SMEs โอกาสทางธุรกิจใหม่ของผู้ผลิตหุ่นยนต์

อัปเดตล่าสุด 8 มี.ค. 2562
  • Share :
  • 668 Reads   

โดยทั่วไปแล้ว ในสายตาของผู้ผลิตหุ่นยนต์ หรือผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ มักมองว่า SME ไม่ใช่กลุ่มลูกค้าสำคัญ เนื่องจากขนาดของธุรกิจ กำลังซื้อ และความต้องการที่น้อยกว่าจากธุรกิจรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ก็มีผู้ที่มีความเห็นว่า SME นี้เอง ที่เป็นโอกาสทางธุรกิจที่อาจกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญในอนาคต

Robot Revolution & Industrial IoT Initiative องค์กรส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมจากประเทศญี่ปุ่น เล็งเห็นว่า “หุ่นยนต์ที่เหมาะกับ SME ไม่ใช่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้กันตามโรงงาน แต่เป็นหุ่นยนต์อุตสาหกรรมขนาดเล็ก หุ่นยนต์บริการ และหุ่นยนต์อเนกประสงค์ที่ทำงานได้หลายรูปแบบ”

ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า การจะพัฒนาหุ่นยนต์ให้ตอบโจทย์กลุ่ม SME ที่มีความต้องการหลายหลายเช่นนี้เป็นเรื่องยากกว่าการพัฒนาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสำหรับกระบวนการผลิตที่ตายตัว อีกทั้งธุรกิจ SME ส่วนมากมักไม่มีผู้เชี่ยวชาญหุ่นยนต์เพื่อดูแลระบบการผลิต ทำให้บริการหลังกายขาย เช่น การแนะนำวิธีซ่อมแซมหุ่นยนต์จากทางไกลไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ทำให้เกิดแนวคิดว่า “หากไม่สามารถตอบโจทย์ SME ทุกอุตสาหกรรมได้ ทำไมไม่เลือกเฉพาะบางอุตสาหกรรมแทน?”

ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ผู้ผลิตหุ่นยนต์หลายราย เลือกที่จะพัฒนาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมขนาดเล็ก เพื่อตอบสนองความต้องการที่ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์ทำอาหารจากบริษัท Connected Robotics และ หุ่นยนต์ทำเครปจาก Morirobo เพื่อตอบสนองต่ออุตสาหกรรมอาหาร, หุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำจาก Full Depth ซึ่งสามารถใช้ในการตรวจสอบกระชัง หรือคัดแยกปลา เพื่ออุตสาหกรรมการประมง, หุ่นยนต์ทำความสะอาด สำหรับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์จาก Biko, และอื่น ๆ 

และอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ คืออุตสาหกรรมการเกษตร เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานเป็นอย่างมาก ซึ่งการนำหุ่นยนต์เข้าใช้ จะช่วยลดความต้องการแรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้เป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นเหตุให้บริษัท inaho พัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรขึ้นมา ด้วยการนำเสนอบริการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยหุ่นยนต์ ซึ่งผู้ใช้ สามารถเรียกใช้หุ่นยนต์ในการช่วยเก็บเกี่ยวผลผลิต แทนที่การซื้อหุ่นยนต์เป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการเกษตรจะตัดสินใจเช่นนั้น นอกจากนี้ ระหว่างเก็บเกี่ยว หุ่นยนต์ยังรวบรวมข้อมูล เช่น สภาพผลผลิต ปริมาณของเสียจากการผลิต และอื่น ๆ ได้อีกด้วย ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นการทำธุรกิจหุ่นยนต์ ในรูปแบบของ RaaS (Robot as a Service) นั่นเอง

ซึ่งจากแนวทางเหล่านี้แล้ว พบว่า การขายหุ่นยนต์ในฐานะสินค้า และบริการให้กับ SME นั้นไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่เคยคาดการณ์ และมีสิ่งสำคัญคือ ต้องเข้าใจความต้องการของ SME ให้ได้ก่อนนั่นเอง