว่าตลาด เราโตถึง 21.3% มียอดขาย 84,560 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 8.1% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.1% เท่านั้น แต่ในส่วนของยอดขายเราทำได้จาก 69,737 คัน ซึ่งสัดส่วนของยอดขายหลัก ๆ มาจากรถปิกอัพไทรทัน จำนวน 39,984 คัน รองลงมาได้แก่ แอททราจ จำนวน 15,714 คัน, ปาเจโรสปอร์ต จำนวน 12,982 คัน, มิราจ จำนวน 10,371 คัน และเอ็กซ์แพนเดอร์ 5,509 คัน 

ตลาดส่งออกยังโตต่อเนื่อง

ขณะที่ตัวเลขยอดส่งออกนั้น มิตซูบิชิทำได้ 347,000 คัน โต 4.2% แบ่งเป็นซีเคดี 60,000 คัน และซีบียู 287,000 คัน ซึ่งในตัวเลขของการส่งออกนี้ เราส่งออกไปยังกลุ่มประเทศยุโรป สูงถึง 30% รองลงมา ได้แก่ เอเชีย 26%, อเมริกาเหนือ 16%, อเมริกากลางและอเมริกาใต้ 11%, โอเชียเนีย 11%, ตะวันออกกาง 3% และแอฟริกา 3% สำหรับปัจจัยที่ทำให้มิตซูบิชิมียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากหลากหลายปัจจัย โดยเฉพาะตลาดในประเทศเองนั้นต้องยอมรับว่า ผลจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่อย่าง เอ็กซ์แพนเดอร์ และไทรทันใหม่ รวมทั้งรถโมเดลเยียร์ใหม่ ๆ ก็เข้ามาเสริมทัพ ทำให้เรามีความหลากหลาย และมีอาวุธที่ครบมือ บวกกับเครือข่ายการจำหน่ายที่แข็งแกร่ง กิจกรรมการตลาดที่ช่วยขับเคลื่อนให้เรามาถึงวันนี้ได้

ต่อยอดกลยุทธ์จากปีที่แล้ว 

 มิตซูบิชิจะเดินหน้าภายใต้กลยุทธ์แห่งความสำคัญ เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา คือ "KEY 3" ได้แก่ 1.โปรดักต์ที่มีคุณภาพ อันนี้รวมบริการหลังการขายด้วย ปีนี้มิตซูบิชิมีแผนจะเปิดตัวรถยนต์ถึง 7 รุ่น โดย 5 รุ่นจะเป็น บิ๊กไมเนอร์เชนจ์ 1 รุ่น จะเป็นโมเดลเชนจ์อีก 1 รุ่น พิเศษ เพื่อใช้เป็นอาวุธในการขายในปีนี้ 2.คือ network ซึ่งสิ้นสุดปีที่ผ่านมา เรามี 223 โชว์รูม ซึ่งต้องยอมรับว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในส่วนของโชว์รูมและศูนย์บริการของเรานั้น มีการ reengineering คือ มีทั้งเปิดโชว์รูมใหม่เพิ่ม และโชว์รูมเก่าที่ปิดลงไป ซึ่งถือเป็นธรรมดาของการดำเนินธุรกิจ อย่างในปี 2561 ที่ผ่านมา จนถึงปี 2562 นั้น เรามีโชว์รูมเปิดใหม่ 16 แห่ง และปิดไปถึง 10 แห่งแต่วันนี้จำนวนของโชว์รูมมิตซูบิชินั้น ขยับเข้าไปใกล้ค่ายที่มีโชว์รูมมากเป็นอันดับ 3 มากขึ้น และคีย์ตัวสุดท้าย คือ 3.people ซึ่งมิตซูบิชิให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร ทั้งในส่วนของบริษัทแม่ และพนักงานของตัวแทนจำหน่าย เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการดูแลลูกค้าเพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด โดยมีการพัฒนาบุคลากรจาก "เอดูเคชั่น อคาเดมี" ซึ่งเปิดไปเมื่อ มิ.ย.ของปีที่แล้ว 

2562 ปีแห่งความท้าทาย

สำหรับปีนี้เมื่อดูจากปัจจัยต่าง ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ปัจจัยต่าง ๆ ภายในประเทศ เราต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะส่งผลต่อตลาด
ส่งออก และตลาดในประเทศเอง อาจจะได้รับแรงกระทบ คือ สงครามการค้า ระหว่างอเมริกา-จีน และภาวะเบร็กซิตในยุโรป ทำให้เชื่อว่ายอดขายรถยนต์ของประเทศไทยในปี 2562 นี้ จะมีตัวเลขใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คือ ประมาณ 1.04 ล้านคัน

ผลจากปัจจัยบวกของการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจ หรือจีดีพีที่จะโต 4% การส่งออกขยายตัว 4.6% การบริโภคภาคเอกชนโต 4.2% ส่วนมิตซูบิชิเองตั้งเป้าว่าจะมียอดขาย 94,000 คัน มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มเป็น 9% Thailand is Key

วันนี้ ประเทศไทยยังเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของมิตซูบิชิ เนื่องจากปัจจุบัน มิตซูบิชิ ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกของมิตซูบิชิ มีกำลังผลิตคิดเป็น 30% จากฐานผลิตทั่วโลกของมิตซูบิชิ และมีการส่งออกไป 120 ประเทศทั่วโลก และจะเป็นฐานผลิตที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนรถยนต์อีวีในอนาคต

ฟันธงยังไงก็ปลั๊ก-อินไฮบริด

มิตซูบิชิได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนไปทางบีโอไอ ในส่วนของรถยนต์ปลั๊ก-อินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนรถยนต์ไฮบริดนั้นเราไม่ได้เข้าร่วม และเราหวังว่า 2 โครงการทั้งอีวี และปลั๊ก-อินไฮบริด (PHEV) จะได้รับการอนุมัติ รายละเอียดตอนนี้ยังไม่สามารถที่จะเปิดเผยข้อมูลได้ในมุมมองของมิตซูบิชินั้น เราเชื่อว่าปลั๊ก-อินไฮบริดใช้งานได้จริง วิ่งในระยะทางไกลกว่า เมื่อเทียบกับรถอีวี ซึ่งมิตซูบิชิตั้งใจที่จะมาสนองนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมตรงนี้ เพียงแต่ในส่วนของสิทธิประโยชน์ที่จะส่งเสริมให้รถดังกล่าวเกิดขึ้นและใช้งานได้แพร่หลายนั้น อาจจะต้องมีการส่งเสริมไปยังผู้ใช้โดยตรงด้วยหรือไม่ อย่างในบางประเทศ รถยนต์ไฟฟ้า มีการเติบโตทั้งยุโรป หรืออเมริกา มีการสนับสนุนทั้งเรื่องการลดภาษีเงินได้, การช่วยเหลือผู้บริโภค รวมทั้งความพร้อมของสถานีชาร์จไฟมีทั้งเอกชนและรัฐที่พยายามขยายสถานีต่อเนื่องแต่ก็ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ  ซึ่งในระยะเวลาอันสั้นนี้ มิตซูบิชิเชื่อว่ารถยนต์ปลั๊ก-อินไฮบริดน่าจะเป็นคำตอบที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย