ส่องเทรนด์ออกกำลังกายจีน โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย

อัปเดตล่าสุด 18 ม.ค. 2563
  • Share :
  • 943 Reads   

ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจและมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของชาวจีน ทำให้สังคมจีนยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เคยให้ความสำคัญเรื่องปากท้องเป็นหลักก็หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น คนจีนจำนวนมากจึงกลายเป็นผู้รักการออกกำลังกาย โดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และกว่างโจว นอกจากนี้ แนวโน้มการขยายตัวของผู้รักการออกกำลังกายและพฤติกรรมการจับจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจเพื่อสุขภาพและการกีฬาของไทยในจีนอีกด้วย

จากข้อมูลสถิติของกรมการกีฬาแห่งชาติจีนระบุว่า เมื่อปี 2561 มีคนจีนที่เข้าร่วมกิจกรรมการกีฬาและการออกกำลังกายมากถึง 421 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและมั่นคง อีกทั้งยังมีโอกาสขยายตัวขึ้นอีกมากในอนาคต โดยคาดว่าจะมีจำนวนคนจีนดังกล่าวสูงถึง 500 ล้านคนภายในปี 2568 ในขณะเดียวกันรายงานข้อมูลสถิติธุรกิจด้านการออกกำลังกายจาก GymSquare ประจำปี 2561 ระบุว่า ทั่วทั้งจีนแผ่นดินใหญ่มีฟิตเนสเซ็นเตอร์และฟิตเนสสตูดิโอรวมถึง 46,050 แห่ง ซึ่งธุรกิจฟิตเนสของจีนก็ยังสามารถสร้างรายได้กว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีเดียวกัน โดยคาดว่าธุรกิจทั้งหมดในสาขานี้จะสร้างมูลค่าสูงถึงประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท
 
นอกจากนี้ รายงานจากสำนักงานสังคมศึกษาในคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนก็ยังระบุว่า ขนาดตลาดการใช้จ่ายด้านการกีฬาของจีนในปี 2561 นั้น มีมูลค่าสูงเกือบ 1 ล้านล้านหยวน โดยค่าใช้จ่ายด้านการกีฬาเฉลี่ยต่อหัวจะอยู่ที่ 3,448 หยวน หรือประมาณ 15,000 บาท ซึ่งการใช้จ่ายด้านการกีฬานั้นครอบคลุมถึงการจับจ่ายซื้ออุปกรณ์การกีฬา นิตยสารการกีฬา การใช้จ่ายเพื่อเข้าชมการแข่งขัน การแสดง หรืองานแฟร์ในด้านกีฬา ตลอดจนการใช้จ่ายเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมกีฬา คอร์สออกกำลังกาย และกิจกรรมการรักษาสุขภาพ
 
พฤติกรรมการจับจ่ายดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงโอกาสของกีฬาไทยดังเช่น “มวยไทย” ซึ่งเป็นหนึ่งใน คอร์สออกกำลังกายที่ฟิตเนสหลายแห่งในจีนเริ่มนำมาเป็นจุดขายใหม่ ปัจจัยหนึ่งมาจากความชื่นชอบและสนใจมวยไทยที่มีมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากคนจีนเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะเข้ามาท่องเที่ยวชื่นชมความสวยงามของเมืองไทยแล้ว นักท่องเที่ยวจีนหลายคนก็ยังมีความต้องการดูนักมวยไทยชกกันในสนามมวยด้วย ขณะที่อีกหลายคนมีความต้องการลึกไปกว่านั้น คือ ต้องการมาสัมผัสและเรียนรู้ด้วยการสมัครเรียนมวยไทย ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ตามค่ายมวยต่าง ๆ โดยมวยไทยเป็นคอร์สออกกำลังกายที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพ และกล้ามเนื้อทุกสัดส่วนของร่างกาย ซึ่งกำลังเริ่มเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ออกกำลังกายวัยรุ่นของจีน
 
นอกจากนี้ ยังพบว่า ล่าสุดในเซี่ยงไฮ้มีฟิตเนสเซ็นเตอร์และฟิตเนสสตูดิโอที่เปิดคอร์สสอนออกกำลังกายมวยไทยรวมทั้งหมด 46 แห่ง ปักกิ่ง 41 แห่ง กว่างโจว 21 แห่ง เซินเจิ้น 20 แห่ง และเฉิงตู 23 แห่ง อย่างไรก็ตาม ฟิตเนสที่เปิดสอนมวยไทยยังคงมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนฟิตเนสทั้งหมด 46,000 แห่งทั่วจีน ทว่านับเป็นกระแสความนิยมหนึ่งที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความนิยมที่เกิดขึ้นในเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง
 
ปัจจุบัน แม้ว่ามวยไทยเริ่มมีความนิยมและมีโอกาสเติบโตในจีน แต่ก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายบางส่วน ไม่ว่าจะเป็นค่านิยม เนื่องจากมีกลุ่มคนจีนลัทธิชาตินิยมบางส่วนที่ยังปิดกั้นและไม่ยอมรับวัฒนธรรมกีฬาจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ด้วยต้นทุนการเรียนมวยไทยที่สูงทำให้เทรนเนอร์มวยไทยในจีนยังมีจำนวนไม่มาก เนื่องจากมวยไทยถือเป็นศิลปวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จำเป็นต้องเรียนรู้โดยตรงจากต้นตำรับครูมวยไทยที่ไทย ในขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดในเรื่องเทรนเนอร์ต่างชาติทำให้เทรนเนอร์คนไทยในจีนมีอัตราค่าจ้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับเทรนเนอร์ท้องถิ่น ส่งผลให้คอร์สมวยไทยนั้นมีราคาที่สูงไปด้วย ทั้งนี้ บุคคลต่างชาติที่ประสงค์จะเข้าทำงานในจีนก็ต้องขอใบอนุญาตการทำงาน (Work permit) โดยมีข้อจำกัดว่าจะต้องมีองค์กรหรือบริษัทในจีนเป็นหน่วยงานต้นสังกัดรับรองการว่าจ้าง โดยจะต้องเป็นบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่ประเทศจีนขาดแคลนและกำลังเป็นที่ต้องการเร่งด่วน มีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีพร้อมมีประสบการณ์ในสายงานวิชาชีพนั้น ๆ ไม่ต่ำกว่า 2 ปีขึ้นไป เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาหน่วยงานราชการและเอกชนทั้งในไทยและจีนก็ได้ร่วมกันส่งเสริมธุรกิจและภาพลักษณ์ของการกีฬาไทยมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดแข่งขันฟุตบอลมิตรภาพไทย-จีน การแข่งขันมวยไทยในจีน หรือการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมมวยไทยในจีน ซึ่งถือเป็นการสร้างความนิยมกีฬาไทยให้เกิดขึ้นในจีน
 
อีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการเผยแพร่ความรู้ความนิยมทางการกีฬาและขยายโอกาสเพื่อธุรกิจด้านกีฬาและสินค้าเพื่อสุขภาพของไทย คือ งานแฟร์กีฬาและสุขภาพระดับนานาชาติอย่างเช่น FIBO CHINA ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องในเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่ปี 2557 นับเป็นงานแฟร์ขนาดใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมงานจากนานาประเทศทั่วโลก โดยภายในงานมีการแบ่งพื้นที่การจัดแสดงออกเป็น 3 โซน ได้แก่ (1) FIBO EXPERT โซนเครื่องมือและอุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ฟื้นฟูสุขภาพ อุปกรณ์เครื่องใช้เกี่ยวกับสปา (2) FIBO PASSION โซนแนะนำคอร์สออกกำลังกาย รองเท้ากีฬา แฟชั่นกีฬา และผลิตภัณฑ์สปา และ (3) FIBO POWER โซนอาหารเสริมสมรรถนะร่างกาย ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ และเครื่องดื่มบำรุงกำลัง สำหรับในปีนี้ งาน FIBO CHINA 2019 ได้จัดขึ้นไปแล้วที่ศูนย์นิทรรศการแห่งชาติจีน เมื่อวันที่ 22-24 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทยและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้นำเข้าคณะเข้าร่วมจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมและความรู้เกี่ยวกับศิลปะมวยไทยนี้ด้วย โดยในปีหน้างานนิทรรศการนี้จะจัดขึ้นอีกระหว่างวันที่ 15-17 สิงหาคม 2563
 
ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นผลให้คนจีนจำนวนมากหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น พร้อมกับมีพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อการออกกำลังกายและสุขภาพเพิ่มขึ้น แนวโน้มดังกล่าวนอกจากจะสะท้อนโอกาสในธุรกิจด้านการกีฬาไทย โดยเฉพาะมวยไทยที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่ชาวจีน เนื่องจากเป็นกีฬาที่ได้ออกกำลังทุกส่วนของร่างกาย จนกลายเป็นกีฬาที่สร้างสุขภาพให้กับคนทุกเพศทุกวัย ในขณะเดียวกันแนวโน้มการส่งออกครูมวยไปสอนในต่างประเทศก็มีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมวยไทยกำลังได้รับความนิยมจากต่างชาติมาก แต่เทรนเนอร์มวยไทยในจีนยังถือว่ายังมีไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการและจำนวนฟิตเนสที่เปิดมากมายในจีน จึงถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะพิจารณานำกีฬามวยไทยไปบุกตลาดจีนที่กำลังให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายอย่างมาก นอกจากนี้ ยังบ่งชี้ถึงโอกาสให้แก่สินค้าไทยอื่น ๆ ที่มีจุดขายเรื่องสุขภาพร่างกายอีกด้วย อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพไม่ว่าจะเป็นรังนกหรือธัญพืช เครื่องดื่มเสริมกำลัง ผลิตภัณฑ์เครื่องนอนยางพารา และผลิตภัณฑ์สปาเพื่อสุขภาพ
 
ที่มาเพิ่มเติม https://bit.ly/36G4hjm


อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ www.globthailand.com